×

Facebook ไทย เผยความคืบหน้ามาตรการป้องกันการฆ่าตัวตาย พบครึ่งปีแรก 2562 แจ้งขอความช่วยเหลือ 3 พันข้อความ

13.09.2019
  • LOADING...
Facebook ไทย เผยความคืบหน้ามาตรการป้องกันการฆ่าตัวตาย

ข้อมูลรายงานสถานการณ์การฆ่าตัวตายของคนไทยจากกรมสุขภาพจิตพบว่า คนไทยมีความพยายามฆ่าตัวตายปีละ 5 หมื่น 3 พันคน นับเป็นจำนวนที่สูงและมากพอจะทำให้ไทยติดอันดับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในอันดับ 32 ของโลก

 

ด้านองค์การอนามัยโลกรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายราว 8 แสนคนต่อปี เท่ากับว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 1 คน ในทุก 40 วินาที

 

ในมุมหนึ่ง ความนิยมและความแพร่หลายของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในปัจจุบันก็เปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะที่ผ่านมาเราก็มักจะเห็นกรณีโศกนาฏกรรมที่ผู้ใช้งานบางรายใช้พื้นที่เหล่านี้ไลฟ์สดฆ่าตัวตาย หรือระบายความรู้สึกของการอยากฆ่าตัวตายมาแล้วเป็นจำนวนมาก

 

เฟซบุ๊กนับเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ถูกตั้งคำถามในการยกระดับความช่วยเหลือเพื่อป้องกันและยับยั้งกรณีการฆ่าตัวตายของผู้ใช้งาน เนื่องจากพวกเขาถือเป็นโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานสูงสุดเป็นอันดับ 1 คือ 2 พันล้านรายทั่วโลก

 

ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กในสหรัฐอเมริกาได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นเพื่อเฝ้าระวังและสามารถเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายได้ทันท่วงที เช่นเดียวกับหน่วยงานและองค์กรไม่แสวงหากำไรในประเทศอื่นๆ

 

ส่วนในประเทศไทย เฟซบุ๊กได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร ‘สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย’ ในฐานะพันธมิตรด้านความปลอดภัยของแพลตฟอร์มตั้งแต่ปี 2018 และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยที่อยู่ในคณะที่ปรึกษาระดับโลกด้านการป้องกันการฆ่าตัวตายของเฟซบุ๊กอีกด้วย 

 

สะมาริตันส์ให้บริการศูนย์ช่วยเหลือเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้ที่มีความทุกข์หรือความคิดฆ่าตัวตาย และบริการศูนย์ช่วยเหลือในระบบเฟซบุ๊กในทุกรูปแบบ ทั้งการแจ้งผ่านเพจ หรือใน Facebook Messenger ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษทุกวันไม่มีวันหยุด ในช่วงเวลา 12.00-22.00 น. โดยมีแผนจะขยายเวลาให้บริการเป็น 24 ชั่วโมงในอนาคต ซึ่งอาสาสมัครทุกคนจะต้องได้รับการฝึกอบรมก่อนจะสามารถให้บริการคลายทุกข์ปลายสายได้ (อาสาสมัครบางส่วนมีประสบการณ์ทำงานมามากกว่า 30 ปี: www.facebook.com/Samaritans.Thailand

 

ข้อมูลที่น่าสนใจจากสะมาริตันส์ระบุว่า ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา สมาคมได้รับข้อความกว่า 3 พันข้อความ จากคนที่ต้องการความช่วยเหลือผ่านทาง Facebook Messenger ถือเป็นอัตราการเติบโตในเชิงตัวเลขเพิ่มขึ้นจากปี 2560 กว่าเท่าตัว 

 

ขณะที่ครึ่งปีแรกนี้ (2562) สมาคมได้รับข้อความมากกว่า 3 พันข้อความผ่าน Messenger โดยพบพฤติกรรมที่น่าสนใจว่าผู้ใช้งานในกลุ่มวัยรุ่นสะดวกใจที่จะส่งข้อความผ่านทางแอปฯ มากกว่าการโทรฯ เข้ามายังสมาคม เนื่องจากผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือหลายคนไม่สะดวกใจหรือไม่กล้าโทรฯ

 

ในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 10 กันยายนที่ผ่าน เฟซบุ๊กสะมาริตันส์และเชอิล ประเทศไทย ยังเปิดตัวแคมเปญ ‘The Story of Anonymous Samaritans’ เล่าเรื่องอาสาสมัครช่วยยับยั้งผู้คิดฆ่าตัวตายภารกิจคลายทุกข์ที่ปลายสายในรูปแบบวิดีโอตอนสั้นเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกร่วมสร้างสังคมปลอดภัย การตระหนักรู้ปัญหาการฆ่าตัวตายและส่งเสริมความช่วยเหลือทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์อีกด้วย

 

ในเชิงการทำงานและการปรับนโยบายของเฟซบุ๊ก ปัจจุบันได้ทำการควบคุมดูแลมาตรการต่างๆ ให้มีความรัดกุมมากขึ้น ทั้งการไม่อนุญาตให้โพสต์รูปภาพการทำร้ายตัวเอง (Cutting Images) หลีกเลี่ยงไม่ให้มีการสนับสนุนเนื้อหาประเภทดังกล่าว พร้อมนำเสนอช่องทางความช่วยเหลือต่างๆ ให้กับผู้คนผ่านเทคโนโลยีบนแพลตฟอร์ม เช่น AI 

 

โดยในช่วงเมษายนถึงมิถุนายน 2562 นี้ เฟซบุ๊กได้จัดการกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายและทำร้ายตัวเองบนแพลตฟอร์มไปแล้วกว่า 1.5 ล้านเนื้อหา 95% ของเนื้อหาทั้งหมดคือการตรวจพบก่อนที่จะได้รับรายงานจากผู้ใช้

 

ส่วนบนอินสตาแกรม ได้ดำเนินการจัดการเนื้อหาไปแล้ว 8 แสนชิ้น ในจำนวนนี้ 77% เป็นการตรวจพบโดยระบบก่อนจะมีการรายงานจากผู้ใช้ และเร็วๆ นี้จะดำเนินการจัดทำคู่มือแนะนำเยาวชนในศูนย์ให้ความช่วยเหลือของเฟซบุ๊ก (Safety Center) เพื่อรับมือกับเนื้อหาหรือโพสต์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายหรือการทำร้ายตัวเองในฉบับภาษาไทย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising