เฟซบุ๊ก ประเทศไทยเผย ช่วงเทศกาลสำคัญ (เดือนตุลาคม-ธันวาคม) แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมมีผลต่อการตัดสินใจช้อปปิ้งสินค้าและบริการที่ 91% และ 70% ตามลำดับ แนะผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs (SMB ในนิยามเฟซบุ๊ก) ทำคอนเทนต์ออร์แกนิกสร้างเอ็นเกจเมนต์กับลูกเพจเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ
วันนี้ (27 พ.ย.) เฟซบุ๊กได้เปิดเผยสถิติที่น่าสนใจว่า ณ ปัจจุบัน มีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 52 ล้านรายต่อเดือน และมีจำนวนผู้ใช้งานต่อวันมากกว่า 36 ล้านราย ในจำนวนของผู้ใช้งานรายเดือนที่ว่านี้ 98% หรือ 51 ล้านรายเข้าใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ
จากผลสำรวจของทีม Facebook IQ ที่ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคไทยที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปมากกว่า 1,500 ราย ในช่วงเทศกาลสำคัญ (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2017) พบว่า 39% เป็นกลุ่ม Mobile First Shopper หรือผู้ใช้ที่นิยมเลือกซื้อสินค้าบนโทรศัพท์มือถือเป็นอันดับแรก ซึ่งมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นแบบปีต่อปี 20% ปัจจัยบวกที่สำคัญคือการซื้อของบนมือถือง่าย สะดวกกว่าไปหน้าร้าน
มองกลุ่ม Mobile First Shopper ให้ลึกลงไปอีกขั้นจะพบว่า 60% เป็นผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล (อายุ 18-34 ปี) 38% เป็นผู้บริโภคกลุ่มเจนเอกซ์ (อายุ 35-54 ปี) ส่วนอีก 3% เป็นเบบี้บูมเมอร์ (อายุ 55 ปีขึ้นไป) และในช่วงเทศกาลสำคัญเช่นนี้ กลุ่มตัวอย่างตอบตรงกันว่าเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมมีผลต่อการตัดสินใจช้อปปิ้งของตนที่ 91% และ 70% ตามลำดับ
ส่งผลให้การแข่งขันของผู้ประกอบการในช่วงเทศกาลสำคัญยิ่งดุเดือดและทวีคูณความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็ต้องการหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ให้ได้ ประกอบกับรอบปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเองก็ได้ปล่อยฟีเจอร์โซเชียลคอมเมิร์ซออกมามากมาย เช่น Shop Section แถบร้านค้าเพื่อเลือกดูสินค้า, Messenger Payment ตัวช่วยจ่ายเงินบนเมสเซนเจอร์, Mark as Paid เพื่อให้ลูกค้าแจ้งว่าจ่ายเงินแล้ว และ Order Management เครื่องมือจัดการการออร์เดอร์
ส่วนอีก 2 ฟีเจอร์ที่เฟซบุ๊กแนะนำว่าสำคัญไม่แพ้กันคือ Click to Messenger Ads โฆษณารูปแบบใหม่ที่เมื่อคลิกลิงก์โฆษณาก็สามารถพูดคุยกับแบรนด์ หรือผู้ประกอบการได้ทันทีผ่าน Messenger, Dynamic Ads for Page Shop เครื่องมือยิงโฆษณาสินค้าที่ผู้ใช้งานแต่ละคนน่าจะสนใจออกไปให้แตกต่างกันแบบอัตโนมัติ (เหมาะกับผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์มากกว่า 10 ชิ้นขึ้นไป)
ชวดี วงศ์พยัต หัวหน้าฝ่ายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เฟซบุ๊ก ประเทศไทย เผยว่า “จะเห็นว่าโฆษณาบนเฟซบุ๊กเริ่มมีความ Personalize มากขึ้น เมื่อผู้บริโภคเป็น Mobile First Shopper ผู้ประกอบการจึงต้องเน้นการค้นพบใหม่ๆ บนมือถือ และใช้เครื่องมือต่างๆ ของเฟซบุ๊กให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยในช่วงเทศกาลที่การแข่งขันสูงเช่นนี้ การใช้ Dynamic Ads ที่มีความ Personal มาก ก็จะช่วยเพิ่มยอดขายให้ฝั่ง SMEs ได้”
นอกจากการซื้อโฆษณาแล้ว ชวดียังแนะนำให้ผู้ประกอบการ SMEs หรือแบรนด์ต่างๆ ทำออร์แกนิกคอนเทนต์ และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคให้ได้อย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่จะช่วยสร้างเอ็นเกจให้กับตัวลูกค้า และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวแบรนด์ในเวลาเดียวกัน
สำหรับภาพรวมของเทรนด์โซเชียลคอมเมิร์ซ ณ ปัจจุบัน เฟซบุ๊กให้ข้อมูลว่าไทยถือเป็นจุดกำเนิดของเทรนด์การซื้อขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียที่ปัจจุบันได้ลุกลามไปยังประเทศในกลุ่มทวีปอเมริกาใต้แล้ว และยังเป็นกรณีศึกษาให้ทีมงานเฟซบุ๊กได้เรียนรู้อีกด้วย ขณะที่อินโดนีเซียก็เป็นอีกหนึ่งประเทศในอาเซียนที่มีการเติบโตในเทรนด์โซเชียลคอมเมิร์ซพอๆ กับประเทศไทย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์