×

สมาคมฟุตบอล vs. สยามสปอร์ต บทเรียนราคา 450 ล้านบาท และความท้าทายของกัปตันทีม ‘สมยศ’

โดย THE STANDARD TEAM
17.07.2021
  • LOADING...
สมาคมฟุตบอล vs. สยามสปอร์ต

วงการฟุตบอลไทยกลับมาเป็นที่ฮือฮาอีกครั้งในทางที่ไม่สู้ดีนัก เมื่อสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถูกสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท เป็นจำนวนเงินกว่า 450 ล้านบาท

 

โดยค่าเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษมีคำพิพากษาคดี ที่สยามสปอร์ตอุทธรณ์คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จำเลย ชำระเงินให้แก่บริษัทสยามสปอร์ตจำนวน 450 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยฯ ในกรณีที่สมาคมลูกหนังโดยการนำของ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ยกเลิกสัญญาบริหารสิทธิประโยชน์ของสยามสปอร์ตอย่างไม่เป็นธรรม

 

เดิมสยามสปอร์ตได้รับการแต่งตั้งจากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ในสมัย วรวีร์ มะกูดี เป็นนายกสมาคม ให้เป็นผู้บริหารสิทธิประโยชน์ตั้งแต่ปี 2556-2565 แต่เมื่อ พล.ต.อ. สมยศ ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เมื่อ พ.ศ. 2559 ได้มีการสั่งยกเลิกสัญญาการบริหารสิทธิประโยชน์สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ

 

เหตุผลในการยกเลิกครั้งนั้น พล.ต.อ. สมยศ ระบุว่า สัญญามีความผูกขาด บางส่วนไม่ชัดเจน ไม่เป็นธรรมต่อสมาคมฯ

 

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้คดีที่ยาวนาน และดูเหมือนจะเป็นสงครามไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อต่างฝ่ายต่างดำเนินการยื่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่างกรรมต่างวาระกัน

 

สำหรับคดีที่เป็นข่าวใหญ่ครั้งนี้นั้นเป็นคดีที่ บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย โดยขอให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 1,400 ล้านบาท

 

ต่อมา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 โดยพิพากษาให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่สยามสปอร์ตจำนวน 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง และให้สยามสปอร์ตคืนเงินจำนวน 240 ล้านบาท แก่บริษัท ซีนีเพล็กซ์ จำกัด จำเลยที่ 20 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559

 

บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท ในฐานะโจทก์ ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษมีคำพิพากษาแก้เป็นว่า ให้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่บริษัทสยามสปอร์ตจำนวน 450 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (27 มิถุนายน 2560) ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ย 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินฯ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ ซึ่งศาลได้ออกคำบังคับให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน

 

ขณะที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ มีปฏิกิริยาตอบโต้ที่น่าสนใจ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพจ FA Thailand ได้มีการโพสต์ข้อความดังนี้

 

“สมาคมฯ อุทธรณ์กรณีฟ้องติดตามเอาทรัพย์สินคืนจาก บ.สยามสปอร์ต เนื่องจากไม่ส่งมอบเงินค่าสิทธิประโยชน์ระหว่างปี 2556-2558”

 

ตามที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ยื่นฟ้องบริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ ทป.179/2561 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ในข้อหาหรือฐานความผิด สัญญาสิทธิประโยชน์ ลิขสิทธิ์ ติดตามเอาทรัพย์สินคืน ทุนทรัพย์ 1,139,035,781.70 บาท

 

ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ให้สยามสปอร์ต จำเลย ชำระเงิน 99,266,754.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 46,986,598.84 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 เงินต้น 19,099,381.87 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 เงินต้น 33,180,773,64 บาท นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 10,000 บาท และยกฟ้องแย้ง

 

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ยังไม่เห็นพ้องด้วย ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 โดยขอให้พิพากษาให้สยามสปอร์ตชำระเพิ่มอีก 911,000,000 บาท หากศาลอุทธรณ์เห็นด้วย สมาคมก็จะรับเงินจำนวน 1,010 ล้านบาท บวกดอกเบี้ย

 

ทั้งนี้ คดีนี้เป็นกรณีที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ฟ้องเรียกค่าสิทธิประโยชน์ในช่วงที่สยามสปอร์ตเป็นผู้บริหารสิทธิประโยชน์ในระหว่างปี 2556-2558 ซึ่งเป็นคนละกรณีกับที่สยามสปอร์ตฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสมาคมบอกเลิกสัญญาในช่วงปี 2559 และศาลมิได้สั่งรวมสำนวน

 

อย่างไรก็ดี คดีที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ นำเรื่องคดีที่เป็นฝ่ายฟ้องร้องด้วยจำนวนเงินกว่า ‘พันล้าน’ ซึ่งดูมีเจตนาเพื่อโต้ตอบอย่างชัดเจน แต่ในทางกฎหมายแล้ว คดีนี้ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด ต่างจากคดีของทางฝ่ายสยามสปอร์ตที่คดีถึงที่สิ้นสุดแล้ว และศาลมีคำสั่งให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ต้องชำระเงิน 450 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย

 

เรื่องนี้ถือเป็นพายุลูกใหญ่ลูกใหม่ที่พัดโหมกระหน่ำใส่สมาคมฟุตบอลฯ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ. สมยศ อย่างต่อเนื่อง จากความล้มเหลวของทีมชาติไทยในยุคของเขา โดยเฉพาะการว่าจ้างโค้ชต่างชาติที่เสียเงินจำนวนมหาศาลกับ มิโลวาน ราเยวัช และ อากิระ นิชิโนะ ที่ผลงานสวนทางกับความคาดหวัง

 

สถานการณ์ของฟุตบอลไทยลีกก็ระส่ำหนัก โดยเฉพาะในช่วงโควิด ตั้งแต่ปีกลายที่ผ่านมา เมื่อมีการตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันมาใช้ปฏิทินแบบใหม่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับในทวีปยุโรป ซึ่งสวนทางกับปฏิทินฟุตบอลของทางประเทศแถบเอเชีย

 

ผลของการเลื่อนการแข่งขันดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อฟุตบอลไทยอย่างมหาศาล สโมสรฟุตบอลและนักฟุตบอลถูกแช่แข็ง ไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่ายล้วนๆ เป็นเวลานาน จนแทบล้มหายตายจากกันหมด ที่เหลือรอดก็ลมหายใจรวยริน

 

การเปลี่ยนตารางการแข่งขันยังกระทบถึงสัญญาการถ่ายทอดสดกับพันธมิตรเดิมอย่างทรูวิชั่นส์ ที่ถ่ายทอดสดการแข่งขันแค่สิ้นสุดระยะเวลาในสัญญา และเมื่อได้พันธมิตรรายใหม่ที่จะเข้ามาดูแลการถ่ายทอดสดในสัญญาระยะเวลายาวนานถึง 8 ปี ซึ่งก็ไม่มีประเทศใดในโลกที่ทำสัญญาระยะเวลายาวนานขนาดนี้ ที่สุดแล้วก็เกิดการ ‘เท’ กันกลางอากาศ โดยระบุว่า ‘เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์’ ไม่สามารถวางหนังสือค้ำประกันทันในเวลาที่กำหนด จึงยกเลิกสัญญา


และล่าสุดทางด้าน พล.ต.อ. สมยศ ออกมาเตือนสโมสรในไทยว่า อย่าคาดหวังว่าจะได้รับเงินสนับสนุนมากเท่าเดิม เพราะผลกระทบจากวิกฤตโควิดรุนแรงอย่างยิ่ง

 

เมื่อมองย้อนไป สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เหมือนทีมที่ถอยลงไปตั้งเกมรับในกรอบเขตโทษตัวเองอย่างเดียว โดยที่คู่แข่งต่างพากันโหมบุกกระหน่ำทุกทิศทาง มีสารพัดสารพันสิ่งที่ต้องจัดการแก้ไขทั้งในระยะใกล้และระยะไกล

 

เป็นความท้าทายที่หนักหน่วงและรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อ พล.ต.อ. สมยศ ในฐานะกัปตันทีม ว่าจะสามารถบัญชาเกม ช่วยพาทีมเอาตัวรอดจากวิกฤตการณ์ช่วงเวลานี้ได้อย่างไร

 

และคำถามที่สำคัญไม่แพ้กันที่ต้องตอบแฟนฟุตบอลไทยให้ได้

 

“จะรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดอย่างไร”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising