หลังห่างเหินจากประเด็นความบกพร่องในการปกป้องข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานมานานพอสมควร ล่าสุด เฟซบุ๊กกำลังจะวนลูปกลับมาเผชิญปัญหาดังกล่าวอีกแล้ว เมื่อ Sanyam Jain นักวิจัยด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ได้บังเอิญตรวจพบกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กกว่า 419 ล้านราย หรือกว่า 17% ของผู้ใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังที่ปรากฏบนโลกออนไลน์ โดยไม่มีการเข้ารหัส และสามารถเข้าถึงได้แบบสาธารณะ
ฐานข้อมูลดังกล่าวของผู้ใช้งานปรากฏทั้งข้อมูลเบอร์โทรศัพท์, ID ที่ใช้ล็อกอินเข้าแอ็กเคานต์ ขณะที่บางรายก็มีการเปิดเผยชื่อ-สกุล เพศ และประเทศที่อยู่อาศัยด้วย ซึ่ง Jain ที่เป็นผู้พบฐานข้อมูลยังบอกอีกด้วยว่า เบอร์โทรศัพท์ของผู้ใช้งานบางรายก็เชื่อมโยงกับคนดังและเซเลบริตี้เป็นจำนวนมาก
เมื่อแบ่งจำนวนผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากฐานข้อมูลจำนวน 419 ล้านรายที่ถูกดึงออกมาเผยแพร่บนโลกออนไลน์ พบว่า ผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบอ่วมสุดที่ 133 ล้านราย ตามด้วยเวียดนาม และสหราชอาณาจักรที่ 50 ล้านราย และ 18 ล้านราย ตามลำดับ
หลังข่าวดังกล่าวถูกตีแผ่ออกไป เว็บไซต์ที่เป็นเจ้าของเซิร์ฟเวอร์ก็ได้นำฐานข้อมูลที่รั่วไหลทั้งหมดออกจากระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ด้านเฟซบุ๊กยืนยันว่า ความผิดพลาดดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แต่ข้อมูลทั้งหมดที่รั่วไหลออกไปน่าจะมีแค่ประมาณ 210 ล้านรายเท่านั้น หากไม่นับข้อมูลผู้ใช้งานบางส่วนที่ทับซ้อนกัน ซึ่งชุดข้อมูลที่ว่านี้ถือเป็นชุด ‘ข้อมูลเก่า’ ที่ถูกจัดเก็บก่อนที่เฟซบุ๊กจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงมาตรการปิดกั้นไม่ให้ผู้ใช้งานมองเห็นข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ของผู้ใช้งานรายอื่นๆ เมื่อปีที่แล้ว และไม่ตรวจพบหลักฐานใดๆ ที่เชื่อมโยงว่าแอ็กเคานต์ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กถูกโจมตี
แม้จะยังไม่มีการยืนยันใดๆ ว่าเฟซบุ๊กจะดำเนินการแจ้งผู้ใช้งานที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลข้อมูลในครั้งนี้หรือไม่ แต่พวกเขาก็ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งว่า กำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ว่าใครเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวออกมา และด้วยสาเหตุอะไร
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: