×

‘The Facebook Papers’ ซีรีส์บทความจากสื่อสหรัฐฯ ที่มาจากเอกสารภายในของ Facebook หนึ่งในบทความจาก CNN ชี้ปัญหาที่ Facebook ต้องแก้

26.10.2021
  • LOADING...
The Facebook Papers

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สื่อสหรัฐฯ รวม 17 แห่ง เริ่มเผยแพร่ซีรีส์เรื่องราวที่เรียกรวมกันว่า ‘The Facebook Papers’ ซึ่งอิงจากเอกสารภายในของ Facebook หลายร้อยฉบับที่รวมอยู่ในการเปิดเผยข้อมูลต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา และถูกส่งมอบแก่สภาคองเกรสโดยที่ปรึกษากฎหมายของ ฟรานเซส เฮาเกน อดีตผู้จัดการผลิตภัณฑ์ของ Facebook ซึ่งทำงานเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ของพลเมือง (Civic Integrity) และออกมาเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจนเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้

 

ตัวอย่างของสำนักข่าวที่ได้ตรวจสอบข้อมูลและรายงานในเรื่องนี้ เช่น กรณีของ CNN เองที่รายงานวิธีที่กลุ่มบน Facebook ที่มีการประสานงานนั้นสร้างให้เกิดความไม่ไว้วางใจและความรุนแรง ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์บุกเข้าอาคารรัฐสภาสหรัฐเมื่อ 6 มกราคม 2021 ที่ผ่านมา รวมถึงความท้าทายของ Facebook ในการกลั่นกรองเนื้อหาในบางประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ รวมถึงวิธีที่ผู้ค้ามนุษย์ใช้แพลตฟอร์มของ Facebook ในการเอาเปรียบผู้คน หรือเว็บไซต์ The Verge ที่รายงานส่วนหนึ่งว่า Facebook ตกใจกับข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับวัคซีนโควิดในหลายความคิดเห็นบน Facebook หรือ Bloomberg ที่รายงานส่วนหนึ่งว่าแม้ Facebook จะกล่าวถึงการลงทุนในเทคโนโลยีหรือวิศวกรที่จะทำให้เนื้อหาที่เป็นอันตรายนั้นพ้นไปจากแพลตฟอร์ม แต่บริษัทก็ตระหนักเป็นการภายในว่า ความพยายามเหล่านั้นมักจะล้มเหลว และข้อเสนอโดยพนักงานเพื่อแก้ไขปัญหาโดยปรับแต่งวิธีที่อัลกอริทึมของ Facebook ตัดสินใจว่าจะแสดงเนื้อหาใดก็มักจะถูกขัดขวางหรือถูกลบล้าง เป็นต้น

 

แต่ไม่ใช่เพียง CNN และสื่ออื่นๆ ที่ร่วมเผยแพร่เรื่องราวในซีรีส์นี้เท่านั้น ก่อนหน้านี้ The Wall Street Journal ก็ตีพิมพ์เรื่องราวอีกซีรีส์หนึ่งซึ่งมาจากเอกสารภายในของ Facebook นับหมื่นหน้าที่ได้มาจากเฮาเกนเช่นกันในชื่อซีรีส์ว่า ‘Facebook Files’ โดยทั้งเรื่องราวทั้งสองซีรีส์นี้อิงจากเอกสารเดียวกันจำนวนมาก ตัวอย่างของเรื่องราวใน Facebook Files อาทิ การกรองเนื้อหาของบุคคลวีไอพีด้วยระบบพิเศษ หรือการที่ Facebook ทราบว่า Instagram นั้นมีผลกระทบในเชิงลบกับผู้ใช้ที่มีอายุน้อย โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิง เป็นต้น ซึ่งกรณีผลกระทบต่อผู้ใช้งานอายุน้อยนี้เองก็ทำให้ แอนติโกเน เดวิส หัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยระดับสากลของ Facebook ต้องไปให้การในการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯ ด้วย

 

CNN ชี้ว่า แม้ Facebook เองจะพบกับเรื่องอื้อฉาวในแนวทางเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว การกำกับเนื้อหาหรือเรื่องคู่แข่ง แต่เอกสารจำนวนมหาศาลและเรื่องราวที่ถูกเปิดเผยออกมานั้นดูจะครอบคลุมไปถึงข้อกังวลและปัญหาในทุกส่วนของธุรกิจของ Facebook เลยทีเดียว โดย Facebook พยายามบอกว่า คำให้การของเฮาเกน ตลอดจนรายงานเกี่ยวกับเอกสารทั้งหลายนี้แสดงถึงลักษณะของการกระทำและความพยายามของ Facebook ผิดไป แถลงการณ์ของ Facebook ที่ส่งถึง CNN บอกว่า Facebook นั้นแม้จะทำธุรกิจและหากำไร แต่ความคิดที่ว่า Facebook ทำเช่นนั้นโดยแลกกับความปลอดภัยหรือความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนนั้นทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการจัดวางผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ของบริษัท ขณะที่รองประธานฝ่ายสื่อสารของ Facebook ระบุว่า Facebook Papers นั้นเป็นเอกสารที่ถูกคัดสรรมาแล้วจากเอกสารนับล้านที่ Facebook ซึ่งไม่สามารถใช้เพื่อสรุปเป็นข้อสรุปที่ยุติธรรมต่อ Facebook ได้ ซึ่ง CNN ตั้งคำถามถึงคำตอบนี้ว่าหาก Facebook มีเอกสารที่สามารถบอกเรื่องราวได้สมบูรณ์มากกว่า แล้วทำไมจึงไม่ปล่อยเอกสารเหล่านี้ออกมา อย่างไรก็ตาม เดวิสบอกว่า Facebook กำลังหาทางจะปล่อยงานวิจัยสู่สาธารณะมากกว่านี้

 

CNN ยังชี้ต่อไปว่า ความพยายามของ Facebook ในการรีแบรนด์ตัวเองภายใต้ชื่อใหม่ที่มีรายงานออกมาก่อนหน้านี้ชัดเจนว่า เป็นความพยายามที่จะเริ่มต้นใหม่หลังช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่การ ‘ทาสีใหม่’ ดังกล่าวจะไม่แก้ปัญหาต่างๆ ที่ระบุไว้ในเอกสารได้ มีเพียง Facebook (หรือบริษัทนี้ในชื่ออื่นในอนาคต) เท่านั้นที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ CNN ยังชี้ไปถึงการยังพบเนื้อหาบน Instagram ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มค้ายาเม็กซิกันอยู่เมื่อสัปดาห์ก่อน ทั้งๆ ที่ The Wall Street Journal รายงานถึงงานวิจัยของ Facebook เกี่ยวกับกลุ่มค้ายานี้ไว้ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน ซึ่งระบุว่า กลุ่มดังกล่าวเป็นหนึ่งในบุคคลและองค์กรอันตรายที่เนื้อหาเกี่ยวกับบุคคลหรือองค์กรเหล่านี้ควรถูกนำออกไป

 

ด้านหนึ่งเฮาเกนบอกว่า Facebook ล้มเหลวในการแก้ปัญหานี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะให้ความสำคัญกับผลกำไรมากกว่าผลประโยชน์ทางสังคม และในบางกรณี เนื่องจากบริษัทขาดความสามารถในการใช้เวลาจัดการกับสถานการณ์เร่งด่วนจำนวนมากในคราวเดียว แต่ Facebook ก็ระบุว่าได้ลงทุนกับการปรับปรุงความปลอดภัย เช่น ได้ลงทุนไปแล้วรวม 13,000 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2016 (ปีที่แล้ว Facebook มีรายได้ 85,000 ล้านดอลลาร์ และกำไร 29,000 ล้านดอลลาร์) หรือการมีพนักงานกว่า 40,000 คนที่ทำงานในด้านนี้ ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่ทำงานในการตรวจสอบเนื้อหาในมากกว่า 70 ภาษาทั่วโลก รวมกว่า 15,000 คนทั่วโลก หรือความพยายามจัดการกับเครือข่ายที่พยายามชักใยเรื่องการอภิปรายสาธารณะ เป็นต้น กระนั้นเอง CNN ก็ระบุว่า Facebook ยังมีงานที่ต้องทำอีกมากเพื่อขจัดความเสียหายทั้งหมดที่ระบุไว้ในเอกสาร จัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจจากการที่บริการของ Facebook เข้าถึงและผนวกเข้ามาในชีวิตประจำวันของพวกเรา

 

นอกจากผู้ใช้งานและหน่วยงานกำกับดูแลจะสูญเสียความเชื่อมั่นใน Facebook อย่างรวดเร็ว เอกสารภายในที่ถูกเปิดเผยยังชี้ว่า พนักงานเองก็มีความกังวลต่อการกระทำของบริษัท เช่น กรณีโพสต์ที่อยู่บนเว็บไซต์ภายในบริษัทที่ระบุว่าระดับความมั่นใจในความเป็นผู้นำลดลง ซึ่งโพสต์นี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2020 หลังทีมความซื่อสัตย์ของพลเมืองถูกสลายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และพนักงานถูกมอบหมายบทบาทอื่นในบริษัท อย่างไรก็ตาม เฮลเกนและผู้สนับสนุนของเธอก็ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการปิดหรือยุบบริษัท เธอยังบอกกับวุฒิสมาชิกระหว่างให้การว่าเชื่อในศักยภาพของ Facebook ในทางที่ดีหากบริษัทจัดการกับปัญหาร้ายแรงได้ หรือแม้แต่บอกว่าจะทำงานกับ Facebook อีกครั้งถ้ามีโอกาส ซึ่งนั่นก็เป็นคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงในอนาคตว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่กับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แห่งนี้

 

ภาพ: Jakub Porzycki / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X