×

เราเรียนรู้อะไรจาก เอ็ม ชัยชนะ ไลฟ์สดทำร้ายแฟนสาว เมื่อเทคโนโลยีกลายเป็นอาวุธ ป้องกันอย่างไร

23.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • BuzzFeed เปิดสถิติอย่างไม่เป็นทางการของการใช้เฟซบุ๊ก (Facebook) สตรีมมิงไลฟ์สดเหตุการณ์ความรุนแรงทุกรูปแบบในสหรัฐอเมริกา พบว่ามีมากกว่า 45 ครั้ง หรือเฉลี่ยทุกๆ เดือนจะมีการไลฟ์สดเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านี้มากถึง 2 ครั้ง! (นับจนถึงมิถุนายน 2017) ส่วนที่ประเทศไทยแม้จะไม่มีการเก็บสถิตินี้อย่างเป็นทางการ แต่เหตุการณ์ทำนองนี้ก็เกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน!
  • อาจารย์มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ควรจะเป็นบทเรียนให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียระวังในการใช้งานมากขึ้น เนื่องจากทุกๆ การกระทำของคุณจะย้อนกลับมาส่งผลถึงคุณในอนาคต
  • ถึงแม้ปัจจุบันเฟซบุ๊กจะเริ่มนำ AI มาใช้ตรวจจับคอนเทนต์หรือโพสต์ที่มีความรุนแรง รวมถึงผู้ที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายในหลายๆ แห่ง แต่มันก็ยังทำงานได้ไม่ครอบคลุมทั่วโลกอยู่ดี ซ้ำร้ายหน่วยงานในประเทศไทยก็ยังไม่มีการทำงานร่วมกับเฟซบุ๊กอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอีกด้วย

2 ปีที่แล้ว (ม.ค.-ก.พ. 2016) เฟซบุ๊ก (Facebook) เพิ่มฟีเจอร์การไลฟ์สด (Live Streaming) ให้ผู้ใช้บนแพลตฟอร์มได้ใช้งานกันครั้งแรก โดยมีจุดประสงค์และความ ‘มุ่งหวัง’ ให้ผู้ใช้ เพื่อน และครอบครัวได้ร่วมแบ่งปันช่วงเวลาต่างๆ ร่วมกันแบบเรียลไทม์ รวมถึงเป็นช่องทางให้คนดัง บุคคลสาธารณะได้ติดต่อสื่อสารกับแฟนๆ อย่างใกล้ชิด

 

ปัจจุบัน Facebook Live กลายเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อผู้คนเข้าถึงกันแบบเรียลไทม์ได้ตามที่เฟซบุ๊กหวังไว้จริง ผู้ผลิตสื่อและแบรนด์จำนวนมากใช้ประโยชน์จากช่องทางนี้สื่อสารกับคนดูและผู้บริโภค แต่ในขณะเดียวกันมันยังถูกนำไปใช้ในเชิงไม่สร้างสรรค์ด้วย โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เราสามารถพบเห็นหญิงสาวนุ่งน้อยห่มน้อยเต้นประกอบดนตรีรีวิวครีม สบู่ หรือโปรโมตเว็บพนันกันเป็นปกติจนชินตา

 

ยังไม่นับรวมคอนเทนต์ความรุนแรงผิดกฎหมายรูปแบบอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่น ไลฟ์สดหนังลามก-อนาจาร, ลักลอบฉายหนังผิดลิขสิทธิ์, ขายสินค้าเถื่อนผิดกฎหมาย เรื่อยไปจนถึงไลฟ์สดฆ่าตัวตาย ทารุณกรรมสัตว์ หรือทำร้ายร่างกายมนุษย์ด้วยกัน

 

โดยเฉพาะกรณีหลังสุดที่กำลังเป็นประเด็นร้อนของสังคมไทยในตอนนี้ หลังวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุ เอ็ม-ชัยชนะ ศิริชาติ นักเทรดหุ้น อดีตแอดมินเพจ Global Fx Investment ไลฟ์สดทำร้ายร่างกายแฟนสาวด้วยการใช้สิ่งของทุบตีและด่ากราดด้วยถ้อยคำหยาบคายบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก

 

แม้ว่าสุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและทีมกู้ภัยจะบุกเข้าไปจับกุมตัวผู้ก่อเหตุพร้อมให้ความช่วยเหลือหญิงเคราะห์ร้ายก่อนเหตุการณ์บานปลายและเลวร้ายกว่าเดิมได้ทันการณ์ แต่ภาพของหญิงสาวคนดังกล่าวในสภาพอิดโรย ใบหน้าฟกช้ำจ้ำเลือดไร้เสื้อผ้าปกคลุมร่างกายก็ถูกเผยแพร่กระจายไปบนโลกออนไลน์แล้ว ผ่านสายตาผู้ใช้ที่ไม่อาจทราบแน่ชัดว่าในจำนวนนี้มี ‘เด็ก’ หรือเยาวชนปะปนรวมอยู่มากน้อยแค่ไหน?…

 

https://www.youtube.com/watch?v=enBk0X87OKk

 

เมื่อเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียถูกใช้เป็นอาวุธแพร่คอนเทนต์ความรุนแรง

มิถุนายนปีที่แล้ว BuzzFeed เปิดสถิติอย่างไม่เป็นทางการของการใช้เฟซบุ๊ก สตรีมมิงไลฟ์สดเหตุการณ์ความรุนแรงทุกรูปแบบในสหรัฐอเมริกา (การกราดยิง, ข่มขืน, ฆาตกรรม, รังแกเด็ก, ทรมาน, ฆ่าตัวตาย และการพยายามฆ่าตัวตาย) พบว่ามีเหตุการณ์ไลฟ์สดความรุนแรงเกิดขึ้นมาแล้วมากกว่า 45 ครั้ง หรือเฉลี่ยทุกๆ เดือนจะมีการไลฟ์สดเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านี้มากถึง 2 ครั้ง!

 

ขณะที่ประเทศไทย แม้จะไม่มีการเก็บสถิติอย่างเป็นทางการ แต่เหตุการณ์ความรุนแรงบนเฟซบุ๊กที่ตกเป็นข่าวในครั้งนี้น่าจะนับรวมเป็นเหตุการณ์ใหญ่ครั้งที่ 5 แล้ว ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วเกิดเหตุสื่อมวลชนใช้ช่องทางไลฟ์สดรายงานเหตุชายวัย 65 ปี ผูกคอฆ่าตัวตายบนเสาส่งสัญญาณ กรณีประท้วง คสช. ยกเลิกใช้ ม.44 กับวัดพระธรรมกาย, เมษายนปีเดียวกันเกิดเหตุสลดคุณพ่อวัย 21 ปีฆ่าลูกสาววัย 11 เดือน พร้อมไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กก่อนฆ่าตัวตายตาม

 

ตามมาด้วยวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงผ่านไลฟ์สดในทำนองเดียวกัน เมื่อนางสาวนิตยา สวัสดิวรรณ หญิงสาววัย 18 ปี ว่าจ้างวินมอเตอร์ไซค์ถ่ายคลิปไลฟ์สดช่วงเวลาที่เธอฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดจากสะพานพระราม 8 ลงแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่นานมานี้พนักงานโตโยต้า สาขาบ้านโพธิ์ ไลฟ์สดยิงตัวตาย

 

นี่ยังไม่นับรวมไลฟ์สดความรุนแรงอื่นๆ อีกมากมายที่อาจจะตกเป็นข่าวหรือไม่ได้ถูกนำเสนอ ทั้งกรณีการชกต่อย ท้าตบตีทำร้ายร่างกายที่รวมๆ กันแล้วน่าจะเกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมากไม่แพ้สถิติที่ BuzzFeed รวบรวมไว้แน่นอน

 

กรณีการไลฟ์สดฆ่าตัวตาย THE STANDARD เคยได้รับคำตอบจาก พ.ต.หญิง ดร.พนมพร พุ่มจันทร์ ว่าผู้ที่ก่อเหตุอาจจะมีความต้องการอยากบอกผู้คนให้รู้ถึงความเจ็บปวดที่เกิด หรืออยากให้คนเห็นคุณค่าของตนเอง มีความต้องการให้อีกฝ่ายเข้ามารับรู้ รวมทั้งสังคม (อ่านต่อได้ที่ thestandard.co/facebook-live-suicide)

 

ส่วนเหตุการณ์การทำร้ายร่างกายแล้วไลฟ์สดนั้น แม้เราจะไม่อาจทราบแน่ชัดว่าผู้ก่อเหตุความรุนแรงต่างๆ มีแรงจูงใจมาจากสาเหตุใด บันดาลโทสะ, คลุ้มคลั่งจากสารเสพติด, ต้องการประจานต่อหน้าสาธารณชนให้เหยื่ออับอาย หรือทุกสาเหตุรวมๆ กัน แต่อย่างน้อยที่สุดเหตุการณ์ในครั้งนี้ก็น่าจะเป็นหนึ่งในบทเรียนครั้งสำคัญของสังคมไทยที่ทุกคนควรจะได้เรียนรู้เพื่อเลี่ยงการเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต

 

 

บทเรียนที่สังคมไทยควรเรียนรู้ เมื่อช่องทางถ่ายทอดสดอยู่ในมือคนทุกคน ผลที่ตามมาอาจย้อนกลับมาทำลายคุณเอง

THE STANDARD ติดต่อไปยัง อาจารย์มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อกรณีดังกล่าว และได้รับคำตอบว่า ผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์ไลฟ์สดความรุนแรงควรจะรีบแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เข้าระงับเหตุโดยเร็ว และไม่ใช้วิธีแชร์ต่อคอนเทนต์

 

“การใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอยู่แล้วโดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงกับเพศหญิง เมื่อเราอยู่ในยุคสื่อสังคมออนไลน์ หรือการเผยแพร่คอนเทนต์ด้วยการไลฟ์สด การกระทำเช่นนี้ก็ยิ่งเป็นการประจานทั้งผู้ก่อเหตุและผู้ถูกกระทำ รวมถึงเผยแพร่ความรุนแรงออกไปในวงกว้างด้วย

 

“สำหรับผม นอกจากจะไม่อยากให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ถูกกระทำซ้ำขึ้นอีกหรือลอกเลียนแบบในอนาคต ผมมองว่าในฐานะผู้บริโภคที่อยู่บนโลกออนไลน์ก็ควรจะมีส่วนช่วยระงับเหตุการณ์ความรุนแรงให้เร็วที่สุดด้วยการไม่ใช่ช่วยกันแชร์ต่อ แต่อาจจะแจ้งตำรวจหรือแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องให้เข้าไปช่วยระงับปัญหาแทน”

 

มองในมุมของคนทำสื่อ อาจารย์มานะมองว่าสื่อมวลชนกระแสหลักเองก็ควรจะมีส่วนร่วมต่อการระงับการเผยแพร่คอนเทนต์ความรุนแรงทุกรูปแบบด้วย เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่ควรจะระมัดระวังการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น เนื่องจากผลของการกระทำทุกอย่างจะสะท้อนมาถึงตัวคุณเองในอนาคต

 

“เหรียญมันมีสองด้าน แม้สื่อมวลชนกระแสหลักจะบอกว่าตนนำเสนอคลิปไลฟ์สดความรุนแรงพวกนี้เพื่อเป็นการเตือนผู้พบเห็น แต่การเผยแพร่คลิปความรุนแรงออกไปก็เท่ากับเป็นการกระจายความรุนแรงในวงกว้างด้วย ฉะนั้นสื่อควรจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจจะทำให้ผู้ที่พบเห็นทำตามได้

 

“นอกจากคนแชร์ คนที่ชอบไลฟ์ก็ควรจะได้เรียนรู้ด้วยว่าอย่าใช้เครื่องมือสื่อสารหรือแพลตฟอร์มในทางที่ไม่เหมาะสมซึ่งจะมีผลย้อนกลับมาทำร้ายตัวคุณเองในอนาคต เข้าใจว่าบางครั้งคุณอาจจะอยู่ในอารมณ์โกรธ โมโห หรือต้องการแก้แค้น แต่เมื่อคุณได้กระทำบางอย่างแล้วเผยแพร่มันออกไปบนโลกออนไลน์ มันก็จะยิ่งเป็นการตอกย้ำความผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้หนักขึ้นด้วย ฉะนั้นจะโพสต์หรือถ่ายทอดสดอะไรก็ต้องคิดให้ดี อย่าให้สิ่งที่คุณทำส่งผลกระทบกับตัวคุณในอนาคต ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้กระทำเองหรือเป็นแค่คนที่อยู่ในเหตุการณ์แล้วถ่ายทอดสด มันก็ก่อให้เกิดปัญหากับตัวเองได้เช่นเดียวกัน

 

“ในอดีตสื่อมวลชนจะมีกองบรรณาธิการคอยกลั่นกรองเนื้อหา แม้กระทั่งการถ่ายทอดสดก็มีรถโมบายล์ที่ค่อยควบคุมว่าภาพไหนนำเสนอได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่ถ่ายทอดสดก็ออกอากาศได้ทุกอย่าง มันจึงมีกรอบกติกาการทำงานของสื่อมวลชนอยู่ แต่ในวันนี้ที่ใครๆ ก็สามารถเป็นสื่อมวลชนได้ คุณคือผู้ที่ทำหน้าที่เป็น ‘กองบรรณาธิการ’ ของตัวเอง ฉะนั้นกรอบหรือจรรยาบรรณการตัดสินใจมันจึงขึ้นอยู่กับคนถ่ายทอดสด คนที่ไลฟ์สดควรจะรำลึกอยู่เสมอว่า คอนเทนต์ที่คุณเผยแพร่ออกไปนั้นมีผลกระทบกับคุณและคนอื่นในโซเชียลมีเดียได้อย่างรวดเร็ว”

 

เฟซบุ๊กหรือเจ้าของแพลตฟอร์มมีวิธีดูแลพื้นที่ชุมชนของตนอย่างไร

ในฐานะเจ้าของบ้าน เฟซบุ๊กทราบดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนผู้ใช้งานของตน พวกเขารู้ว่าผู้ใช้บางรายใช้ฟีเจอร์การไลฟ์สดในทางที่ผิด รวมไปถึงการเผยแพร่เนื้อหาความรุนแรงรวมถึงการฆ่าตัวตาย ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้จบ

 

พฤศจิกายนปีที่แล้ว เฟซบุ๊กเคยออกมาเปิดเผยว่าบริษัทได้นำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาประยุกต์ใช้กับการมอนิเตอร์แพลตฟอร์มเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้งานที่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย โดยอาศัยการตรวจจับรูปแบบการโพสต์ข้อความหรือการไลฟ์วิดีโอสดที่มีแนวโน้มนำไปสู่การฆ่าตัวตายก่อนแจ้งผู้ดูแลในท้องที่ (ตำรวจ)  รวมถึงจัดตั้งทีมเฝ้าระวังหลายพันคนจากทั่วทุกมุมโลกร่วมกันสอดส่องสังคมผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก และตรวจจับกรณีการฆ่าตัวตายและทำร้ายตัวเองได้แบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมงเพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันการณ์

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เหมือนถูกจะคลี่คลายไปเปลาะหนึ่งกลับถูกนำกลับมายกระดับความสำคัญขึ้นให้เห็นชัดอีกครั้งในช่วงที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ขึ้นให้การต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา (สภาคองเกรส) ในยกที่ 2 กรณีเฟซบุ๊กกับความโปร่งใสและการใช้ข้อมูลผู้บริโภค

 

เมื่อ เดวิด แม็กคินลีย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา พรรครีพับลิกัน เวสต์เวอร์จิเนีย ตั้งคำถามถึงมาร์กว่า เจ้าตัวจะมีวิธีบริหารแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กอย่างไรให้คอนเทนต์จำพวกการขายสิ่งของผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสารเสพติดถูกกำจัดให้สิ้นซากจากระบบ

 

มาร์กตอบว่า ตนเห็นด้วยที่คอนเทนต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมเหล่านั้นควรจะต้องถูกกำจัดให้หมดไป ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดอาจจะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ใช้เฟซบุ๊กช่วยแจ้งทีมงานและกด Report เข้ามายังระบบ เพราะลำพังการใช้ทีมงานนั่งมอนิเตอร์เฟซบุ๊กทั่วโลกก็อาจจะไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง แต่ในอนาคตปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาช่วยปิดกั้นช่องโหว่นี้ได้อย่างหมดจด

 

“ปัจจุบันเมื่อมีผู้ใช้งานกดรายงานโพสต์ เราก็จะทำการตรวจสอบและกำจัดทันที เมื่อคอนเทนต์มากกว่า 10,000 ล้าน หรือ 100,000 ล้านชิ้นถูกแชร์บนระบบในทุกๆ วัน ถึงแม้จะมีผู้คนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบกว่า 20,000 คนก็ไม่สามารถสอดส่องได้ครบถ้วน สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือการสร้างเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ให้มากขึ้น เพื่อตรวจสอบค้นหาโพสต์เหล่านั้นและจัดการกับมันได้อย่างมั่นใจ”

 

 

จากกรณีข้างต้น THE STANDARD ได้ติดต่อไปยัง นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และกรรมการบริษัท ที่ปรึกษากฎหมาย ไพบูลย์ จำกัด เพื่อขอความเห็นเพิ่มเติม

 

นายไพบูลย์มองว่า กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงจริยธรรมของคนใช้สื่อและเทคโนโลยีในทางที่ผิดในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันเขาเชื่อว่าหากรัฐบาลไทยและเฟซบุ๊กมีการประสานงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดก็จะช่วยลดปัญหาการเผยแพร่เนื้อหาความรุนแรงบนโลกออนไลน์ลงได้แน่นอน

 

“ปัจจุบันคนมีปัญหาด้านจริยธรรมการใช้เทคโนโลยีพอสมควร เนื่องจากเทคโนโลยีเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์สิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งตัวรัฐบาลไทยเองก็น่าจะร่วมมือกับเฟซบุ๊กแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ดังนั้นก็ควรจะแก้ไขโดยด่วน”

 

ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคมปีที่แล้ว ได้มีการประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ออกมาทั้งหมด 21 มาตรา โดยมาตรา 16 ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ระบุไว้ว่า ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท (มาตรานี้น่าจะตรงกับกรณีของนายชัยชนะมากที่สุด)

 

นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า “ที่น่ากังวลคือ แม้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับ 2560 จะมีการประกาศมาตรการปิดบล็อกโดยกระบวนการทำงานและการพิจารณาของ ‘คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์’ ตามมาตรา 20 แต่ปรากฏว่าหลังจากที่ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ประกาศใช้มาแล้วปีกว่าๆ ก็ยังไม่มีการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเลย ทำให้การบังคับใช้กฎหมายด้านการควบคุมการเผยแพร่สื่อพวกนี้ไม่เกิดประสิทธิภาพ

 

“ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลจะต้องประสานงานกับเฟซบุ๊กเพื่อทำงานร่วมกัน เนื่องจากเฟซบุ๊กเองก็มีกลไกระงับการเผยแพร่คอนเทนต์ความรุนแรงได้ทันทีและพร้อมจะให้ความช่วยเหลือค่อนข้างดีอยู่แล้ว แต่เพราะหน่วยงานภาครัฐของเราไม่ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิด มันจึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น เราจึงควรจะต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้ เพราะเฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อการใช้งานของเรามากๆ”

 

จะเห็นได้ว่าปัญหา นายชัยชนะ ศิริชาติ ทำร้ายแฟนสาวในครั้งนี้ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสังคมไทย ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานระดับรัฐบาลหรือผู้ใช้อย่างเรา ก็ควรจะหามาตรการและทางออกแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นประเทศไทยก็คงไม่ต่างจากเรือที่ลอยวนอยู่ในอ่างไม่สามารถสลัดหลุดจากวังวนนี้ได้เสียที

 

จนในที่สุดเหตุการณ์นาย ก. ไลฟ์สดทำร้ายนาง ข. นาย ง. หรือนาง ช. ไลฟ์สดพยายามฆ่าตัวตายผ่านเฟซบุ๊กก็คงจะเวียนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้จบ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising