Facebook ประเทศไทย ประกาศเปิดตัวโปรแกรมการตรวจสอบข้อมูลเท็จ โดยผู้ตรวจสอบภายนอกในประเทศไทย เพื่อรักษาความโปร่งใสบนแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง ลดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ และพัฒนาคุณภาพของข่าวสารที่ผู้คนอ่านบนโลกออนไลน์
วิธีการคือ Facebook จะร่วมมือกับสำนักข่าว AFP ซึ่งได้รับการรับรองโดยเครือข่ายการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับนานาชาติ (International Fact Checking Network หรือ IFCN) ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด โดยทาง AFP จะเข้ามาร่วมตรวจสอบและประเมินความถูกต้องของเรื่องราวบน Facebook รวมถึงรูปภาพและวิดีโอในประเทศไทย
เมื่อผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงภายนอกประเมินว่าเรื่องราวนั้นๆ เป็นเท็จก็จะปรากฏในฟีดข่าวน้อยลง ช่วยลดการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยปัจจุบัน AFP และ Facebook ได้ร่วมกันทำงานเพื่อตรวจสอบข่าวเท็จรวมในกว่า 20 ประเทศ
อันจาลี คาปูร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรข่าวประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Facebook กล่าวว่า “เราตระหนักดีว่าผู้คนต้องการเห็นข้อมูลที่ถูกต้องบน Facebook และเรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ประกาศถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของโปรแกรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยผู้ตรวจสอบภายนอก และได้ร่วมมือกับ AFP สำหรับโปรแกรมดังกล่าวในประเทศไทย
“เราเชื่อว่าโปรแกรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้จะช่วยให้เราสามารถสร้างชุมชนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วนมากยิ่งขึ้นในประเทศไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสขยายโปรแกรมนี้กับผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับท้องถิ่นในอนาคต”
นอกจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยผู้ตรวจสอบภายนอก Facebook ยังสนับสนุนความมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้ผู้คนมีทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการรับข่าวสารเพื่อการตัดสินใจอ่าน เชื่อ และแชร์ด้วยตนเอง ผ่านการสนับสนุนโปรแกรมด้านการพัฒนาทักษะในการรับข่าวสารต่างๆ ทั่วโลก การแชร์เคล็ดลับในการช่วยสังเกตข่าวปลอม และให้ข้อมูลเชิงบริบทแก่ผู้คนเกี่ยวกับโพสต์ที่พวกเขาเห็นในฟีดข่าว
ทั้งนี้ Facebook ได้เปิดตัวโปรแกรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยผู้ตรวจสอบภายนอกในเดือนธันวาคม 2559 และมีพันธมิตรกว่า 50 รายทั่วโลกในปัจจุบัน รวมถึง AFP โดยครอบคลุมกว่า 40 ภาษา
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์