วันนี้ (14 สิงหาคม) คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 23 คน ได้ออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุม โดยมีรายละเอียดระบุว่า
สังคมไทยได้พัฒนาเป็นสังคมการเมืองพหุนิยมที่มีการแข่งขันกันในทางความคิดเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมในแนวทางที่แต่ละฝ่ายต้องการอยู่เสมอ การต่อสู้กันในทางความคิดระหว่างกลุ่มที่ต้องการนำสังคมไปตามฐานคติเสรีประชาธิปไตย และกลุ่มที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับจารีตในทางสังคม วัฒนธรรมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้มีแนวโน้มที่จะพัฒนากลายเป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรง
คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ดังมีรายนามท้ายแถลงการณ์นี้เห็นว่า ทุกภาคส่วนของสังคมไทยควรพยายามอย่างถึงที่สุดในการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และร่วมกันหาทางออกสำหรับปัญหาความแตกต่างและความขัดแย้งทางความคิด และร่วมกันป้องกันการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาในทุกรูปแบบ
คณาจารย์คณะนิติศาสตร์เห็นว่า ในสังคมการเมืองเสรีประชาธิปไตย ทุกภาคส่วนของสังคมมีหน้าที่ต้องยืนยันและยอมรับว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธและการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีภายใต้กรอบของกฎหมายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม หรือการแสดงความคิดเห็นนั้นก็ตาม ทั้งนี้เพราะการยืนยันร่วมกันในลักษณะดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่ยังเป็นการสร้าง ‘ฉันทามติพื้นฐาน’ หรือ ‘คุณค่าพื้นฐาน’ ร่วมกันของสังคมว่าจะดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายในทางความคิดและอุดมการณ์ได้อย่างสันติ ด้วยเหตุนี้องค์กรที่ใช้อำนาจรัฐทั้งหลายจึงมีหน้าที่ที่จะต้องให้หลักประกันแก่ประชาชนว่าจะสามารถใช้สิทธิขั้นพื้นฐานได้อย่างอิสระและปลอดภัย ตลอดจนจะต้องงดเว้นไม่ใช้มาตรการทางกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการขัดขวางหรือตอบโต้การใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าว
คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ยังมีความเห็นอีกด้วยว่า ในสังคมการเมืองพหุนิยมซึ่งมีความคิดและอุดมการณ์แตกต่างหลากหลาย ทุกภาคส่วนของสังคมควรยอมรับว่าไม่มีคุณค่าใดเป็นคุณค่าสูงสุดเด็ดขาด แต่ควรเปิดโอกาสให้คุณค่าทั้งหลายที่ขัดแย้งกันอยู่นั้นได้มี ‘พื้นที่ในสังคมการเมือง’ และมีโอกาสในการพัฒนาตนเองหรือพัฒนาการอุดมการณ์แห่งคุณค่านั้นด้วย แม้ว่าการเคลื่อนไหวหรือการแสดงออกของผู้ชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบของกฎหมาย แต่ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้การใช้สิทธิเสรีภาพนั้นบั่นทอนคุณค่าที่คนกลุ่มอื่นของสังคมยึดถือจนพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง การประสานคุณค่าและความต้องการที่แตกต่างหลากหลายจะเป็นหลักประกันของการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมเสรีประชาธิปไตย และช่วยเปิดทางสู่การมีพื้นที่ร่วมเพื่อพัฒนาสังคมไปในทางที่ดีขึ้นดังที่ผู้ใช้สิทธิเสรีภาพพึงประสงค์
- รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน
- รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์
- อ.เมษปิติ พูลสวัสดิ์
- อ.อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ
- อ.เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม
- รศ.ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์
- อ.ปวีร์ เจนวีระนนท์
- อ.ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล
- ผศ.ดร.นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์
- อ.มาติกา วินิจสร
- อ.อภินพ อติพิบูลย์สิน
- รศ.ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์
- ศ.ดร.สุเมธ ศิริคุณโชติ
- ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง
- รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร
- ผศ.ดร.ตามพงศ์ ชอบอิสระ
- อ.ปทิตตา ไชยปาน
- อ.ปรีญาภรณ์ อุบลสวัสดิ์
- ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต
- อ.เอื้อการย์ โสภาคดิษฐพงษ์
- อ.กรกนก บัววิเชียร
- อ.พัชราภรณ์ ตฤณวุฒิพงษ์
- อ.ภัทรพงษ์ แสงไกร
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า