หลังจากที่เสียงนกหวีดสุดท้ายของการแข่งขันฟุตบอลซีเกมส์ 2017 ที่ประเทศมาเลเซียจบลง ก็ถือว่าเป็นการปิดฉากการแข่งขันฟุตบอลรายการใหญ่ และภารกิจในปีนี้สำหรับฟุตบอลทีมชาติไทยชุดยู 23 ปี บวกกับการที่ฟุตบอลทีมชาติไทยชุดใหญ่ได้ปิดฉากการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย รอบ 12 ทีมสุดท้าย ด้วยการบุกไปพ่ายออสเตรเลีย 1-2 เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา
แต่การพัฒนาฟุตบอลไทยยังคงเดินหน้าต่อไป โดยเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ก็ได้เปลี่ยนหัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลทีมชาติไทยชุดยู 23 หรือแชมป์ซีเกมส์สมัยล่าสุด เป็น โซรัน ยานโควิช (Zoran Janković) ผู้ช่วยของทีมชุดใหญ่ มารับหน้าที่ต่อจาก โค้ชโย่ง-วรวุฒิ ศรีมะฆะ ที่ได้อาสา เป็นผู้ช่วยโค้ช เพื่อเรียนรู้การทำงานจากโค้ชต่างชาติต่อไป
การตัดสินใจครั้งนี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างทีมชาติไทยทั้ง 2 ชุด โดย THE STANDARD ได้สัมภาษณ์ โค้ชเฮง-วิทยา เลาหกุล ประธานฝ่ายเทคนิคสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ถึงแผนการพัฒนาฟุตบอลทีมชาติไทยต่อจากนี้ หลังจากที่เรามี โค้ชทีมชาติไทยชุดใหญ่ ยู 23 รวมถึงฟุตบอลเยาวชนตั้งแต่รุ่นอายุไม่เกิน 14 ปี ถึง 21 ปี เป็นชาวต่างชาติทั้งหมด
โค้ชเฮง ได้เปิดเผยว่า การตัดสินใจให้โค้ชชุดยู 23 เป็นโซรัน ผู้ช่วยโค้ชทีมชาติไทยชุดใหญ่ เนื่องจากต้องการให้ฟุตบอลทีมชาติไทยทุกชุดเป็นไปตามระบบที่สมาคมได้วางแผนไว้
การวางระบบครั้งนี้คือแผนการพัฒนาที่ไปไกลในระดับอาเซียน และ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสการเรียนรู้ให้กับโค้ชชาวไทย ซึ่งทั้งตัวของ โค้ชเฮงและ โค้ชโย่ง ก็เห็นตรงกันในจุดนี้ การตัดสินใจครั้งนี้จึงเกิดขึ้น
โค้ชเฮงยังได้ยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการทำงานของฟุตบอลไทย นั่นคือฟุตบอลหญิง ซึ่งการทำงานของแต่ละชุดอาจยังไม่มีการประสานงานของทีมงานกันมากเท่าที่ควร
“ในฟุตบอลผู้หญิง ยกตัวอย่างทีม 16 ทำอย่างหนึ่ง 19 ทำอีกอย่าง และ ชุดใหญ่ก็ทำอีกอย่าง เพราะฉะนั้นหน้าตาทีมชาติในอนาคตอาจจะมีปัญหาในการพัฒนาได้”
โดยที่ผ่านมาแน่นอนว่าการฝึกซ้อมมีระบบอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ทางสมาคมจำเป็นต้องออกแบบแท็กติกให้ทีมชุดยู 21 ที่มี เอคโคโน ดูแล ฟุตบอลยู 23 และทีมชาติไทยชุดใหญ่ให้ไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถทดแทนกันได้
ปัญหาที่ทางสมาคมพบเจอก่อนหน้านี้ของการตั้งโค้ชคนเดียวคุมทีมชาติพร้อมกันคือ ความชัดเจนของนักเตะ เนื่องจากฟุตบอลทีมชาติไทยชุดใหญ่ และ ชุด 23 ต้องมีความชัดเจน ไม่สามารถโยกย้ายกันได้ทั้งชุด ตัวอย่างเช่นนักเตะอายุไม่เกิน 21 ปีจำเป็นต้องมีนักเตะอายุ 19-21 ปีที่มีความสามารถขึ้นมาเล่นในชุด 23 ปี ขณะที่ฟุตบอลชุด 21 ปี ก็ต้องเป็นเอคโคโน รับผิดชอบจัดการหานักเตะต่อไป
แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้ง 3 ชุดต้องมีเหมือนกันคือ แนวทางการเล่นและแท็กติก เพราะว่าทีมชาติไทยที่ผ่านมามีเวลาเตรียมการน้อยก่อนลงแข่งขัน ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาคือการเตรียมนักฟุตบอลในชุด 23 ปี ให้มีความคุ้นเคยกับแนวทางการเล่น ถ้าสามารถแก้ไขจุดนี้ได้ นักเตะชุดยู 23 เวลาถูกเรียกขึ้นมาใช้งานกับทีมชาติไทยชุดใหญ่ก็สามารถลงเล่นได้โดยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวมาก
“เราต้องการที่จะลดรอยต่อระหว่างทีม และ ลดเวลาการเตรียมพร้อมและความคุ้นเคยระหว่างนักเตะ” โค้ชเฮงได้กล่าวทิ้งท้ายการสัมภาษณ์ในครั้งนี้
โดยภารกิจของฟุตบอลทีมชาติไทยในปีหน้า มีฟุตบอลรายการสำคัญรออยู่นั่นคือ ฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน ซูซูกิคัพ 2018 และ ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียเยาวชนรุ่นอายุไม่เกิน 23 และทีมชาติชุดใหญ่มีทัวร์นาเมนต์ เอเอฟซี เอเชียน คัพ ในปี 2019 ที่ไทยห่างเหินมานานถึง 12 ปี ไว้เตรียมพร้อมก่อนศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในปี 2020
การเดินทางตลอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกปี 2018 ถือว่าเป็นบทพิสูจน์อะไรหลายอย่างกับขุนพลช้างศึก โดยเฉพาะระดับความสามารถของไทย ซึ่งเรากลับมาสู่ที่หนึ่งของอาเซียน แต่ระยะทางของเรากับทีมชั้นนำของเอเชียยังดูห่างไกลนัก แต่การลดช่องว่างระหว่างทีมชาติไทยในวันนี้ของสมาคม แม้จะเป็นการตัดสินใจเล็กเพื่อภาพรวมของการพัฒนาทีมชาติทั้งระบบ แต่อาจจะเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นสำคัญ สำหรับแผนการผ่านเข้าสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายของไทยในอนาคตก็เป็นได้
Photo: FA Thailand