×

เฟซบุ๊กแบนโพสต์โรฮีนจา ท่ามกลางโลกประณามเมียนมา ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ’ ชนกลุ่มน้อย

21.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • สื่อสังคมออนไลน์ระดับโลก ‘เฟซบุ๊ก’ แบนโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อการชาวโรฮีนจาออกจากระบบ ท่ามกลางกระแสนานาชาติประณามกองทัพเมียนมา ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ชนกลุ่มน้อยในประเทศ
  • เฟซบุ๊กปฏิเสธว่า ไม่ได้ทำตามคำร้องของรัฐบาลเมียนมา แต่มองตามท่าทีอันรุนแรงของกองกำลังปลดปล่อยโรฮีนจาอาระกัน (ARSA) อย่างปราศจากเหตุผลทางการเมือง
  • ฟิล โรเบิร์ตสัน (Phil Robertson) รองผู้อำนวยการ Human Rights Watch ประจำภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า ชาวโรฮีนจาถูกบีบให้ต้องออกมาพูดผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เนื่องจากสื่อส่วนน้อยในเมียนมาที่รายงานข่าวสถานการณ์รัฐยะไข่ถูกคว่ำบาตร

     สื่อสังคมออนไลน์ระดับโลกอย่าง ‘เฟซบุ๊ก’ แบนโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังติดอาวุธโรฮีนจาออกจากระบบ ท่ามกลางกระแสนานาชาติประณามกองทัพเมียนมา ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ชนกลุ่มน้อยในประเทศ

     เฟซบุ๊กปฏิเสธว่า ไม่ได้ทำตามคำร้องของรัฐบาลเมียนมา แต่เฝ้าระวังท่าทีอันรุนแรงของกองกำลังปลดปล่อยโรฮีนจาอาระกัน (ARSA) อย่างปราศจากเหตุผลทางการเมือง โดยมีคำสั่งให้ลบเนื้อหาใดๆ ที่ ‘มาจาก’ หรือ ‘ยกย่อง’ กลุ่มดังกล่าว

 

 

     ชาวมุสลิมโรฮีนจาเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีประชากรราว 1.1 ล้านคนในรัฐยะไข่ และกระจายไปตามที่อื่นๆ ในเมียนมา ขณะที่ ARSA ก่อตั้งขึ้นเมื่อตุลาคมปีก่อน พร้อมเรียกตัวเองในฐานะองค์กรนักรบเพื่ออิสรภาพของชาวโรฮีนจา

     กองทัพเมียนมาประกาศให้กองกำลังปลดปล่อยนี้มีสถานะกลุ่มก่อการร้ายอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังออกปฏิบัติการโจมตีสถานีตำรวจในรัฐยะไข่ ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 12 นาย

 

 

     เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นชนวนเหตุที่บานปลายถึงสถานการณ์ที่เวทีระหว่างประเทศเรียกว่า ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตามตำรา’ โดยปรากฏในพื้นที่รัฐยะไข่ที่ถูกโจมตีและเผาบ้านเรือน ฝ่ายกองทัพและฝ่ายกองกำลังต่างกล่าวหาอีกฝ่ายว่าเป็นผู้ก่อเหตุ

     นับตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน มีชาวโรฮีนจาอพยพเข้าบังกลาเทศประมาณ 400,000 คน พร้อมให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ว่า ทหารของกองทัพใช้ทั้งปืน ปืนใหญ่ และวางระเบิด

 

 

     เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ARSA ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวผ่านทวิตเตอร์ พร้อมเรียกร้องให้องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ เข้าช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ขณะที่ จอ เตย์ โฆษกรัฐบาลเมียนมาออกมาทวีตว่า ‘เราไม่มีนโยบายเจรจากับผู้ก่อการร้าย’

 

 

นโยบายเฟซบุ๊กถูกครหาอย่างต่อเนื่อง

     เฟซบุ๊กมีแนวทางในการแบนภาพที่มีเนื้อหารุนแรงหรือภาพโป๊เปลือยมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ช่วงตุลาคม 2016 เฟซบุ๊กทำการปรับเปลี่ยนมาตรฐานหลังถูกวิจารณ์ถึงการแบนภาพถ่ายเด็กหญิงเปลือยกำลังวิ่งหนีจากระเบิดนาปาล์มในสงครามเวียดนาม โดยเฟซบุ๊กยอมถอยพร้อมอนุญาตให้ภาพเนื้อหารุนแรงที่ ‘ควรค่าแก่การเป็นข่าว’ มีความน่าสนใจ หรือมีความสำคัญต่อประโยชน์สาธารณะ

 

 

     ถึงอย่างนั้น การแบนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังปลดปล่อยโรฮีนจาอาระกันยังคงดำเนินต่อไป โดยโมฮัมเหม็ด ราฟิก (Mohammed Rafique) นักเคลื่อนไหวชาวโรฮีนจาในไอร์แลนด์ เปิดเผยว่าตนถูกแบนจากเฟซบุ๊กชั่วคราวหลังโพสต์ภาพถ่ายการสังหารและทรมานผู้คนในหมู่บ้านโรฮีนจาหลายแห่ง

 

 

     โค โค ลินน์ (Ko Ko Linn) ผู้นำประชาคมโรฮีนจาในบังกลาเทศระบุว่า งานของเขาคือการบอกให้โลกรู้ถึงสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮีนจาถูกเฟซบุ๊ก ‘ขัดขวางอย่างโหดร้าย’ ด้วยการระงับการใช้งานบัญชีของเขาเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา

     ฟิล โรเบิร์ตสัน (Phil Robertson) รองผู้อำนวยการ Human Rights Watch ประจำภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า ชาวโรฮีนจาถูกบีบให้ต้องออกมาพูดผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เนื่องจากสื่อส่วนน้อยในเมียนมาที่รายงานข่าวสถานการณ์รัฐยะไข่ถูกคว่ำบาตร

 

 

Photo: Sam JAHAN, WAI MOE, STR, K M Asad, Jasmin RUMI/AFP

อ้างอิง:                                    

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising