ก่อนหน้านี้เมื่อวันอังคารที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ มีการนำเสนอข่าวว่าเฟซบุ๊กกำลังวางแผนว่าจ้างกองบรรณาธิการข่าวขนาดย่อมๆ ขึ้นมาทำหน้าที่คัดกรองเลือกเนื้อหาข่าวที่จะถูกนำเสนอในหน้า News Tab ซึ่งเป็นหน้าฟีดแบบใหม่ที่แยกออกจากนิวส์ฟีดแบบปกติของเฟซบุ๊ก เนื่องจากมองว่าวิธีการคัดเลือกข่าวนำเสนอของคนที่คลุกคลีในวงการสื่อย่อมทำได้ดีกว่าอัลกอริทึมและ AI
แคมป์เบลล์ บราวน์ หัวหน้าแผนกพันธมิตรข่าวของเฟซบุ๊กบอกถึงเป้าหมายของ News Tab ว่า จะเป็นฟีเจอร์การใช้งานที่ช่วยให้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กสามารถนำเสนอเนื้อหาข่าวได้แบบ Personlized ตรงกับความสนใจและประสบการณ์ของผู้ใช้งานแต่ละคนได้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงจำเป็นที่จะต้องฟอร์มทีมบรรณาธิการข่าวจำนวนหนึ่งขึ้นมา เพื่อให้แน่ใจว่าเฟซบุ๊กจะสามารถเลือกนำเสนอข่าวได้ตรงกับความสนใจของคนอ่านมากที่สุด
ต่อกรณีนี้ ล่าสุดสำนักข่าว AFP ได้สอบถามความคิดเห็นไปยังผู้เชี่ยวชาญอย่าง แดนนา ยัง ศาสตราจารย์ด้านสื่อสารมวลชนประจำมหาวิทยาลัยเดลาแวร์ ซึ่งแดนนาก็ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า การที่เฟซบุ๊กให้ความสำคัญกับการคัดกรองเนื้อหาข่าว รวมถึงการแยกนำเสนอข่าวออกมาในหน้า News Tab นับเป็นเรื่องดี และน่าจะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมสื่อแน่นอน
“ในเชิงทฤษฎีแล้ว ฉันมองว่ามันจะเป็นการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากๆ นะ มันดูมีความหวังจริงๆ”
สาเหตุหลักๆ ที่แดนนามองว่าฟีเจอร์ใหม่ของเฟซบุ๊กไม่ถือเป็นการเข้ามาดิสรัปต์อุตสาหกรรมสื่อ เป็นเพราะเธอมองว่าหน้าที่ของทีมบรรณาธิการข่าวเฟซบุ๊กไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงพาดหัวข่าวหรือการปรับแก้คอนเทนต์ แต่เป็นแค่การดึงเรื่องราวที่น่าจะดึงดูดความสนใจของผู้อ่านคนนั้นๆ มาไฮไลต์นำเสนอให้ตรงกับกลุ่มคนอ่านแต่ละรูปแบบให้มากที่สุด
ประกอบกับเฟซบุ๊กเองก็เคยให้ข้อมูลหลายครั้งว่าพวกเขาไม่ได้มีความตั้งใจจะเปลี่ยนตัวเองเป็นองค์กรสื่อ สิ่งที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานกว่า 2.4 พันล้านรายทั่วโลกต้องการคือการนำเสนอเนื้อหาข่าวให้ตรงกับความสนใจของชุมชนผู้ใช้งานมากที่สุด
อย่างไรก็ดี ถึงผู้เชี่ยวชาญจะกล่าวและเชื่อเช่นนั้น แต่เมื่อเฟซบุ๊กเปิดตัว News Tab ออกมาแล้ว สิ่งที่น่าจับตาคือพวกเขาจะจัดการกับปัญหาความน่าเชื่อถือของข่าว รวมถึงเฟกนิวส์ที่มีจุดประสงค์ทางการเมืองแอบแฝงได้มากน้อยแค่ไหน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: