×

ถึงเวลาธนาคารต้อง ‘ใส่ใจ’ ความเป็นธรรม Fair Finance Thailand ประกาศผล ‘ธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปี 3’ เครื่องมือชี้วัดและกระตุ้นเตือนภาคธนาคาร

โดย THE STANDARD TEAM
17.02.2021
  • LOADING...
Fair Finance Thailand

HIGHLIGHTS

  • แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ประกาศผล ‘ธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3’ การประเมินผลความเป็นธรรมของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยตามแนวทาง Fair Finance Guide International  
  • ธนาคารทีเอ็มบียังคงครองแชมป์ หลายดัชนีชี้วัดเป็นธนาคารเดียวในไทยที่ประกาศนโยบายสินเชื่อ (Credit Policy) และรายการสินเชื่อต้องห้าม (Exclusion List) ที่ชัดเจนและตรงต่อประเด็นกังวลของภาคประชาสังคมโลก 
  • ค่าเฉลี่ยในการประเมินปีนี้คิดเป็น 19.4% ซึ่งมีธนาคาร 5 แห่งที่ได้คะแนนสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย

ที่ผ่านมาผู้บริโภคอาจไม่เคยตั้งคำถามว่า เมื่อเรานำเงินไปฝากธนาคาร เงินเหล่านั้นถูกนำไปทำอะไร หรือลงทุนสนับสนุนในโครงการหรือธุรกิจอะไรบ้าง แล้วผู้บริโภคจะรู้ได้อย่างไร? สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ชวน THE STANDARD ถกถามถึงจุดเริ่มต้นของคำถามข้างต้น ที่นำไปสู่การก่อตั้ง Fair Finance Thailand เมื่อปี 2561 จากความร่วมมือกันระหว่าง 5 องค์กร คือ บริษัท ป่าสาละ จำกัด รับผิดชอบงานด้านวิจัย และองค์กร NGO ที่เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อีก 4 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และ International Rivers 

 

Fair Finance Thailand

สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) 


ทำไมการประกาศผลคะแนนความเป็นธรรมของธนาคารพาณิชย์ แนวคิดในการผลักดันบทบาทของธนาคาร ไปจนถึงแนวโน้มบทบาทของธนาคารเพื่อก้าวข้ามวิกฤตสู่ความยั่งยืน จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคอย่างเราควรต้องรู้ 


สฤณีเล่าว่า Fair Finance ริเริ่มเมื่อปี 2552 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ นำโดยองค์กร Oxford Committee for Famine Relief (OXFAM) ออกแนวปฏิบัติ Fair Finance Guide กำหนดให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสิทธิมนุษยชน ผ่านเครื่องมือ Fair Finance Guide International เป็นกระบวนการประเมินนโยบายที่เปิดเผยของสถาบันการเงิน นโยบายสถาบันการเงินเปิดเผย แต่ละปีจะใช้เครื่องมือนี้ประเมินสิ่งที่ธนาคารเปิดเผยแล้วนำไปประมวลเป็นตัวเลขดัชนี และมีการเปรียบเทียบระหว่างสถาบัน โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้คนในประเทศและ NGO ตื่นตัว ภายใต้เกณฑ์ชี้วัดที่ครอบคลุมความสนใจของประชาคมโลก ปัจจุบันมีทั้งหมด 12 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย นำดัชนีนี้มาใช้ชี้วัดการทำงานที่รับผิดชอบสังคมของธนาคาร 

 

Fair Finance Thailand ได้มีการประกาศผล ‘ธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3’ แล้ว โดยใช้ ‘ดัชนี’ เป็น ‘เครื่องมือ’ สำหรับผู้บริโภคและภาคประชาสังคมมาประเมินธนาคารว่าทำได้ดีแค่ไหน และต่อรองว่าธนาคารควรเปลี่ยนแปลงอย่างไรเพื่อความยั่งยืน “สถาบันการเงินในฐานะเป็นตัวกลาง รวบรวมเงินฝากและนำไปปล่อยให้คนที่ทำธุรกิจ หากธนาคารเลือกปฏิบัติกับลูกค้า ลงทุนกับโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการบริหารธุรกิจ ส่งผลเสียไปถึงผลกำไรและชื่อเสียง ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อคนจำนวนมาก รวมทั้งเราและเงินฝากของเรา ในฐานะที่เราฝากเงินกับธนาคาร การให้ความสนใจจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อคอยช่วยกันระแวดระวัง ผลักดันให้ธนาคารทำงานด้วยความจริงใจ รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนระยะยาว”

 

การประเมินผลธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3 Fair Finance Thailand ได้นำเกณฑ์ประเมิน Fair Finance Guide Methodology ฉบับปรับปรุง ค.ศ. 2020 มาใช้ในการประเมินนโยบายด้านต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ไทย ที่เปิดเผยสู่สาธารณะ 8 แห่ง “เครื่องมือตัวนี้จะครอบคลุม 13 หมวดตัวชี้วัด รวมกันเกิน 200 ตัว ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. การทุจริตคอร์รัปชัน 3. ความเท่าเทียมทางเพศ 4. สิทธิมนุษยชน 5. สิทธิแรงงาน 6. ธรรมชาติ 7. ภาษี 8. อาวุธ 9. การคุ้มครองผู้บริโภค 10. การขยายบริการทางการเงิน 11. การตอบแทน 12. ความโปร่งใสและความรับผิด และในปีนี้ได้เพิ่มหมวดใหม่คือ ‘สุขภาพ’ 

 

Fair Finance Thailand

หน้าที่หลักของ Fair Finance Thailand คือการผลิตรายงานการประเมินรายปี 


“วิธีการของเราเป็นกระบวนการที่รับฟังธนาคารค่อนข้างมาก คณะวิจัยจะรอจนถึงเดือนกรกฎาคม เพราะเป็นเดือนหลังจากที่ธนาคารทุกแห่งประกาศออกรายงานความยั่งยืนประจำปี จากนั้นเราจะใช้เวลาศึกษาตั้งแต่สิงหาคมถึงตุลาคม โดยนำข้อมูลที่แต่ละธนาคารประกาศและข่าวที่ปรากฏในเว็บไซต์ของธนาคารมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ใน 13 หมวด แล้วจึงทำร่างคะแนน เพื่อให้แต่ละธนาคารดูว่าแต่ละหมวด แต่ละหัวข้อ เราให้หรือไม่ให้คะแนนเพราะอะไร มีการใส่ที่มาที่ไปให้เห็นชัดเจน และเราก็เปิดรับฟังความคิดเห็น ธนาคารสามารถโต้แย้งพร้อมยืนหลักฐานได้ว่าทำไมเขาควรจะได้คะแนน หรือบางธนาคารจริงๆ เขาทำแล้วแต่ยังไม่ได้เผยแพร่ขึ้นเว็บไซต์ เราก็บอกให้เขาประกาศเลย เราจะได้ให้คะแนน 

 

“ในการประเมินเราพบประเด็นที่เริ่มให้ความสำคัญในประเทศไทยคือ การคุ้มครองผู้บริโภค ในเรื่องของการขยายบริการทางการเงิน ก็ดูว่าธนาคารมีผลิตภัณฑ์หรือมีบริการที่เอื้อให้คนที่อยู่นอกระบบเข้ามาใช้บริการธนาคารมากขึ้นหรือไม่ เพราะตอนนี้คนเริ่มตื่นตัวปัญหาหนี้นอกระบบ ช่วงโควิด-19 ก็พบปัญหา SMEs เข้าไม่ถึงธนาคาร หรือเกณฑ์ที่มองไปถึงประเด็นที่คาดหวังให้ธนาคารมีการบริหารจัดการภายในธนาคาร เช่น ผลตอบแทนผู้บริหารก็ไม่ควรผูกไว้กับเป้าหมายที่เป็นตัวเงิน หากโครงสร้างค่าตอบแทนของผู้บริหารยังมองแค่เป้าหมายทางธุรกิจระยะสั้น ก็อาจจะไม่เอื้อให้ธนาคารจริงใจลงมือผลักดันนโยบายด้านความยั่งยืน เราจึงต้องตามดูนโยบายค่าตอบแทนว่าได้ใส่เกณฑ์ที่ไม่ใช่เกณฑ์ทางธุรกิจเข้าไปในการจ่ายโบนัสของกรรมการและผู้บริหารหรือไม่ พบว่ามีบางธนาคารเริ่มทำแล้ว โดยนำความพึงพอใจของลูกค้า ความพึงพอใจของพนักงาน หรือผลประกอบการด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการจ่ายเงินโบนัส  

 

“อีกหมวดที่น่าสนใจคือ ความโปร่งใส หากธนาคารไม่เปิดนโยบายต่อสาธารณะ ไม่จัดทำรายงานความยั่งยืน ก็ยากที่จะสร้างความน่าเชื่อถือ รวมไปถึงประเด็นกลไกการต่อต้านคอร์รัปชัน และประเด็นเรื่องของภาษี เราก็ไม่อยากเห็นธนาคารไปสนับสนุนกิจการหนีภาษี” 

 

Fair Finance Thailand


สำหรับคะแนนในปี 2563 พบว่า มีทั้งธนาคารที่ได้คะแนนสูงขึ้นเกือบเท่าตัว ธนาคารที่ได้คะแนนไม่ต่างจากเดิม และธนาคารที่ได้คะแนนน้อยลง โดยผลประเมินธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3 ทั้ง 12 ธนาคาร เรียงตามลำดับ ได้แก่ ธนาคารทหารไทย 38.9%, ธนาคารกรุงไทย 22.4%, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 22.1%, ธนาคารกรุงเทพ 21.8%, ธนาคารไทยพาณิชย์ 21.1%, ธนาคารกสิกรไทย 20.6%, ธนาคากรุงศรีอยุธยา 16.9%, ธนาคารเกียรตินาคิน 16.1%, ธนาคารทิสโก้ 15.9%, ธนาคารออมสิน 15.4%, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 11.1% และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 8.3% โดยค่าเฉลี่ยในการประเมินคิดเป็น 19.4% ซึ่งมีธนาคาร 5 แห่งที่ได้คะแนนสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 

 

“ปีนี้ธนาคารทหารไทยได้คะแนนค่อนข้างมากจากการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านการประกาศนโยบายสินเชื่อ (Credit Policy) และรายการสินเชื่อต้องห้าม (Exclusion List) ที่ชัดเจนและตรงต่อประเด็นกังวลของภาคประชาสังคมโลก เช่น การมีรายการสินเชื่อต้องห้าม รวมการค้าไม้จากป่าดิบชื้นปฐมภูมิ (Primary Tropical Moist Forest), โรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองถ่านหิน, จำกัดสินเชื่ออุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไม่เกิน 10% ของสินเชื่อธุรกิจ แต่ประเด็นนโยบายสินเชื่อเราก็เข้าใจว่าการจะให้ธนาคารออกมาประกาศว่าต่อไปนี้เราจะไม่ปล่อยสินเชื่อถ่านหินหรือจะไม่สนับสนุนสินเชื่อก๊าซธรรมชาติเป็นเรื่องที่ต้องคิดกันเยอะ ถ้าดูจากต่างประเทศไม่มีธนาคารไหนที่สามารถประกาศได้ภายในวันเดียว ยิ่งธนาคารที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับลูกค้าเหล่านี้มายาวนาน 


“เราพบข้อมูลที่น่าสนใจด้วยว่า ธนาคารท็อป 5 ในปีนี้ เนื่องจากเขามีการฟีดแบ็กกลับมาในหลายประเด็น ทำให้คะแนนเพิ่มสูงขึ้น เช่น หมวดความเท่าเทียมทางเพศ ธนาคารจะได้คะแนนถ้าหากธนาคารประกาศว่าจะสร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนในระดับของคณะผู้บริหารไม่น้อยกว่า 40% และต้องประกาศเป็นนโยบายให้ชัดเจน การประกาศเป็นนโยบายว่าจะไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับล็อบบี้ยิสต์ สิ่งนี้แสดงได้เห็นถึงความตื่นตัว ธนาคารแข่งขันกันจัดทำและเปิดเผยนโยบายต่อสาธารณะ อย่างธนาคารอันดับสองคือกรุงไทย กระโดดจากปีที่แล้วได้ที่ 7 มันเป็นบรรยากาศการแข่งขันที่ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ เรายังเห็นว่าธนาคารเริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน มีธนาคาร 5 แห่งที่ประกาศนำเอาหลักการชี้แนะของสหประชาชาติมาใช้ในการทำงาน ส่วนธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบางแห่งเริ่มมีนโยบายด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน รวมถึงธนาคารแต่ละแห่งต่างพัฒนาการด้านการขยายบริการทางการเงินและการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง” 

 

4 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเข้าร่วมประเมินธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนนเป็นปีแรก
“จากการหารือให้แนวร่วมเรามองว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเองก็มีบทบาทหน้าที่คล้ายคลึงกับธนาคารพาณิชย์ในการรวบรวมเงินฝากและปล่อยสินเชื่อจำนวนมหาศาล ต่างกันที่การดำเนินงานจะมุ่งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจตาม ‘นโยบายของรัฐ’ ซึ่งหมายความว่ามีผลกระทบกับประชาชนอย่างเราแน่นอน จึงเลือก 4 ธนาคารที่มีความสำคัญกับคนไทย ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) โดยรวมเราพบว่า ผลประเมินที่ออกมาก็ดี มีนโยบายใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ ถ้าเทียบว่าเป็นปีแรกที่ร่วมประเมิน”  

 

หมวดสุขภาพ เครื่องมือสากลดูแลสุขภาพพนักงาน ลูกค้า และคนในชุมชน
“เกณฑ์ของปี 2020 ไม่ได้มีเพิ่มแค่หมวดสุขภาพ เพียงแต่เราเลือกมาเพราะอยากจะให้ธนาคารไปกำหนดให้ลูกค้าธุรกิจใช้หลักการสากลในการดูแลสุขภาพของพนักงาน ลูกค้า และคนในชุมชน เช่น ธนาคารไม่ควรสนับสนุนให้ธุรกิจใช้สารเคมีที่อยู่ในบัญชีสารอันตราย และในประเทศไทยเรื่องสุขภาพก็ทันต่อเหตุการณ์พอดี ตอนนี้เราแตกตื่นกับปัญหาอย่าง PM2.5 รวมถึงปัญหาขยะ ปัญหามลพิษ และเรื่องของโควิด-19 การเติมหมวดสุขภาพก็จะทำให้เห็นภาพชัดมากขึ้น หากดูลึกไปที่เนื้อในก็น่าสนใจ ในประเทศไทยเองเวลาคุยกันเรื่องนี้เราก็กลับไปตั้งต้นที่กฎหมาย บางคนก็จะบอกว่าเรามีกฎหมายสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่มันก็ช่วยเราเรื่อง PM2.5 ไม่ได้ ช่วยเรื่องขยะไม่ได้ นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่เราจะได้ตื่นตัว และในระดับสากลมันมีชุดหลักการ มีเครื่องมือ มีมาตรฐานหลายตัวที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพที่เรานำมาใช้ได้ ปีนี้เราพบธนาคารทหารไทยเพียงแห่งเดียวที่มีนโยบายกำหนดให้ลูกค้าธุรกิจต้องใช้หลักความรอบคอบ จะลงทุนหรือสร้างอะไรจะต้องดูแลไม่ให้กระทบกับผู้อื่น ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน”  

 

ขยายบริการทางการเงิน คะแนนที่โดดเด่นในทุกธนาคาร
“ตั้งแต่ปีแรกหมวดที่ธนาคารในประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดีคือหมวดของกลไกต่อต้านคอร์รัปชัน การคุ้มครองผู้บริโภค และหมวดของการขยายบริการทางการเงิน ซึ่งตอนที่เริ่มทำ Fair Finance เมืองไทยก็ตื่นตัวเรื่อง Digital Banking อยู่แล้ว ก็เป็นจังหวะของการนำข้อดีเหล่านี้ ทำให้คนได้เข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น จะเห็นว่าหลายธนาคารตั้งใจออกแบบบริการที่เอื้อให้ผู้พิการได้เข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น เช่น ออกแบบแอปฯ ที่คนตาบอดใช้ได้ หรือแอปฯ ที่ทำให้เจ้าของร้านอาหารรายย่อยให้เข้าถึงบริการ ฉะนั้นกระแสของ Digital Banking มันเอื้อต่อการขยายบริการ แต่สิ่งที่ไม่อยากลืมคือบริการพื้นฐานเพื่อรองรับคนที่ยังเข้าไม่ถึงดิจิทัล ถ้าดูจากเกณฑ์ของ Fair Finance เราก็ยังมีเกณฑ์พื้นฐาน เช่น คะแนนที่ให้กับธนาคารที่ให้บริการ Basic Account เปิดบัญชีโดยไม่มีค่าแรกเข้า ก็ยังไม่ใช่ธนาคารทุกแห่งที่ทำได้” 

 

หมวดธรรมชาติ หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หมวดสิทธิมนุษยชน และหมวดสิทธิแรงงาน ประเด็นใกล้ตัวที่ธนาคารต้องเร่งทำคะแนน
“ประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แม้กระทั่งวิกฤตโควิด-19 นักวิทยาศาสตร์ก็ออกมาเตือนว่า หากเรายังไม่สนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องสิ่งแวดล้อม ทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากขึ้น เราก็เสี่ยงที่จะเจอวิกฤตเหมือนโควิด-19 เพราะสัตว์ป่าก็จะมาอยู่ใกล้มนุษย์มากขึ้น สุดท้ายมันก็เชื่อมโยงกันหมด ถึงจุดที่ธนาคารในประเทศไทยต้องมองบทบาทตัวเองในมุมที่ไกลขึ้น 

 

“แต่แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นที่ดีคือเรื่องของนโยบายสินเชื่อ เพราะบทบาทหลักของธนาคารคือผลักดันให้บริการทางการเงิน ในแง่ดีเราเริ่มเห็นจากธนาคารทหารไทยที่เขียนนโยบายสินเชื่อที่ค่อนข้างชัด โดยเฉพาะในลิสต์รายการสินเชื่อต้องห้าม ก็สอดคล้องกับความคาดหวังของประชาคมโลกว่าอยากจะให้ธนาคารถอยห่างจากธุรกิจอะไรบ้าง และในหลายๆ ธนาคารก็เริ่มตื่นตัวและทำกันอยู่ เพียงแต่ว่ามันจะออกมาเป็นนโยบายต่อสาธารณะได้มากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าในปีต่อๆ ไป คะแนนในหมวดเหล่านี้ก็น่าจะเพิ่มขึ้น” 

 

นโยบายจะเป็นแค่รายงานหรือไม่ การติดตามและตรวจสอบซ้ำทำอย่างไร

“นี่เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันตั้งแต่มีการตั้ง Fair Finance บางฝ่ายมองว่าหากดูแต่นโยบายมันก็แค่รายงาน แต่อีกฝั่งก็บอกว่า ถ้าเราไม่เริ่มต้นที่นโยบายและรอดูว่าเขาทำหรือยัง ก็คงใช้เวลานานกว่าจะหาบทสรุปได้ สุดท้ายแล้วการที่ออกมาเป็นเครื่องมือประเมินระดับนโยบายก็เป็นจุดที่ภาคประชาสังคมทำเองได้ สามารถเปรียบเทียบข้ามธนาคารได้ Fair Finance จึงให้แต่ละประเทศใช้ Case Study มาเป็นตัวกำกับ เราเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ Fair Finance Thailand จะเห็นคะแนนรวมของแต่ละธนาคาร บางหัวข้อของบางธนาคารจะขึ้นเครื่องหมายตกใจ เมื่อคลิกเข้าไปจะพบข้อมูลจากการทำ Case Study แปลว่าธนาคารอาจจะยังไม่ได้ทำตามนโยบายที่ตัวเองประกาศ มันก็ย้อนกลับมาที่เป้าหมายหลักของ Fair Finance Thailand ที่ต้องการเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สะท้อนให้เห็นว่านโยบายที่ธนาคารตั้งใจจะปฏิบัติมีช่องว่างอะไรที่ธนาคารอาจจะมองข้ามหรือมองไม่เห็น”

 

เกณฑ์ Fair Finance Guide International เครื่องมือสะท้อนประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนภาคประชาคมโลก
“เราอยากให้ธนาคารมองเครื่องมือนี้เป็น Management Tool ที่มีประโยชน์ในการบริหารจัดการ ถ้าธนาคารไล่ดูในแต่ละหมวด ซึ่งโครงสร้างคะแนนในแต่ละหมวดจะไล่ตั้งแต่ข้อที่ทำได้ง่ายไปจนถึงข้อยากๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อที่ง่ายคือดูว่าธนาคารประกาศเป้าว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกหรือไม่ แต่ต้องประกาศในระดับที่เกิดผลลัพธ์หรือประมาณ 20% เพราะเป็นตัวเลขที่รัฐบาลไทยไปประกาศตามข้อตกลงปารีสว่าประเทศไทยจะลดก๊าซเรือนกระจก 20% ภายในปี 2030 ส่วนข้อที่ยาก เช่น ธนาคารประกาศว่าธุรกิจเหมืองถ่านหินเป็นสิ่งต้องห้าม หรือจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจน้ำมันและก๊าซ เราก็เชื่อว่าถ้าธนาคารมาไล่ดูเกณฑ์การให้คะแนน ก็เป็นตัวช่วยให้เห็นภาพว่าตอนนี้ประชาสังคมโลก เขาคาดหวังอะไรบ้างจากธนาคาร แล้วนำเกณฑ์เหล่านี้มาวางแผนการทำงานของธนาคารได้” 

 

นโยบายความยั่งยืนของแต่ละธนาคารจะพาสังคมไทยออกจากวิกฤตไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร สรุปประเด็นสำคัญจากงานสัมมนาออนไลน์
นอกจากการการประกาศผลธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3 ทาง Fair Finance Thailand ยังได้จัดงานสัมมนาออนไลน์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 เพื่อระดมความคิดร่วมกันพูดคุยในประเด็น ‘นโยบายความยั่งยืนของแต่ละธนาคารจะพาสังคมไทยออกจากวิกฤตไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร’ โดยตัวแทนจาก 2 ธนาคารพาณิชย์ที่ได้คะแนนสูงสุด ได้แก่ นริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้ากลยุทธ์องค์กร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และ กฤษณ์ ฉมาภิสิษฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

ประเด็นความยั่งยืนในมิติของ นริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้ากลยุทธ์องค์กร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงจุดเน้นสำคัญในยุทธศาสตร์เพื่อความยั่งยืนของธนาคารจากวันนี้ไปอีก 3 ปีข้างหน้าว่า “การควบรวมระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาติเชื่อว่า จะสร้างผลประโยชนทางการเงินที่ดีและนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น และด้วยสเกลที่ใหญ่ขึ้นยิ่งเพิ่มขีดความสามารถในการผลักดันได้มากกว่า โดยเน้นไปยังหน้าที่ของธนาคารคือการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าใน 4 ด้าน คือ Mindful Spending & Saving, Healthy Borrowing, Smart Investment และ Appropriate Protection เนื่องจากธนาคารมีความสำคัญไม่ใช่แค่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า แต่เป็นการทำให้สุขภาพทางการเงินของประชาชนดีขึ้น เป้าหมายของธนาคารคือตอบชีวิตทางการเงินที่ดีของลูกค้า ซึ่งในตอนนี้ประชาชนเองก็ได้มีปัญหาเรื่องของหนี้ครัวเรือน และผลกระทบจากโควิด-19 ทางธนาคารจึงต้องเตรียมความพร้อมให้ผู้บริโภค ซึ่งธนาคารเองได้มีการปรับตัวให้เหมาะสม ไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า แต่ต้องไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศ อีกทั้งยังนำเอานโยบาย Environmental and Social Responsibility มาช่วยขับเคลื่อนในเรื่องการปล่อยสินเชื่อที่ดี (Responsible Lending) จัดทำรายการธุรกิจที่ไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน (Exclusion List) โดยมี 27 รายการธุรกิจที่ถูกแบนด้วยเหตุผลด้านการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม และ 5 ธุรกิจที่ต้องพิจารณาอย่างเข้มงวด” 

 

ด้าน กฤษณ์ ฉมาภิสิษฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ธนาคารกรุงไทยปรับตัวโดยเน้นเรื่องการนำเสนอบริการทางการเงินทั้งระบบปิดและระบบเปิด อาทิ Krungthai NEXT นำเทคโนโลยีมาช่วยด้านการเงิน เพื่อความมั่นใจให้ประชาชน และให้ความรู้ในการใช้งาน สำหรับช่วงโควิด-19 ธนาคารเองได้มีบทบาทในการขยายบริการ เชื่อมความช่วยเหลือระหว่างรัฐและประชาชน อีกทั้งยังได้นำเทคโนโลยีทางการเงินเรื่องของการระดมทุนมาใช้นำความความช่วยเหลือเข้าไปในชุมชน และยังได้พัฒนาการทำ Digital Lending เพื่อเป็นอีกทางในการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นสนับสนุนการเข้าถึง Digital Platform ลดความเหลื่อมล้ำพร้อมผลักดัน Cashless Society ให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันระบบเปิดที่ให้บริการทั้งลูกค้าธนาคารและที่ไม่ใช่ลูกค้าธนาคาร อาทิ กยศ. บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึง โครงการต่างๆ ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น ชิมช้อปใช้, แอปฯ ถุงเงิน, โครงการเราไม่ทิ้งกัน, เราเที่ยวด้วยกัน และคนละครึ่ง เป็นต้น” 

 

อีกทั้งยังร่วมพูดคุยกับ นฤมล เมฆบริสุทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้พูดถึงวิกฤตหนี้ครัวเรือนหลังโควิด-19 และความท้ายทายของธนาคารในการคุ้มครองผู้บริโภคว่า “จากวิกฤตที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคในปัญหาเรื่องหนี้จำนวนมาก ทางมูลนิธิได้รวบรวมปัญหาและต้องการทำข้อเสนอถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ปัญหาที่พบ ได้แก่ ผิดนัดชำระหนี้ การฟ้องคดี การถูกทวงถามหนี้ผิดกฎหมาย การไม่ส่งมอบสัญญาคู่ฉบับ และสัญญาไม่ระบุรายละเอียดของดอกเบี้ย การกู้เงินผ่านแอปฯ คิดดอกเบี้ยผิดกฎหมาย และดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมแพง จึงขอให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ออกมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงธันวาคม 2564 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการจัดการกับธุรกิจการปล่อยสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันที่ผิดกฎหมาย และกำหนดหลักเกณฑ์ในการช่วยหลือลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้โดยไม่ต้องรอให้เป็นลูกหนี้ NPL” 

 

ในขณะที่บทบาทของธนาคารต่อปัญหา PM2.5 และปัญหาขยะล้นประเทศ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้เสนอต่อธนาคารพาณิชย์ว่า “ให้มีการพิจารณาการให้สินเชื่อพิเศษ/เงื่อนไขประกอบการให้สินเชื่อ แก่กิจการอุตสาหกรรมที่มีนโยบายลดการปล่อยมลพิษอากาศ เช่น ผู้ประกอบการที่ติดตั้งอุปกรณ์การควบคุมและระบบการลดการปล่อยมลพิษอากาศ เช่น ฝุ่นขนาดเล็ก สารมลพิษ/สารก่อมะเร็ง ผู้ลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการกำจัด บำบัด และรีไซเคิลของเสีย และมาตรการควบคุมมลพิษ/การจัดการสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการที่สนใจติดตั้งอุปกรณ์เพื่อลดการใช้พลังาน และลงทุนก่อสร้างอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน กิจการที่ส่งเสริมความปลอดภัยของคนงานในสถานประกอบการฯ และมีนโยบายติดตามผลการดำเนินงานจากการให้สินเชื่อเกี่ยวกับการดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

 

ท้ายที่สุดแล้วความคาดหวังจากการประเมินผลคะแนนความเป็นธรรมของธนาคารพาณิชย์และประเด็นที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ ในทัศนะของสฤณี หวังเพียงอยากเห็นความก้าวหน้าในแต่ละปีและได้เป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยให้ธนาคารตื่นตัวเรื่องความยั่งยืนในลักษณะที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น 

 

“พอมองภาพรวมจากหลายๆ ประเทศ ธนาคารที่ให้ความสำคัญเขาก็ใช้ผลของ Fair Finance เป็นปัจจัยหนึ่งในการปรับเปลี่ยนนโยบายเป็นไปในทิศทางที่ยั่งยืนมากขึ้น มองกลับมาที่บ้านเรา หากดูคะแนนเฉลี่ยที่ผ่านมาก็จะเห็นว่ามันเพิ่มทุกปี ซึ่งปีนี้ยังมีการปรับเกณฑ์บางหมวดที่เข้มขึ้น บางธนาคารจึงได้คะแนนน้อยลง แต่ก็นำไปซึ่งบรรยากาศการแข่งขันในทางที่ดีเป็นปัจจัยใหญ่ ทำให้ทุกธนาคารตื่นตัวไปกับประเด็นที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญ ก็หวังว่าจากนี้ไปจะเห็นบทบาทของธนาคารที่ชัดเจนขึ้นที่จะนำพาคนไทยให้ก้าวข้ามวิกฤตสู่ความยั่งยืน”

 

รับชมงานสัมมนาย้อนหลังได้ที่เฟซบุ๊ก: Fair Finance Thailand 

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising