×

สะเทือนไหม Facebook เปิดให้เช่าอสังหาริมทรัพย์บน Marketplace เริ่มไทยประเทศแรกในเอเชีย

11.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เฟซบุ๊ก เปิดตัวบริการ Marketplace Rentals หรือบริการเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้งานประกาศให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ในระยะยาว (เริ่มต้นที่ 1 เดือนขึ้นไป) โดยจะเริ่มให้บริการที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย และจะให้บริการเต็มรูปแบบ 3-4 สัปดาห์ต่อจากนี้
  • ไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากๆ สำหรับ Marketplace ปัจจุบันเฟซบุ๊กเปิดเผยว่ามีเพจ SMEs ในไทยรวมกว่า 2.5 ล้านราย และมีจำนวนการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มสูง
  • นักวิเคราะห์มองว่าตราบใดที่เฟซบุ๊กยังไม่ทำหน้าที่เป็นนายหน้าอสังหาฯ เต็มรูปแบบ การ Disruption ก็จะยังไม่เกิดขึ้น สิ่งที่ดีที่สุดในเวลานี้ที่บรรดานายหน้าพอจะทำได้คือ ศึกษาข้อมูลจากแพลตฟอร์มดังกล่าว แล้วเก็บคลังข้อมูลของตัวเองเพื่อใช้ประโยชน์ในลำดับต่อไป

เราเชื่อว่าผู้ใช้งานเฟซบุ๊กหลายคนน่าจะเคยเห็นเพื่อนๆ หรือผู้ใช้งานคนอื่นประกาศขายรถ บ้าน คอนโด ให้เช่าห้องพัก แรกๆ ก็อาจจะมองว่าแปลกอยู่บ้าง เพราะสินทรัพย์สเกลขนาดนี้ไม่น่าจะซื้อ-ขายกันบนโซเชียลมีเดียได้ แต่ปรากฏว่ามันกลับได้ผลมาก หลายคนเริ่มทำตามกันจนเป็นเรื่องปกติไปแล้วในระยะหลังๆ

 

เรื่องนี้ผู้ให้บริการอย่างเฟซบุ๊กเองก็ทราบดี และเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขานำพฤติกรรมดังกล่าวของผู้ใช้มาศึกษาต่อจนพัฒนาและเปิดตัวฟีเจอร์ ‘Marketplace Rentals บริการเปิดให้เช่าที่พัก’ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานทั้งฝั่งคนซื้อและคนให้เช่าสามารถติดต่อเช่าอสังหาริมทรัพย์กันได้ทันทีบนเฟซบุ๊ก

 

 

Marketplace Rentals คืออะไร

อธิบายอย่างง่าย Marketplace คือ ‘พื้นที่’ ที่เฟซบุ๊กเปิดให้ผู้ใช้งานทุกรายในแพลตฟอร์มสามารถซื้อขายสินค้าและบริการต่างๆ (ที่ถูกกฎหมาย) ในรูปแบบของ C2C (ระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภค) เป็นส่วนใหญ่ เริ่มต้นให้บริการครั้งแรกราวปี 2016 ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบนโยบายหลังการขาย หรือเข้ามาช่วยดูแลการจัดส่งสินค้าเต็มตัวเหมือนผู้ให้บริการอย่าง Lazada และ Shopee

 

เมื่อมาลุยตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทให้เช่าที่พักอาศัย เฟซบุ๊กเลยนำโมเดลเดียวกันนี้มาใช้กับ Marketplace Rentals ด้วย กล่าวก็คือพวกเขาไม่ได้เป็นนายหน้าช่วยติดต่อซื้อขายให้เช่าอสังหาฯ แต่ขออาสาเป็นพื้นที่ลงประกาศให้เช่าห้องพัก หรืออสังหาริมทรัพย์ในระยะยาวเพื่อผู้ใช้รายอื่นๆ ที่สนใจได้ค้นหาแทน

 

สาเหตุที่ต้องเป็นที่พักระยะยาว (Long Term Rentals) เริ่มต้นตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปก็เพื่อป้องกันการละเมิดกฎหมายการให้เช่าที่พักในบ้านเรา ต่างจากโมเดลของ Airbnb ที่ยังไม่ถูกกฎหมาย 100% โดยปัจจุบันพระราชบัญญัติโรงแรม ฉบับ พ.ศ. 2547 มาตรา 15 ระบุไว้ว่า

 

‘ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบธุรกิจโรงแรม เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด’

 

เฟซบุ๊กตัดปัญหาความวุ่นวายต่างๆ ด้วยการโฟกัสไปที่การเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้ได้ลงประกาศปล่อยเช่าที่พักระยะยาวแทน เช่นเดียวกับฝั่งผู้ใช้ที่สนใจเช่าที่พักก็สามารถค้นหาได้ทันทีบนแพลตฟอร์มได้อย่างสะดวกสบาย เลือกดูนโยบายที่พักแต่ละแห่งได้อย่างละเอียด ซึ่งในประเทศไทย เฟซบุ๊กจะทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์อย่าง Dot Property, Hipflat และ Property Flow แต่ก็ไม่ปิดกั้นการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์รายอื่นๆ ในอนาคต

 

วิธีที่จะคัดกรองด้านนโยบายความปลอดภัยประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่

  1. ใช้ AI ตรวจจับและลบคอนเทนต์ประเภทที่ไม่เหมาะสมที่จะเข้ามาอยู่ในหมวดหมู่การค้นหาที่พักบน Marketplace
  2. นำระบบการให้คะแนนผู้ซื้อและผู้เช่าเพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส
  3. ปรับปรุงระบบการรีพอร์ตเนื้อหาให้ดีขึ้นกว่าเดิม

 

นอกจากนี้ในส่วนการกรอกแบบฟอร์มระยะเวลาการให้เช่าที่พักก็จะบังคับให้เป็นการเช่าที่พักเฉพาะระยะยาวเท่านั้น (เริ่มต้นที่ 1 สัปดาห์ขึ้นไป) เพื่อป้องกันผู้ให้เช่าบางรายเปิดให้เช่าที่พักระยะสั้น

 

 

ทำไมไทยถึงเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้ใช้ฟีเจอร์นี้

หลังเปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกา เฟซบุ๊กก็เริ่มขยายพื้นที่ให้บริการ Marketplace Rentals ในหลายประเทศต่อมาเรื่อยๆ เช่น แคนาดา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร จนกระทั่งมาถึงคิวของไทย หนึ่งในประเทศที่ได้ชื่อว่านิยมซื้อขายของบนโซเชียลมีเดียมากที่สุดติดลำดับต้นๆ ของโลก และเตรียมจะได้ใช้งานฟีเจอร์ Rentals เวอร์ชันเต็มในช่วง 3-4 สัปดาห์ต่อจากนี้ มีให้เลือกทั้งภาษาไทยและอังกฤษ

 

แล้วทำไมไทยถึงเป็นประเทศแรกของเอเชียที่เฟซบุ๊กเริ่มปล่อยให้ใช้งานฟีเจอร์นี้

 

คำตอบง่ายๆ เลยคือไทยเป็นตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซที่มีศักยภาพมากสำหรับเฟซบุ๊ก และเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เกิด Marketplace ขึ้นมา เรื่องนี้ มายังค์ ยาดาฟ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์เฟซบุ๊กในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็ยืนยันด้วยตัวเอง พร้อมนำสถิติที่น่าสนใจมากางให้เราดูดังนี้

 

  • คนไทยใช้งานเฟซบุ๊กเฉลี่ย 51 ล้านรายต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนราว 2.55% ของผู้ใช้เฟซบุ๊กทั้งหมดที่ประมาณ 2 พันล้านราย ส่วนถ้านับเป็นรายวันจะมีผู้ใช้งานเฉลี่ยประมาณ 32 ล้านราย
  • ไทยเป็นประเทศ ‘Mobile First’ เน้นการทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านโทรศัพท์เป็นหลัก มีวัฒนธรรมการค้าขายบนโลกออนไลน์ที่คึกคัก และก่อให้เกิด Conversation Commerce (โซเชียล คอมเมิร์ซ) ผ่านการแชตบนแพลตฟอร์มต่างๆ
  • ปัจจุบันมีเพจในกลุ่ม SMEs สัญชาติไทยมากกว่า 2.5 ล้านเพจ ส่วน 93% ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กไทยก็ใช้เฟซบุ๊กเพื่อค้นหาแบรนด์สินค้า และบริการต่างๆ
  • ‘แฟชั่น’ คือหมวดหมู่สินค้าที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ในไทยสนใจมากที่สุด

 

เมื่อ Marketplace ในประเทศไทยได้รับความนิยมมาก การเพิ่มหมวดหมู่ ‘อสังหาริมทรัพย์’ ให้ผู้ใช้ในไทยได้เริ่มทดลองใช้เป็นประเทศแรกในเอเชียจึงถือเป็นการชิมลางตลาด และศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคไปพลางๆ โดยช่วงแรกเฟซบุ๊กจะยังไม่โฟกัสกับโมเดลการหาเงินเป็นหลัก แต่จะเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาใช้กันฟรีเพื่อหยั่งเชิงกระแสก่อน

 

วิธีใช้งานให้ไปที่หน้า Marketplace > แล้วเลือกแถบ Categories ใต้ช่องเสิร์ช > จากนั้นเลือก Rentals (ช่วงที่ให้บริการเต็มรูปแบบจะสามารถใช้งานฟีเจอร์เลือกพิกัดที่ต้องการค้นหาเพื่อเช่าพักอาศัยได้)

 

 

กระทบวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยแค่ไหน

แม้จะไม่ได้มีหน้าที่และเรียกตัวเองเป็น ‘นายหน้า’ โดยตรง แต่การที่เฟซบุ๊กเปิดแพลตฟอร์มให้กลุ่มคนทำธุรกิจอสังหารัมทรัพย์ได้มาใช้พื้นที่เพื่อติดต่อกับลูกค้า กลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เห็นทีจะหนีไม่พ้นบรรดา ‘นายหน้าอสังหาริมทรัพย์’ ในประเทศไทย

 

THE STANDARD ต่อสายตรงไปยัง สุรเชษฐ กองชีพ ผู้เชี่ยวชาญด้านวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย เพื่อขอความเห็นเพิ่มเติมจากกรณีดังกล่าว โดยได้รับคำตอบว่า นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในไทยน่าจะได้รับผลกระทบแน่นอนอยู่แล้ว แต่ในมุมกลับกันเขาเชื่อว่าบรรดาเอเยนต์อสังหาฯ เองก็น่าจะได้รับประโยชน์บางอย่างติดตัวไปเหมือนกัน หากเปิดใจทำความรู้จักกับฟีเจอร์ใหม่นี้ของเฟซบุ๊กจริงๆ

 

“ผลกระทบโดยตรงจริงๆ น่าจะเป็นกลุ่มนายหน้าอสังหาฯ ครับ เพราะเท่ากับว่าช่องทางนี้ของเฟซบุ๊กจะทำให้ผู้ให้เช่า-ผู้เช่า สามารถติดต่อกันได้โดยตรงเลย แต่ถ้านายหน้าเข้ามาศึกษาช่องทางนี้ดีๆ แล้วเก็บเป็นคลังข้อมูล (Database) ทั้งด้านขนาดห้อง ราคา แล้วประสานงานระหว่างตัวผู้ให้เช่าและผู้เช่าได้ก็จะเป็นประโยชน์กับพวกเขาได้เหมือนกัน

 

“ส่วนถ้ามองในวงกว้าง ผมว่าฟีเจอร์ใหม่ของเฟซบุ๊กนี้อาจจะไม่ส่งผลกระทบกับทั้งวงการอสังหาฯ ยกเว้นว่าหากในอนาคตเขาพัฒนาไปเรื่อยๆ จนเป็นไปในรูปแบบเดียวกับการซื้อขายของออนไลน์แบบเต็มระบบ เราก็อาจจะเห็นเฟซบุ๊กกลายเป็นแพลตฟอร์มนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แบบจริงจัง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าช่องทางนี้ของพวกเขาได้รับความนิยมจากผู้ใช้มากน้อยแค่ไหนด้วย”

 

จากความเห็นของสุรเชษฐอาจจะพอจะสรุปได้ว่า ณ วันนี้ถึงนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากฟีเจอร์ Marketplace Rentals อยู่บ้าง แต่หากสามารถปรับมุมคิดแล้วดึงข้อมูลจากเฟซบุ๊กออกมาพัฒนาต่อเป็นคลังข้อมูลก็น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับกิจการของตนเองได้

 

แล้วเราพอจะเห็นเค้าโครงอะไรบ้างจากการเปิดตัวฟีเจอร์ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์นี้ของเฟซบุ๊ก

 

เฟซบุ๊กเริ่มต้นจากการเป็นสื่อสังคมออนไลน์ แต่ในวันนี้เมื่อมีฐานผู้ใช้มากกว่า 2 พันล้านรายทั่วโลก พวกเขาจึงประยุกต์แพลตฟอร์มของตัวเองให้หลากหลาย เป็นมากกว่าแค่โซเชียลมีเดีย สร้างคอมมูนิตี้ของกลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องราวที่หลากหลายแตกต่างกันออกไปก่อนต่อยอดไปสู่การทำธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ

 

และแน่นอนว่าพวกเขาก็คงไม่หยุดอยู่แค่ ‘อสังหาริมทรัพย์’ อยู่แล้ว

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising