×

ตลาดหมีสุดขั้ว บีบนักลงทุนแห่ตุนเงินสดกว่า 8.72 แสนล้านดอลลาร์ สูงสุดรอบ 20 ปี นับจากเหตุการณ์ 9/11

18.05.2022
  • LOADING...
นักลงทุน

นักลงทุนกำลังสะสมเงินสดแตะ 8.72 แสนล้านดอลลาร์ สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2001 ผลสำรวจจัดทำโดย Bank of America ระบุว่า นักลงทุนมองนโยบายการเงินของ Fed เป็นความเสี่ยงหลัก แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจและจะกดดันตลาดทุนทั่วโลก แซงหน้าความเสี่ยงภาวะสงคราม 

 

ผลสำรวจจาก Bank of America (BofA) ในเดือนพฤษภาคม ระบุว่า นักลงทุนเลือกจะถือเงินสดเป็นจำนวนมาก จนแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2001 หรือมากที่สุดในรอบ 20 ปีนับจากเหตุการณ์ 9/11 ซึ่ง BofA นิยามเรื่องนี้ว่า เป็นภาวะหมีสุดขั้ว (Extremely Bearish) โดยผลสำรวจพบว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้นักลงทุนมีเงินสดมูลค่า 8.72 แสนล้านดอลลาร์ภายใต้การบริหาร

 

สาเหตุที่ทำให้นักลงทุนเลือกถือเงินสดแทนการลงทุนก็คือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ถูกมองว่าเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาคือภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ในขณะที่ความกลัวต่อภาวะ Stagflation ได้เพิ่มสูงขึ้นถึงระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 

 

และสำหรับตลาดทุนทั่วโลกที่ปรับฐานลงอย่างหนักในสัปดาห์ที่ผ่านมา และยังเป็นการดิ่งลงครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกนั้น ต้นตอก็มาจากความกังวลต่อการดำเนินนโยบายของ Fed ที่เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ปลายสัปดาห์ที่แล้วจะเริ่มเห็นการรีบาวด์กลับของตลาดทุนทั่วโลกอยู่บ้าง เนื่องจากราคาสินทรัพย์ปรับตัวลดลงจนต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน จึงมีแรงซื้อกลับ แต่บรรดานักยุทธศาสตร์การลงทุนกลับมองว่ายังมีความเสี่ยงรออยู่อีกมาก โดย ไมเคิล วิลสัน นักยุทธศาสตร์การลงทุนจาก Morgan Stanley กล่าวว่า เมื่อมองไปข้างหน้ายังมีความเสี่ยงขาลงรออยู่อีกมาก 

 

ขณะที่ ไมเคิล ฮาร์ตเน็ตต์ นักยุทธศาสตร์จาก BofA ระบุในรายงานว่า แม้นักลงทุนจะเชื่อว่าหุ้นมีแนวโน้มที่รีบาวด์ขึ้นท่ามกลางภาวะตลาดหมีเช่นนี้ แต่การปรับฐานขาลงครั้งนี้ก็ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ยังไม่จบลงง่ายๆ 

 

ส่วน เคต มัวร์ จาก BlackRock และ มาร์โก โคลาโนวิก จาก JPMorgan Chase & Co มองว่า ความกังวลต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นมีมากเกินไป

 

ทั้งนี้ ผลสำรวจของ BofA ยังแสดงให้เห็นว่าหุ้นเทคโนโลยีอยู่ในโซนถูกขายครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2006 โดยหุ้นเทคโนโลยีได้ปรับตัวลดลงอย่างหนักในช่วงที่ตลาดหุ้นถูกขายเทกระจาดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตของธุรกิจเทค เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น 

 

ผลสำรวจชี้ว่า โดยรวมแล้วนักลงทุนถือเงินสดเป็นจำนวนมาก รวมถึงเข้าลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งเทขายหุ้นเทคโนโลยี หุ้นยุโรป และตลาดเกิดใหม่

 

นอกจากนี้ผลสำรวจเดือนพฤษภาคมยังพบว่า 

 

  1. นักลงทุนเชื่อว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างหนักในรอบนี้ โดยอยู่ในระดับ 7.9 ของผลสำรวจเดือนนี้ เทียบกับเดือนเมษายนที่อยู่ในระดับ 7.4
  2. ผู้จัดการกองทุนให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 ที่มีน้ำหนักลงทุนในหุ้น 13% เทียบกับเมื่อเดือนเมษายนที่มีน้ำหนักลงทุนในหุ้นมากกว่า 6% 
  3. นักลงทุนมีการปรับพอร์ตลงทุนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 โดยปรับไปให้น้ำหนักลงทุนในหุ้นสาธารณูปโภค สินค้าจำเป็น และสุขภาพ น้ำหนักรวมกันราว 43% 
  4. ความเสี่ยงด้านการเงินถูกมองว่าเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดที่จะมีผลต่อเสถียรภาพของตลาดการเงิน ซึ่งแซงหน้าความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
  5. สัญญาณ Fed ‘Put’ อยู่ที่ 3,529 สำหรับดัชนี S&P 500 ซึ่งต่ำกว่าระดับปัจจุบันประมาณ 12%
  6. สินทรัพย์ที่มีการซื้อขายคับคั่งที่สุดคือ น้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ (ฝั่งซื้อ) 28%, พันธบัตรรัฐบาล (ฝั่งขาย) 25%, หุ้นเทคโนโลยี (ฝั่งซื้อ) 14%, Bitcoin (ฝั่งซื้อ) 8%, หุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับ ESG (ฝั่งซื้อ) 7%, หุ้นจีน (ฝั่งขาย) 7% และถือเงินสด (4%)

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising