เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้วตั้งแต่ที่ Facebook ประเทศไทย ย้ายเข้ามาประจำการที่ออฟฟิศแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ บนอาคารเกษร ทาวเวอร์ ชั้น 27
ภายใต้พื้นที่กว้างใหญ่บนออฟฟิศสุดหรูทั้งชั้นถูกตกแต่งด้วยความเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยฟังก์ชันด้านการใช้งานที่ครบครัน ห้องต่างๆ ถูกตั้งชื่อตามเอกลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นไทยรูปแบบต่างๆ เช่น ห้องผัดไทย หรือห้องลูกทุ่ง ฯลฯ รวมถึงยังมีห้องแห่งความลับที่ถูกเปลี่ยนธีมไปในแต่ละเดือนเพื่อให้พนักงานได้เข้าไปพักสมองกันได้อีกด้วย
ทีมงานส่วนใหญ่ที่ประจำการอยู่ ณ สำนักงานใหญ่แห่งนี้มีทั้งบุคลากรจากไทยและสิงคโปร์ โดยหน้าที่ส่วนใหญ่ของพวกเขาคือการดูแลธุรกิจองค์กรใน 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ SMEs ภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อม, ธุรกิจขนาดใหญ่ และภาคชุมชน (Community)
วันนี้นอกจาก THE STANDARD จะมีโอกาสได้เยี่ยมชมออฟฟิศแห่งใหม่ของ Facebook แล้ว เรายังมีโอกาสได้ร่วมอัปเดตภาพรวมและสถานการณ์ในปัจจุบันของ Facebook ประเทศไทยไปพร้อมๆ กันด้วย
คนไทยใช้ Facebook สูงสุด 51 ล้านรายต่อเดือน เพิ่ม 11% จากปีที่แล้ว พบแชตซื้อขายสินค้ามากสุดเป็นท็อป 5 ของโลกและเบอร์ 1 อาเซียน
จอห์น แวกเนอร์ กรรมการผู้จัดการ Facebook ประเทศไทย เริ่มต้นการให้ข้อมูลแผนการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยด้วยการอัปเดตสถิติต่างๆ ที่น่าสนใจของผู้ใช้งาน Facebook ในปัจจุบัน และพบว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในพื้นที่ให้บริการที่มีผู้ใช้งาน Facebook เป็นจำนวนมาก
จากการเก็บข้อมูลในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้งาน Facebook ในประเทศไทยต่อเดือนมากถึงประมาณ 51 ล้านราย (Monthly Active Users – MAU) คิดเป็นสัดส่วนการเติบโตเพิ่มขึ้น 11% จากปีที่แล้ว และคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.55% จากยอดผู้ใช้ทั่วโลกในปัจจุบันที่ประมาณ 2 พันล้านราย ส่วนตัวเลขผู้ใช้งานต่อวันอยู่ที่ประมาณ 34 ล้านราย (Daily Active User – DAU)
จากสถิติตัวเลขดังกล่าว จอห์นบอกว่านี่คือหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยได้เริ่มขับเคลื่อนเข้าสู่สังคมดิจิทัลเต็มตัวแล้ว และเชื่อว่า Facebook ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับสังคมและการใช้ชีวิตของคนไทยในปัจจุบันเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้เจ้าตัวยังบอกอีกว่าภารกิจหลักของ Facebook ประเทศไทยในตอนนี้มีอยู่ 2 ภาคส่วนด้วยกัน ได้แก่ การเป็นส่วนร่วมทรานสฟอร์มประเทศไทยไปสู่สังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล และการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและชุมชนได้บรรลุเป้าหมายการเติบโตโดยตระหนักถึงความเข้าใจขีดจำกัดของศักยภาพที่พวกเขามี
ซึ่งการจะไปถึงสองเป้าหมายที่ว่ามานี้ได้นั้น กรรมการผู้จัดการ Facebook ประเทศไทย เผยว่า Facebook จะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือส่งเสริม 3 ภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ประกอบไปด้วย
1. SMEs หรือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม
จากการเปิดเผยของสภาอุตสาหกรรมไทยและธนาคารกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี 2559 พบว่า 98% ของธุรกิจในประเทศไทยมาจากธุรกิจจำพวก SMEs และยังก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศในสัดส่วนมากถึง 70% ในจำนวนนี้คิดเป็น GDP เกือบ 40% ของประเทศไทย
“SMEs ไทยยังถือเป็นต้นกำเนิดของนวัตกรรมและแรงบันดาลใจหลายๆ อย่างของ Facebook (เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Facebook ตัดสินใจเปิดฟีเจอร์ Marketplace อย่างจริงจังขึ้นมา) กล่าวได้ว่าผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ไทยถือเป็นชิ้นส่วนฟันเฟืองที่สำคัญมากๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย
“เรายังค้นพบอีกด้วยว่าเมื่อไรก็ตามที่ผู้ประกอบการ SMEs คิดอยากจะจับตลาดออนไลน์ ส่ิงที่พวกเขาจะทำคือการใช้เพจ Facebook ของเราเป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสารข้อมูลไปยังกลุ่มเป้าหมายของพวกเขา ช่วยเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจของตนได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น”
จอห์นบอกว่าทุกวันนี้คนไทยมีการส่งข้อความผ่าน Chat Messenger เพื่อซื้อขายสินค้าและทำธุรกรรมมากที่สุดของโลกเป็น 5 อันดับแรกของโลกและเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ซึ่ง 51% ของอีคอมเมิร์ซในไทยคือสัดส่วนของโซเชียลคอมเมิร์ซ หรือการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
ที่น่าสนใจกว่านั้นคือทีมงาน Facebook รู้สึกประหลาดใจมากๆ ที่คนไทยสามารถประยุกต์ฟีเจอร์ Live ไปใช้ประโยชน์เป็นนวัตกรรมช่วยขายสินค้าอย่างเสื้อผ้าได้ ทั้งๆ ที่เดิมทีฟีเจอร์นี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อขายของแต่อย่างใด และมองว่าการใช้งาน Facebook รูปแบบนี้นับเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่สำคัญมากๆ ของบริษัทจนเป็นที่มาให้เกิดฟีเจอร์ Marketplace ขึ้น
“Marketplace เกิดขึ้นมาเพราะวิศวกร Facebook จากแคลิฟอร์เนียได้เดินทางมาที่ประเทศไทยเพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้งาน Facebook ในการซื้อขายสินค้ากันบนแพลตฟอร์มและโซเชียลคอมเมิร์ซ หลังจากนั้นพวกเขาจึงได้คิดต่อยอดว่าจะมีวิธีใดที่จะช่วยเอื้อประโยชน์ให้การซื้อขายหรือค้นหาสินค้าบนช่องทาง Facebook ทำได้ง่ายขึ้น และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้ Facebook สามารถพัฒนาฟีเจอร์ Marketplace ขึ้นมาให้ผู้ใช้งานทั่วโลกได้ใช้กัน”
ตัวอย่างของเคสผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่ประสบความสำเร็จคือเพจ Max-PowerTools ที่ขายเครื่องมือสำหรับช่าง และเพจ Mom2babyshop ที่ขายสินค้าสำหรับเด็ก ซึ่งประสบความสำเร็จมากๆ ในเชิงการเอ็นเกจลูกค้า เพิ่มยอดขายบนโลกออนไลน์ และก่อให้เกิดการจ้างงานที่มหาศาล
Facebook บอกต่อว่าปัจจุบันได้มีการเปิดเวิร์กช็อป, LIVE Training รวมถึงช่องทางการช่วยเหลือต่างๆ สำหรับภาคผู้ประกอบการ SMEs โดยที่อนาคตอันใกล้นี้ บริษัทจะให้ความสำคัญด้านการลงทุนและพัฒนาขีดจำกัดความสามารถของแพลตฟอร์มเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปด้วยกัน
2. ภาคธุรกิจขนาดใหญ่
ในมุมมองของจอห์น เขาเชื่อว่าภาคธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศไทยในปัจจุบันล้วนแล้วแต่เห็นถึงความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและทรานสฟอร์มธุรกิจของตัวเองไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบเกือบทั้งหมดแล้ว
ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ได้แก่ กรณีของธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย กลุ่มเครือเซ็นทรัล และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรเป็นอย่างมากในช่วงไม่นานมานี้
ผลสำรวจที่น่าสนใจในหัวข้อ Asia Data Culture โดยไมโครซอฟท์ระบุว่าผู้นำองค์กรธุรกิจในไทยกว่า 89% มองว่าการขับเคลื่อนและการให้ความสำคัญกับดิจิทัลถือเป็นเรื่องที่จำเป็นมากๆ ในการส่งเสริมโอกาสเติบโตของธุรกิจในอนาคต แต่ในจำนวนนี้มีผู้นำมากถึง 60% ที่ยอมรับว่าตนไม่มีกลยุทธ์ทางดิจิทัลเลย
ด้านบทวิเคราะห์จากบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ในปี 2561 นี้เชื่อว่าโอกาสการเติบโตทางธุรกิจในไทยมีอยู่ถึงประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3.2 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าภาคธุรกิจในไทยปล่อยให้โอกาสและช่องว่างทางดิจิทัลที่ตนไม่สามารถตอบสนองผู้บริโภคหลุดลอยไปก็จะถือว่าเสียผลประโยชน์ไปอย่างมหาศาล
“สมมติว่าผมไปร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้อของ หากผมไม่ชอบสินค้าชิ้นไหนก็ยังมีทางเลือกสินค้าชิ้นอื่นๆ ให้เลือกดูอีก แต่ในโลกออนไลน์ ณ ปัจจุบัน หากการตอบสนองของผู้ประกอบการธุรกิจเป็นไปด้วยความเชื่องช้าหรือไม่ทันใจ ผมก็จะไม่ซื้อของจากร้านนั้นเลย นี่คืออุปสรรคอีกรูปแบบหนึ่งที่ภาคธุรกิจต้องทำความเข้าใจและกำจัดมันออกไปให้สิ้นซาก”
จอห์นบอกต่อว่าสิ่งที่ Facebook จะร่วมส่งเสริมให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจยักษ์ใหญ่ผ่านการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในระบบนิเวศตั้งแต่แบรนด์ เอเจนซี ไปจนถึงหน่วยงานรีเสิร์ชเอเจนซีและครีเอทีฟเอเจนซี ด้วยการนำเสนอเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลที่มีศักยภาพ ช่วยให้ภาคธุรกิจต่างๆ ประสบความสำเร็จในการพัฒนากลยุทธ์ดิจิทัลต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตบนโลกออนไลน์อย่างยั่งยืนในอนาคต
3. ภาคชุมชน (Community)
นอกจากภาคธุรกิจรายย่อย ระดับกลาง และระดับใหญ่แล้ว Facebook ก็ยังให้ความสำคัญในการสนับสนุนผู้ใช้งานระดับชุมชน หรือ Community ไม่แพ้กัน เพราะการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัลนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่นับรวมถึงการสร้างชุมชนออนไลน์ให้แข็งแกร่งด้วย โดยปัจจุบัน Facebook เผยว่าผู้ใช้งานไทยมีการสร้างกลุ่มต่างๆ (Group) เพื่อแชร์เรื่องที่สนใจร่วมกันไม่ต่ำกว่า 1 ล้านกลุ่มเข้าแล้ว!
ในจำนวนนี้ยังนับรวมถึงเคสตัวอย่าง 3 กลุ่ม ได้แก่
- Help Us Read ชุมชนอาสาสมัครและผู้พิการทางสายตาชาวไทย ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มมากกว่า 11,000 คนที่พร้อมช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถรับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้ด้วยการใช้ฟีเจอร์เปลี่ยนข้อความเป็นเสียงพูด หรือให้ผู้ใช้ที่เป็นอาสาสมัครอ่านข้อความที่ปรากฏบนสิ่งของหรือหนังสือ แล้วบันทึกเป็นไฟล์เสียงก่อนแชร์ในชุมชนดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการประยุกต์ใช้แพลตฟอร์ม Facebook ให้เกิดประโยชน์ และช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาได้เป็นอย่างมาก
- Run2gether ชุมชนของผู้พิการและผู้ที่ไม่พิการ ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 28,000 คน จัดตั้งขึ้นเพื่อ ‘หาคู่วิ่ง’ มาราธอนให้กับผู้ที่พิการเพื่อช่วยให้พวกเขาได้ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการลงแข่งมาราธอนร่วมกันมาแล้วมากมาย นอกจากนี้ยังเป็นแพลตฟอร์มแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ ของสมาชิกในกลุ่มอีกด้วย
- HandUp Network ชุมชนสำหรับอาสาสมัครกว่า 5,000 คนที่จะเป็นพื้นที่จัดหาผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพด้านต่างๆ เข้าไปเป็นอาสาสมัครให้ความช่วยเหลืองานกับองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรและต้องการได้รับความช่วยเหลือ
3 ชุมชนที่กล่าวมานี้ถือเป็นตัวอย่างจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ Facebook เชื่อว่าตนและผู้ใช้สามารถมีส่วนร่วมกันในการสร้างพื้นที่กลางสำหรับสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์สืบเนื่องไปยังภาคธุรกิจต่างๆ ของประเทศได้เป็นอย่างดี
*หมายเหตุ: ภาพบางส่วนถ่ายโดยใช้สมาร์ทโฟน Huawei P20 Pro
- กรณี Facebook กับปัญหาเรื่องการลด Reach และแสดงเนื้อหาของเพจต่างๆ บนหน้านิวส์ฟีดน้อยลงนั้น ตัวแทนจาก Facebook ให้ความเห็นว่าบริษัทอยากให้ผู้ใช้งานทุกคนได้มีประสบการณ์การใช้งานบนหน้าฟีดที่ดี ดังนั้นการแสดงผลในหน้านิวส์ฟีดจึงเน้นไปที่โพสต์จากผู้ใช้งานด้วยกันมากขึ้น แต่ถ้าโพสต์คอนเทนต์ของเพจต่างๆ สามารถเอ็นเกจให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมได้ก็จะมีโอกาสได้เพิ่ม Reach อยู่ตามปกติ
- ส่วนแนวทางในการจัดการกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม รวมถึงข่าวปลอมนั้น Facebook แจ้งว่ายังใช้รูปแบบของการให้ผู้ใช้งานช่วยรีพอร์ตเข้ามายังระบบเหมือนเดิม