นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทของรัฐบาล อาจเป็นค่าจ้างในฝันของแรงงาน รวมถึงรัฐบาลที่อยากผลักดันนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นอาจจะไม่ง่าย เพราะบทเรียนจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทอย่างก้าวกระโดดในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างค่าจ้างในแต่ละพื้นที่ได้ และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานส่วนใหญ่
แต่ผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คือนัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจที่ไม่เข้มแข็งมากพอทยอยปิดกิจการ หรือลดการจ้างงานแรงงานที่มีทักษะต่ำ หรืออาจผลักภาระไปยังผู้บริโภคโดยปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้น
ขณะเดียวกันการจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ 400 บาทนั้นจะต้องให้ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดไตรภาคีซึ่งมีทั้งหมด 15 คน ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายภาครัฐ ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง เข้าประชุม
โดยจะต้องมีกรรมการฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างอย่างน้อยฝ่ายละ 2 คน และจะต้องได้คะแนนเห็นชอบ 2 ใน 3 (10 เสียง) เพื่อปรับขึ้นค่าแรง หรือหากฝ่ายใดมาไม่ครบแต่มีเสียงครบ 2 ใน 3 และทั้งหมดเห็นตรงกันก็สามารถปรับขึ้นค่าแรงได้ทันที
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การประชุมบอร์ดไตรภาคีล่มไปถึง 3 ครั้งเนื่องจากองค์ประชุมไม่ถึง 10 คน และมีแนวโน้มเลื่อนการประชุมอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากคณะกรรมการฝ่ายภาครัฐและฝ่ายลูกจ้างมาไม่ครบองค์ประชุม บางคนป่วย บางคนติดภารกิจ ขณะที่ตัวแทนภาครัฐมีทั้งคนที่กำลังจะเกษียณ อาทิ ปลัดกระทรวงแรงงานที่ทำหน้าที่ประธานบอร์ดไตรภาคี
ส่วนปัญหาเรื่อง เมธี สุภาพงษ์ ตัวแทนภาครัฐจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เกษียณไปแล้ว และ ธปท. แจ้งว่าขาดคุณสมบัติการเป็นตัวแทนนั้น คงต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเมธียังคงมีอำนาจในฐานะตัวแทนอยู่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาแม้กรรมการค่าจ้างจะเกษียณอายุก็ยังดำรงตำแหน่งอยู่
นอกจากนี้ มาตรา 80 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หมวด 6 คณะกรรมการค่าจ้างระบุว่า กรรมการค่าจ้างมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี หากพ้นจากตำแหน่งตามวาระแต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้แต่งตั้งกรรมการใหม่เข้ามารับหน้าที่
หากยังไม่ครบองค์ประชุม และยังไม่มีบุคคลเข้ามาทำหน้าที่แทนผู้ที่เกษียณ สามารถฟันธงได้แน่นอนแล้วว่าวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะยังไม่สามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทได้
ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล