Facebook เผยข้อมูลผู้ใช้งานหลุดออกไปยังบริษัท Cambridge Analytica มากกว่า 87 ล้านรายชื่อ ไม่ใช่ 50 ล้านรายชื่ออย่างที่มีการเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้ ผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียอ่วมสุด
จากกรณีสุดอื้อฉาวที่ Facebook ถูกกล่าวหาว่าทำข้อมูลผู้ใช้งานรั่วไหลออกไปยังบริษัทวิจัยข้อมูลเพื่อการเลือกตั้ง Cambridge Analytica มากกว่า 50 ล้านรายชื่อ ล่าสุดผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายนี้ได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันพุธที่ 4 เมษายน (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา) ว่าข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานที่หลุดในครั้งนี้มีมากถึง 87 ล้านรายชื่อ ไม่ใช่ 50 ล้านรายชื่อตามที่สำนักข่าวหลายแห่งรายงานก่อนหน้านี้
Facebook ยังระบุอีกด้วยว่า ผู้ใช้งานที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่พำนักอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น มีจำนวนอยู่ที่ 70.6 ล้านรายชื่อ หรือ 81.6% รองลงมาในลำดับที่ 2 คือผู้ใช้งานในประเทศฟิลิปปินส์ที่ 1.17 ล้านรายชื่อ หรือ 1.4% ส่วนอีก 1.09 ล้านรายชื่อ หรือ 1.3% เป็นข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งาน Facebook จากประเทศอินโดนีเซีย
ด้านผู้ถูกกล่าวหาอย่าง Cambridge Analytica ปฏิเสธว่าข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งาน Facebook ที่ตนได้รับมาจาก ดร.อเล็กซานเดอร์ โคแกน มีเพียงแค่ 30 ล้านรายชื่อเท่านั้น ไม่ใช่ 87 ล้าน และ 50 ล้านรายชื่อ และได้ลบข้อมูลทั้งหมดตามคำขอของ Facebook ทันที ไม่ได้นำไปใช้หาผลประโยชน์เพื่อสนับสนุนแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2016 อย่างที่มีการถูกใส่ร้ายแต่อย่างใด
ขณะที่มาตรการการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานล่าสุดนั้น Facebook ได้ออกมาอัปเดตว่าพวกเขาได้เพิ่มระดับความเข้มงวดในการเข้าถึงข้อมูลของนักพัฒนาโปรแกรมและแอปพลิเคชันอื่นๆ ขึ้นไปอีกสเต็ปจากเดิมที่เคยปรับเปลี่ยนไปแล้วเมื่อปี 2014 และจะบีบไม่ให้แอปพลิเคชันเหล่านั้นสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งาน Facebook ในมิติอื่นๆ เพิ่มเติมได้ เช่นการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองหรือศาสนา, รายละเอียดสถานะความสัมพันธ์, รายชื่อเพื่อน, ประวัติการทำงานและสถานศึกษา ตลอดจนกิจกรรมที่ทำ เพลงที่ฟัง วิดีโอที่คลิกดู
ที่สำคัญจะปิดช่องทางการเข้าถึงข้อมูลที่ผู้ใช้อนุญาตให้แอปพลิเคชันนั้นๆ เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของตนได้ หากผู้ใช้คนนั้นไม่ได้เปิดใช้แอปพลิเคชันหรือโปรแกรมดังกล่าวภายในระยะเวลา 3 เดือน
อ้างอิง: