ดูเหมือนว่าผลกระทบจากกรณีที่แบรนด์และบริษัทต่างๆ แสดงจุดยืนคว่ำบาตร Facebook ในประเด็นความบกพร่องในการจัดการกับคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาแสดงความเกลียดชังจะยังไม่ปรากฏอย่างชัดเจน เพราะล่าสุดวันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา Facebook ได้ออกมาเปิดเผยผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2 (เมษายนถึงมิถุนายน) และพบว่าผลงานโดยรวมของพวกเขายังอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ
โดย Facebook สามารถกวาดรายได้รวมในไตรมาสที่ 2 ไปทั้งสิ้น 18,687 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.83 แสนล้านบาท เติบโตจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วราว 11% แบ่งเป็นรายได้จากค่าโฆษณาที่ 98% (+10% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี) และรายได้อื่นๆ อีกราว 2% (+40% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี) และมีกำไรสุทธิที่ 5,178 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 98%
ด้านตัวเลขผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มแบบรายเดือน (MAUs) ได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้ามากถึง 12% โดยมีจำนวนทั้งสิ้นที่ 2.7 พันล้านราย โดยรายได้เฉลี่ยของบริษัทต่อผู้ใช้งานหนึ่งราย หรือ APRU ยังอยู่ที่ 7.05 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบเท่ากับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม Facebook กล่าวว่า “เรายินดีเป็นอย่างมากที่ได้ส่งมอบเครื่องมือที่จำเป็นให้กับผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กได้เติบโตและประสบความสำเร็จบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้
“นอกจากนี้เรายังภูมิใจที่ผู้คนสามารถพึ่งพาบริการของเราและเชื่อมต่อสื่อสารถึงกันในช่วงที่ไม่สามารถพบกันแบบตัวต่อตัวได้ (โควิด-19)”
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซีอีโอของ Facebook เพิ่งขึ้นให้การต่อคณะกรรมาธิการด้านการยุติธรรมแห่งสภาผู้แทนราษฎร (House Judiciary Committee) ในประเด็นการดำเนินธุรกิจที่เข้าข่าย ‘การผูกขาด’ โดยเฉพาะประเด็นการไล่ซื้อกิจการของสตาร์ทอัพที่มีแนวโน้มจะก้าวขึ้นมาสั่นคลอนความนิยมของ Facebook
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: