×

หุ้นตก ขู่เลิกเล่น วิกฤตใหญ่เฟซบุ๊ก เมื่อข้อมูลผู้ใช้ 50 ล้านรายรั่วไหล

21.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • มีการเปิดเผยว่าเฟซบุ๊กทำให้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านรายชื่อ รั่วไหลออกไปยังบริษัทวิจัยข้อมูลเพื่อการเลือกตั้ง Cambridge Analytica โดยไม่ได้รับการยินยอมหรือขออนุญาตก่อน
  • เชื่อกันว่า Cambridge Analytica นำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน 50 ล้านรายชื่อไปต่อยอดกำหนดกลยุทธ์ช่วยหนุนให้โดนัลด์ ทรัมป์ คว้าตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016
  • หลังเกิดเหตุเฟซบุ๊กออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นของกรณีอื้อฉาวในครั้งนี้ ส่วน Cambridge Analytica ก็ยืนกรานเช่นกันว่าตนไม่ได้นำข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานมาใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ชอบโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่อย่างใด
  • ปัจจุบัน เฟซบุ๊กกำลังเผชิญวิกฤตหนัก ทั้งการที่หุ้นของบริษัทตกกว่า 7% รวมถึงแคมเปญบอยคอต #DeleteFacebook ให้คนเลิกใช้เฟซบุ๊ก

จนถึงตอนนี้ต้องบอกว่าประเด็นข้อพิพาทที่โซเชียลมีเดียเฟซบุ๊ก ถูกกล่าวหาว่าเปิดช่องให้บริษัทวิจัยข้อมูลเพื่อการเลือกตั้ง Cambridge Analytica เข้ามาล้วงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานมากกว่า 50 ล้านรายชื่อได้กลายเป็นปัญหาไฟลามทุ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ไม่ใช่แค่ทำให้หุ้นบริษัทตกกว่า 7% หรือมูลค่าบริษัทหายไปกว่า 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น (1.12 ล้านล้านบาท) แต่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊กก็ถูกคณะกรรมาธิการสอบข้อเท็จจริงของสภาสามัญชนสหราชอาณาจักร และรัฐสภายุโรป (European Parliament) เรียกตัวเพื่อทำการสอบสวนและชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้ว แม้ว่าเวลานี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ออกมาจากฝั่งมาร์กก็ตาม

 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวล่าสุดช่วงค่ำของวันอังคารที่ 20 มีนาคม สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งไล่ตั้งแต่ The Guardian, Time, Telegraph, CNN, The Verge หรือแม้แต่ผู้ร่วมก่อตั้ง WhatsApp ก็ออกมารวมตัวบอยคอตต์ผ่านแคมเปญ ‘#DeleteFacebook’ ให้ผู้ใช้งานลบบัญชีและแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กกันแล้ว

 

หลายคนอาจสงสัยว่าข้อพิพาทระหว่างเฟซบุ๊กและ Cambridge Analytica ครั้งนี้หนักแค่ไหน ปัญหาที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ THE STANDARD ได้สรุปเหตุการณ์ทั้งหมดแบบคร่าวๆ ให้คุณได้ลองทบทวนกันไปพลางๆ ก่อนติดตามสถานการณ์และบทสรุปของประเด็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้

 

ปัญหาเกิดจากอะไร?

จุดกำเนิดของปัญหาทั้งหมดมีต้นตอมาจาก Cambridge Analytica (CA) บริษัทวิจัยข้อมูลเพื่อการเลือกตั้งที่ก่อตั้งเมื่อปี 2013 หรือ 4 ปีที่แล้ว โดย SCL Group บริษัทแม่ที่ศึกษาข้อมูลด้านกลยุทธ์การสื่อสารซึ่งตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร (หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทคือ สตีฟ แบนนอน (Steve Bannon) อดีตที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์)

 

ว่ากันว่า Cambridge Analytica มีบทบาทสำคัญต่อเบื้องหลังความสำเร็จในการคว้าตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของโดนัลด์ ทรัมป์ และการประกาศแยกตัวจากสหภาพยุโรปจากเหตุการณ์ Brexit

 

แล้ว CA ไปเกี่ยวพันกับเฟซบุ๊กได้อย่างไร? พวกเขาล้วงข้อมูลมาจากเฟซบุ๊กด้วยวิธีไหน?

 

ในปี 2015 ดร.อเล็กซานเดอร์ โคแกน (Dr. Aleksandr Kogan) ศาสตราจารย์วิชาจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ทำการยื่นขอข้อมูลผู้ใช้งานจากเฟซบุ๊ก โดยให้เหตุผลว่าจะนำข้อมูลทั้งหมดนี้ไปใช้เพื่อการศึกษาสำหรับพัฒนาแอปพลิเคชันทายบุคลิกภาพโดยอ้างอิงข้อมูลทางหลักจิตวิทยาในชื่อ ‘thisisyourdigitallife’

 

แอปฯ thisisyourdigitallife ได้รับความนิยมล้นหลาม ถูกดาวน์โหลดโดยผู้ใช้งานเฟซบุ๊กไปมากกว่า 270,000 ราย แต่ในเวลาเดียวกันมันก็เป็นช่องทางลับให้โคแกนสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานได้เกือบทุกคนบนแพลตฟอร์ม ทั้งข้อมูลการกดไลก์ สถานที่พำนักไปจนถึงข้อมูลส่วนตัว ‘ทุกอย่าง’ ของผู้ดาวน์โหลดแอปฯ

 

ที่แย่กว่านั้นคือมันยังแอบเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนกับบุคคลจำนวนกว่า 2 แสนรายชื่อที่ดาวน์โหลดแอปฯ นี้ไปอีกด้วย ในที่สุดโคแกนก็มีข้อมูลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กกว่า 50 ล้านบัญชีอยู่ในมือ และในเวลาต่อมาเจ้าตัวก็ส่งต่อชุดข้อมูลทั้งหมดนี้ไปให้กับบริษัท Cambridge Analytica

 

จากการเปิดเผยของ The New York Times และหนังสือพิมพ์ The Observer ในสหราชอาณาจักรเมื่อวันเสาร์ที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมาได้สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่ววงการสื่อและการเมืองระดับโลก เพราะสำนักข่าวทั้ง 2 แห่งได้เปิดประเด็นว่า Cambridge Analytica แอบนำข้อมูลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กกว่า 50 ล้านคนที่ได้จากโคแกนไปใช้ออกแบบซอฟต์แวร์ทำนายผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 ซึ่งมีส่วนช่วยให้ทรัมป์เข้าวินเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผ่านการออกแบบกลยุทธ์การโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

 

ฝั่งคริสโตเฟอร์ ไวลีย์ (Christopher Wylie) อดีตพนักงานของ CA ในตำแหน่งวิศวกรเทคโนโลยี (ลาออกจากบริษัทเมื่อปี 2014) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CBC ในแคนาดาเมื่อเร็วๆ นี้ว่าบริษัท Cambridge Analytica ที่ตนเคยร่วมงานด้วยนั้นเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานได้โดยไม่ได้รับความยินยอมจริง ทั้งยังให้สัมภาษณ์กับสื่ออีกหลายสำนักว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่พลเมืองสหรัฐอเมริกาควรจะได้ทราบว่าบริษัทเหล่านี้นำข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาไปใช้ประโยชน์ในทางใดบ้าง เช่นเดียวกับกรณีของ Cambridge Analytica ที่แทรกแซงกระบวนการประชาธิปไตยในสหรัฐอมริกา

 

ไวลีย์ยังให้สัมภาษณ์กับรายการ Today Show เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 19 มีนาคมอีกด้วยว่า “บริษัทแห่งนี้ได้ยกระดับข่าวปลอมขึ้นไปอีกขั้นด้วยระบบอัลกอริทึม”

 

Facebook และ Cambridge Analytica ตอบโต้อย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

หลังเหตุการณ์นี้ถูกเผยแพร่และนำเสนอออกไปในวงกว้าง เฟซบุ๊กให้ข้อมูลว่าพวกเขาได้ดำเนินการแบนบัญชีผู้ใช้งาน Cambridge Analytica, SCL Group และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมถึงคริสโตเฟอร์ ไวลีย์แล้ว และยืนกรานให้ 2 บริษัทดังกล่าวลบข้อมูลผู้ใช้งานส่วนตัวที่ดึงออกมาจากระบบให้เกลี้ยง

 

ขณะที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และเชอรีล แซนด์เบิร์ก (Sheryl Sandberg) รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการของเฟซบุ๊กยังไม่ได้ออกมาให้ความเห็นใดๆ เพิ่มเติม ด้านเว็บไซต์ thenextweb ตีข่าวว่า อเล็กซ์ สตามอส (Alex Stamos) หัวหน้าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทเฟซบุ๊กมีแพลนจะอำลาตำแหน่งในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ดีเฟซบุ๊กยังได้ว่าจ้างบริษัท Stroz Friedberg ขึ้นมาเป็นหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ด้านดิจิทัลให้กับบริษัทชั่วคราว เพื่อดำเนินการสอบสวนเรื่องราวเบื้องลึกกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว

 

เฟซบุ๊กกล่าวว่า “Cambridge Analytica ได้ตกลงที่จะปฏิบัติตามคำร้องและยินยอมให้บริษัทเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์และระบบของพวกเขาแล้ว ทั้งนี้พวกเรายังได้ติดต่อบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวมถึงคริสโตเฟอร์ ไวลีย์ และอเล็กซานเดอร์ โคแกนเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการตรวจสอบแล้วเช่นกัน โดยนายโคเกนได้ตอบตกลงที่จะให้ความร่วมมือแล้ว แต่นายไวลีย์ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ”

 

เฟซบุ๊กยังยืนยันตามนโยบายเดิมว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับการปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานอย่างมาก เพราะเดิมทีโคแกนได้ติดต่อขอข้อมูลหลังบ้านของเฟซบุ๊กเพื่อนำไปใช้สำหรับวิจัยและการศึกษา แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับคลาดเคลื่อนกับจุดประสงค์ของเจ้าตัวไปพอสมควร

 

ส่วนฝั่งผู้ถูกกล่าวหาอย่าง Cambridge Analytica ก็ออกมาโต้ข้อพิพาททุกกรณี โดยระบุว่าบริษัทของตนไม่ได้นำข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กไปใช้ประโยชน์ในทางที่มิชอบ เช่นการออกแบบเคมเปญสนับสนุนโหวตเลือกตั้งโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2016 และยังได้ลบข้อมูลทุกอย่างที่ได้รับมาจากบริษัท Global Science Research (GSR) ทันทีที่ทราบว่าข้อมูลที่ได้มาผิดกับเงื่อนไขการให้บริการของเฟซบุ๊ก

 

โดยต่อจากนี้จะให้ความร่วมมือกับโซเชียลมีเดียยอดนิยมอย่างใกล้ชิดเพื่อทำให้แน่ใจว่าตนไม่ได้ละเมิดนโยบายการให้บริการทุกข้อของบริษัท และได้กำจัดข้อมูลที่ได้รับส่งต่อมาไปเรียบร้อยแล้ว

 

“Cambridge Analytica จะรับแต่ข้อมูลที่ได้รับมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น นโยบายป้องกันข้อมูลของเราที่เข้มแข็งเป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับระดับชาติของสหรัฐอเมริกา นานาชาติ และสหภาพยุโรป” บริษัท Cambridge Analytica กล่าวผ่านแถลงการณ์

 

ถึงอย่างนั้นก็คงปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่าเฟซบุ๊กไม่มีส่วนรู้เห็นต่อเหตุการณ์ข้อมูลผู้ใช้งาน 50 ล้านรายชื่อรั่วไหล ขณะที่การแก้ปัญหาหลังเหตุการณ์เกิดขึ้นไปแล้วของพวกเขาก็ดูจะเข้าข่ายสำนวนสุภาษิต ‘วัวหายล้อมคอก’ เพราะ ณ เวลานี้ทุกคนก็คงได้เห็นถึงผลลัพธ์ด้านลบที่เกิดขึ้นกับเฟซบุ๊กกันแล้ว

 

อาจจะยังไม่สายที่เฟซบุ๊กจะคิดหาหนทางกู้ศรัทธาจากผู้ใช้งานบางส่วนคืนมา ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือพวกเขาจะต้องทำให้ผู้ใช้ทุกรายมั่นใจได้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยขึ้นอีกในอนาคต

 

Photo: karin foxx

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising