วันนี้ (28 มิถุนายน) แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงกรณีที่ เสรี สุวรรณภานนท์ รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมือง วุฒิสภา (ส.ว.) พร้อมคณะ กมธ. การพัฒนาการเมืองฯ เข้าหารือกับ อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. และคณะ กกต. โดยได้มอบหลักฐานการถือครองหุ้นสื่อของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ว่า
ความคืบหน้ากรณี กกต. สั่งให้ดำเนินการไต่สวนเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏต่อ กกต. ว่า พิธาเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากมีลักษณะต้องห้าม แต่ได้สมัครรับเลือกตั้ง อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 42(3) และมาตรา 151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทำงานของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนของสำนักงาน กกต.
ส่วนกรณีคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ มาหารือนั้น เป็นเรื่องเลือกตั้งในภาพรวม และมอบเอกสารที่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับคำร้องเรื่องหุ้นให้พิจารณาใช้ประโยชน์ ขณะที่การทำงานของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนของสำนักงาน กกต. ใกล้จะครบกรอบเวลาแล้วนั้น แหล่งข่าวระบุว่า อาจต้องขอขยายเวลา โดยต้องขอขยายเวลาอีก 15 วันผ่านเลขาธิการ กกต.
ด้าน เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือไปทางไปรษณีย์ถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบกรณีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 สำนักงาน กกต. โดย แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง มีหนังสือตอบกลับมายังตนเองว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่รับคำร้องของตนฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 66 ที่ยื่นร้องยุบพรรคก้าวไกลไว้ดำเนินการ
เนื่องจากไม่พบหนังสือคำร้องฉบับดังกล่าวในสารบบ พบเพียงหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 3 เมษายน 2566 ที่ยื่นร้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) ที่ส่งไปทางไปรษณีย์เท่านั้น
จึงต้องการให้ กกต. ตรวจสอบยืนยันว่า หนังสือคำร้องของตนที่ กกต. อ้างฉบับวันที่ 3 มีนาคม 2566 นั้นมีใจความว่าอย่างไร ถูกต้องตรงกับที่ กกต. อ้างถึงหรือไม่ และแจ้งผลการตรวจสอบให้ตนทราบด้วย
เรืองไกรยังระบุด้วยว่า ตามข่าวศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้อัยการสูงสุดตรวจสอบว่า ได้มีการรับหรือไม่รับคำร้องที่มีผู้ร้องขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่พรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเสนอเป็นนโยบายหาเสียง เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง หรือไม่
“ทำให้นึกถึงคำร้องที่เคยยื่น กกต. ซึ่งมีการตอบกลับมาแล้วว่า ไม่รับคำร้องไว้ดำเนินการ จึงต้องย้อนไปตรวจหนังสือ กกต. ที่ตอบกลับมา แต่ก็พบว่าหนังสือร้องของตนที่ กกต. อ้างถึงไม่มีในสารบบที่จัดเก็บไว้” เรืองไกรกล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่เรืองไกรมีการยื่นคำร้องต่อ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นไปเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนให้ยุติเรื่อง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีมูล เป็นการร้องให้ยุบพรรคก้าวไกลจาก 3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจะยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือ
- กรณีเว็บไซต์มติชนออนไลน์พาดหัวข่าวกรณี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ตอบคำถามว่า พรรคก้าวไกลจะมีนโยบายยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่
- กรณี อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล มีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยข้อความว่า จุดยืนเรื่องส่วนตัวและจุดยืนของพรรคก้าวไกลเรื่องมาตรา 112
- กรณีอมรัตน์โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยข้อความว่า #ยกเลิก112 “112 เป็นกฎหมายหรือเปล่า ถ้าเป็น…ต้องแก้ไขให้เหมาะสมกับยุคสมัยได้ ไปจนถึงต้องยกเลิกได้ ถ้าวันหนึ่งข้างหน้าสังคมมีฉันทามติร่วมกัน หยุดลิดรอนเสรีภาพในการรณรงค์แสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย”