เหตุสู้รบในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชา กลายเป็นประเด็นระดับโลกที่สื่อต่างชาติหลายสำนักติดตามรายงานข่าว
แต่ท่ามกลางรายงานข่าวจำนวนมากที่เผยแพร่ออกมา ปรากฏกรณีการรายงานที่ผิดพลาดจากบางสำนักข่าวชื่อดัง ที่อาจนำมาซึ่งความเข้าใจผิดต่อสถานการณ์ที่มีความเปราะบางสูง
กรณีหนึ่งที่กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งแต่ช่วงวานนี้ (24 กรกฎาคม) คือข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์เกาะติดรายงานสดหรือ Live Update ของสำนักข่าว CNN โดยมีการสรุปประเด็นที่เกิดขึ้นแบบย่อๆ ระบุว่า
“Thailand launched airstrikes against Cambodian military targets along their long-disputed border, escalating tensions between the Southeast Asian neighbors.”
“ไทยได้ทำการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายทางทหารของกัมพูชาตามแนวชายแดนที่มีข้อพิพาทมายาวนาน ส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทวีความรุนแรงขึ้น”
การสรุปข้อมูลดังกล่าว มีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่าย ว่าเป็นการระบุถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่คำนึงและชี้แจงให้ชัดเจนถึงที่มาที่ไปของสถานการณ์อันมีความเปราะบาง ซึ่งอาจส่งผลให้ไทยถูกมองว่าเป็นฝ่ายเปิดฉากการสู้รบด้วยการโจมตีทางอากาศ
นอกจากนี้ CNN ยังมีการรายงานลำดับเหตุการณ์เพื่อสร้างความเข้าใจ โดยไล่เรียงที่มาความขัดแย้งและเหตุปะทะ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม แต่ในเหตุการณ์ล่าสุด ซึ่งมีชนวนเหตุจากการที่ทหารไทย 1 นายได้รับบาดเจ็บและสูญเสียขาดจากการเหยียบทุ่นระเบิดที่ช่องอานม้า อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ซึ่งนำมาสู่การลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ ปรากฏว่ารายงานของ CNN ระบุว่า
“After the soldier lost his leg, a Thai fighter jet dropped bombs on Cambodian military targets along their disputed border on Thursday.”
“ภายหลังเหตุการณ์ทหารไทยเหยียบทุ่นระเบิด เครื่องบินขับไล่ของไทยลำหนึ่ง ได้ทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายทางทหารของกัมพูชา ในพื้นที่แนวชายแดนที่เป็นข้อพิพาท เมื่อวันพฤหัสบดี”
และรายงานข้อมูลเพิ่มเติมจากฝ่ายกัมพูชาว่า “กระทรวงกลาโหมกัมพูชายืนยันว่าเครื่องบินขับไล่ F-16 ของไทย ได้ทิ้งระเบิดสองลูกลงบนถนนใกล้ปราสาทพระวิหารโบราณ ซึ่งเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก กระทรวงกลาโหมกัมพูชาประณามสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเรียกว่าเป็น การรุกรานทางทหารที่โหดร้าย ป่าเถื่อน และรุนแรง และกล่าวหาว่าไทยละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ”
โดยรายงานดังกล่าว ไม่ระบุถึงชนวนการสู้รบที่ปะทุขึ้นจากเหตุการณ์ยิงปะทะ ที่ฝ่ายกองทัพไทยระบุว่ากัมพูชาเปิดฉากยิงโจมตีก่อน ส่วนฝ่ายกัมพูชาก็ระบุว่าทหารไทยยิงก่อน
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวล่าสุดของ CNN ในเช้าวันนี้ (25 กรกฎาคม) มีการสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและรอบด้านมากขึ้น โดยระบุที่มาของเหตุสู้รบ ด้วยการอ้างอิงข้อมูลที่ได้รับจากทั้งฝ่ายกองทัพไทยและกองทัพกัมพูชา
ทั้งนี้ อีกกรณีที่เป็นความผิดพลาดชัดเจนของสำนักข่าวระดับโลก คือกรณีที่เพจ Facebook ของสำนักข่าว Washington Post เผยแพร่คลิปวิดีโอเหตุการณ์ที่กัมพูชายิงจรวด BM-21 ตกใส่สถานีน้ำมัน ปตท. บ้านผือ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ วานนี้ จนทำให้ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ภายในสถานีน้ำมันเกิดไฟลุกไหม้ และมีผู้เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บอีก 10 ราย
แต่ข้อความประกอบคลิปวิดีโอกลับระบุว่า
“Thailand launched airstrikes on Cambodia on Thursday following a new border clash.
Fighting between the two countries has occurred intermittently for decades, but tensions began to climb last month after a Cambodian soldier was killed in a skirmish.”
“ไทยได้เปิดฉากโจมตีทางอากาศต่อกัมพูชาเมื่อวันพฤหัสบดี หลังจากเกิดการปะทะกันบริเวณชายแดนครั้งใหม่
การสู้รบระหว่างสองประเทศเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ มานานหลายทศวรรษ แต่ความตึงเครียดเริ่มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว หลังจากทหารกัมพูชา 1 นาย เสียชีวิตจากเหตุปะทะ”
โดยหลังการเผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าว มีชาวไทยจำนวนมากพยายามแสดงความเห็นชี้แจงให้ Washington Post แก้ไข และเตือนว่าอาจเป็นการก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง แต่จนถึงขณะนี้ยังคงไม่มีการแก้ไขข้อมูลในโพสต์ดังกล่าวแต่อย่างใด
บาลานซ์ข้อมูล เลี่ยงสร้างความเข้าใจผิด
การนำเสนอข่าวในสถานการณ์สู้รบที่มีความเปราะบางและมีโอกาสสูงในการสร้างความเข้าใจผิด หากไร้ซึ่งการให้น้ำหนักข้อมูลจากคู่ขัดแย้งแต่ละฝ่ายอย่างเหมาะสม ถูกต้อง และไร้ซึ่งอคติ อาจส่งผลเสียแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นประเด็นที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง
โดยสื่อหลายสำนัก อาทิ The New York Times และ Al Jazeera รายงานข่าวเหตุสู้รบที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ด้วยการระบุข้อมูลตามข้อเท็จจริงว่า “ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา ต่างกล่าวโทษอีกฝ่าย ว่าเปิดฉากยิงก่อน”
ทั้งนี้ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้ออกประกาศ โดยชี้ถึงแนวปฏิบัติในการนำเสนอข่าวสงครามหรือการสู้รบระหว่างประเทศ พ.ศ.2565 แบ่งเป็น 3 ข้อ ได้แก่
1.ต้องนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การสู้รบตามข้อเท็จจริง ไม่นำเสนอข้อมูลหรือความคิดเห็นที่สร้างความเข้าใจผิด ความเกลียดชัง และอคติต่างๆ
2.พึงระมัดระวังการเสนอภาพ หรือคลิปความสูญเสียที่สยดสยองหรือหวาดเสียว โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่นำความสูญเสียในสงครามเป็นเครื่องมือกระตุ้นยอดขาย หรือยอดคนดู
3.ต้องระบุแหล่งที่มาของภาพ คลิปวิดีโอ หรือข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ก่อนนำมาเสนอประกอบข่าว เพราะอาจเป็นภาพหรือคลิปวิดีโอจากเหตุการณ์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ในกรณีการใช้แฟ้มภาพข่าว ควรระบุวันที่และบริบทให้ชัดเจนด้วย
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/world/live-news/thailand-cambodia-border-dispute-07-24-25-intl-hnk
- https://www.cnn.com/world/live-news/thailand-cambodia-border-dispute-07-24-25-intl-hnk#cmdh9ql0u000e3b6n0f2lmzrk
- https://www.facebook.com/share/v/1Az58uG3o2/
- สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชน