เพื่อตอบคำถามที่ว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและโควิด-19 กลายเป็นส่วนผสมสำคัญในการ ‘พลิก’ พฤติกรรมผู้บริโภคไปอย่างไร Facebook จึงได้ร่วมกับ Ipsos ดำเนินการสำรวจข้อมูลผู้บริโภคกว่า 12,500 ราย ในช่วงอายุ 18-64 ปี จาก 14 ประเทศ ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน พ.ศ. 2563 (ผู้ร่วมทำแบบสอบถาม 1,000 คนมาจากประเทศไทย)
ซึ่งจากการสำรวจดังกล่าวพบว่า กว่า 86% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยเชื่อว่า ในอนาคต สิ่งต่างๆ ในชีวิตของพวกเขาจะ ‘ต้องการเวลาไปจากพวกเขามากขึ้น’ ไปอีก (เหมือนดึงเวลาส่วนตัวไป) ผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงเริ่มมองหาวิธีที่จะประหยัดเวลาและทำให้ชีวิตง่ายขึ้น
โดยที่ 89% ของชาวไทยยินดีที่จะจ่ายเพื่อสินค้าและบริการที่ช่วย ‘ประหยัดเวลา’ ส่วนอีก 94% ให้นำ้หนักและความสำคัญไปที่ปัจจัยด้าน ‘ความสะดวกสบาย’ ควบคู่กับราคาสินค้าหรือบริการ เวลาที่ต้องตัดสินใจซื้อของใดๆ ก็ตาม
เมื่อพลิกดูผลสำรวจว่าคนส่วนใหญ่ต้องการเวลาที่ได้คืนมาเพิ่มเติมไปใช้กับอะไร
- 72% บอกว่าเพื่อประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว
- 60% ต้องการใช้เวลากับคนรัก, สุขภาพที่ดี และการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ
- อีก 32% ต้องการทำสิ่งดีๆ ตอบแทนให้กับสังคม
ส่วนในประเด็นการใช้แพลตฟอร์มไลฟ์ของ Facebook ในการซื้อขายสินค้าหรือบริการต่างๆ นั้น พบข้อมูลว่า
- 65% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีโอกาสได้ ‘ลองช้อปปิ้งผ่านการขายแบบไลฟ์’ มากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
- 84% ของคนกลุ่มนี้ ‘ยังซื้อของผ่านช่องทางดังกล่าวทุกเดือน’
โดยผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย 9 ใน 10 คน (92%) คาดว่าจะเพิ่มการซื้อของผ่านการไลฟ์ในปีนี้
ด้านมุมมองต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AR หรือ Augmented Reality และวิดีโอที่ถูกนำมาใช้งานเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะการยกระดับประสบการณ์การช้อปปิ้งสำหรับผู้บริโภค พบว่า 88% ของคนไทยมองว่า AR ได้เข้ามาเสริมประสบการณ์รูปแบบดิจิทัลให้พวกเขา และหวังจะได้เห็นฟีเจอร์นี้เพิ่มเติมจากแบรนด์ต่างๆ ในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยอีกด้วยว่า ปัจจุบันคนไทย 37 ล้านคนรับชม Facebook Watch ‘อย่างน้อย 1 นาที’ ในแต่ละเดือน โดยรายงานจาก Kantar ระบุว่า 97% ของผู้ที่รับชมวิดีโอของผู้เผยแพร่นั้น มีการใช้ Facebook Watch เป็นประจำ
แพร ดํารงค์มงคลกุล Country Director ของ Facebook ประเทศไทย กล่าวว่า “ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการค้าแบบดิจิทัลอย่างแท้จริง ส่งผลให้ความคาดหวังของผู้บริโภคในวันนี้มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
“ไม่เพียงแต่ความคาดหวังต่อแบรนด์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความคาดหวังในชีวิตของพวกเขาเองด้วย ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งใน ‘กระแสขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง’ นี้ ดังนั้นแบรนด์ต่างๆ จึงต้องปรับตัวรับกับความคาดหวังในแง่ของความสะดวกสบายจากผู้บริโภค และยังต้องมีแนวทางใหม่ๆ ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ดีให้กับผู้บริโภคยุคดิจิทัลอีกด้วย”
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ