รายงานวิจัย HSBC Global Connections ของธนาคารเอชเอสบีซี ที่มาจากการสำรวจธุรกิจระหว่างประเทศขนาดใหญ่จาก 9 เศรษฐกิจหลัก คือ จีน อินเดีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฮ่องกง และตะวันออกกลาง ระบุว่า องค์กรธุรกิจระหว่างประเทศมองโอกาสเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชิงบวกมากยิ่งขึ้น
โดยคาดการณ์ว่า ยอดขายในภูมิภาคจะเติบโตร้อยละ 23.2 ในอีก 12 เดือนข้างหน้า เมื่อเทียบกับการสำรวจในปีก่อนหน้าที่คาดว่าจะโตร้อยละ 20.1 อีกทั้งยังสูงกว่าการเติบโตของ GDP ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดการณ์ไว้ถึงร้อยละ 4-5 สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทต่างชาติมีความเชื่อมั่นในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจคือ ไทยเป็นตลาดสำคัญที่ธุรกิจระหว่างประเทศต้องการลงทุน โดยร้อยละ 37 ของกลุ่มตัวอย่างมีการดำเนินกิจการในประเทศไทยอยู่แล้ว ทั้งนี้ จากบริษัทต่างชาติจาก 9 ประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจ พบว่า บริษัทจากประเทศเยอรมนีมีการดำเนินกิจการในประเทศไทยสูงสุดถึงร้อยละ 45
นอกจากนั้น ประเทศไทยยังติด 3 อันดับแรกของประเทศในอาเซียนที่บริษัทต่างชาติที่มีการดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศอยู่แล้วมีแผนจะขยายธุรกิจเพิ่มเติมในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า โดยมีบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในประเทศอยู่แล้ว ณ ปัจจุบัน ถึงร้อยละ 24 ที่ต้องการจะขยายธุรกิจเพิ่ม รองมาจากสิงคโปร์ (ร้อยละ 36) และมาเลเซีย (ร้อยละ 27) ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งและสอง
“บริษัทจากภูมิภาคตะวันออกกลางและประเทศใกล้เคียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการลงทุนในตลาดอาเซียนชัดเจนกว่า และมีแผนจะขยายธุรกิจเข้ามาในภูมิภาคในสัดส่วนที่มากกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา” ผลสำรวจระบุ
“ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์มีความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น บริษัทจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และตะวันออกกลาง จึงมีข้อได้เปรียบในการลงทุนในอาเซียนไปโดยปริยาย ในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียง” กฤษฎา แพทย์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าว
เจาะลึกเข้าไป ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญในอาเซียน และยังมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกจำนวนมาก ธุรกิจต่างชาติที่เข้าร่วมการสำรวจครั้งนี้มองว่า แรงงานที่มีทักษะของไทยคือองค์ประกอบที่ดึงดูดที่สุด โดยร้อยละ 28 ระบุว่า แรงงานที่มีทักษะทำให้การขยายธุรกิจในไทยมีความน่าสนใจมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้ พบว่าอัตราค่าแรงที่แข่งขันได้ ซึ่งเคยเป็นปัจจัยสำคัญในปี 2565 ได้ลดลงจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 25 ในการสำรวจปี 2566
เศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตของไทยถือเป็นองค์ประกอบที่น่าสนใจที่สุดอีกอย่างหนึ่ง โดยร้อยละ 27 ของบริษัทที่ดำเนินงานอยู่ในประเทศไทยระบุว่า สิ่งนี้เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการขยายธุรกิจ และบริษัทอีกจำนวนเท่ากันคือร้อยละ 27 มองว่า ประชากรรุ่นใหม่และลักษณะทางประชากรศาสตร์ของประเทศไทยเป็นปัจจัยที่ดึงดูดการลงทุนในประเทศ
ร้อยละ 35 ของธุรกิจที่เข้าร่วมการสำรวจคาดหวังว่า เทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในทศวรรษหน้า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิง (ร้อยละ 38) รวมถึงการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล (ร้อยละ 35) ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 4 ใน 10 (ร้อยละ 41) กล่าวว่า พวกเขายังขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะมาช่วยพลิกโฉมองค์กรให้เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ
ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานของยุโรป เห็นได้จากแนวคิดของธุรกิจระหว่างประเทศที่ดำเนินงานอยู่ในประเทศที่ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบและวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานด้วย โดยร้อยละ 44 ระบุว่า พวกเขาประเมินความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของซัพพลายเออร์ และ 3 ใน 4 ของบริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย นำผลกำไรที่ได้รับอย่างน้อยร้อยละ 5 ไปใช้จ่ายในโครงการที่เกี่ยวกับความยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม พบว่าเกือบ 1 ใน 3 (ร้อยละ 29) ของบริษัทต่างชาติในประเทศไทย มีความกังวลว่ากฎระเบียบและข้อบังคับใหม่เกี่ยวกับการลดคาร์บอนอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของพวกเขา นอกจากนี้ ร้อยละ 28 ยังเชื่อว่า ประเทศไทยยังตามหลังประเทศอื่นๆ ในด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการจ้างพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการดำเนินการด้านความยั่งยืนของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งมีบริษัทถึงร้อยละ 36 ที่ระบุถึงอุปสรรคข้อนี้
ปัญหาที่บริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในไทยกล่าวถึงอีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องของวัฒนธรรมที่แตกต่าง โดยร้อยละ 31 ระบุว่า ภาษาท้องถิ่นและแนวทางในการทำธุรกิจถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ