×

สรท. หั่นเป้าส่งออกปีนี้จาก 15% เหลือ 10% หลังปัจจัยลบรุมเร้า วอนรัฐเร่งฉีดวัคซีนป้องกันการระบาดลุกลามการผลิต

09.08.2021
  • LOADING...

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การส่งออกในปีนี้ลงจาก 15% เหลือ 10% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญกับปัจจัยลบสำคัญใน 4 ประเด็นซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการส่งออก ได้แก่ ปัญหาการระบาดโควิดที่ยังมีความรุนแรงในประเทศ ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า ปัญหาการขาดแคลนชิปคอมพิวเตอร์ และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

 

ปัจจัยแรก เรื่องสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีการแพร่กระจายเข้าสู่กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งกระทบต่อกำลังการผลิตและการส่งมอบสินค้าบ้างแล้ว ขณะที่การฉีดวัคซีนในประเทศยังคงล่าช้า และมีการกระจายวัคซีนในต่างจังหวัดที่น้อยมาก

 

“เรื่องนี้คือสิ่งที่เรากังวลมากที่สุด แม้ว่าภาครัฐจะใช้มาตรการล็อกดาวน์แล้ว แต่ถ้ายังไม่มีวัคซีนปัญหาจะไม่จบ สำหรับมาตรการ Bubble & Seal เราพบว่าโรงงานขนาดใหญ่สามารถทำได้โดยไม่มีปัญหา แต่ในกลุ่มโรงงานขนาดกลางและเล็กอาจไม่สามารถดำเนินการได้และมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเตียงสูงถึง 6,000 บาท ซึ่งภาครัฐไม่สามารถสนับสนุนได้ทั้งหมด ถ้าโรงงานใหญ่ทำได้แต่โรงงานกลางและเล็กทำไม่ได้ Supply Chain ก็ยังมีโอกาสถูกกระทบอยู่ดี มาตรการนี้ไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่” ชัยชาญกล่าว

 

ปัจจัยที่สอง เรื่องตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า พบว่าปริมาณความต้องการตู้สินค้ายังไม่เข้าสู่ภาวะสมดุล ปริมาณการหมุนเวียนของตู้สินค้ายังไม่เพียงพอ ประกอบกับค่าระวางเรือยังคงปรับตัวอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยค่าระวางการขนส่งสินค้าทางทะเลยังมีการปรับขึ้นในเกือบทุกเส้นทางโดยเฉพาะเส้นทางยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวขึ้นไปถึง 12,000-15,000 ดอลลาร์ต่อตู้แล้ว ขณะที่สายเรือก็ใช้โอกาสเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มมากขึ้น อาทิ Peak Season Surcharge (PSS) ซึ่งแม้บางบริษัทยอมจ่ายอัตราพรีเมียม แต่ก็ยังไม่ได้ตู้สินค้า รวมถึงผู้ส่งออกที่ได้รับการยืนยันตู้แล้วก็อาจถูกยกเลิกก่อนกำหนด ทำให้ผู้ส่งออกไทยอาจไม่สามารถส่งออกได้ตามเป้า 

 

ปัจจัยที่สาม เรื่องชิปคอมพิวเตอร์และเซมิคอนดักเตอร์ พบว่ายังประสบปัญหาขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ทำให้ไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตหรือความต้องการของตลาดโลก

 

และปัจจัยสุดท้าย คือ เรื่องแรงงานขาดแคลน เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกทำให้ความต้องการแรงงานในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น แต่แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศและยังไม่ได้เดินทางกลับเข้ามา ประกอบกับยังไม่สามารถจัดสรรวัคซีนโควิดให้เพียงพอกับจำนวนแรงงานในภาคการผลิต ทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทวีความรุนแรงมากขึ้น 

 

“เดิมเรามองว่าส่งออกในปีนี้อาจขยายตัวได้ 15% แต่นั่นหมายถึงทุกเดือนที่เหลือของปีนี้ เราจะต้องส่งออกได้มูลค่าไม่ต่ำกว่า 22,300 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน และต้องเดินสายการผลิตเต็มที่ แต่จากปัจจัยลบที่รุมเร้าการจะดันตัวเลขส่งออกให้ได้เท่านั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงปรับลดประมาณการส่งออกในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 10%” ชัยชาญกล่าว

 

ชัยชาญกล่าวอีกว่า สรท. มี 4 ข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้องให้กับภาครัฐ โดยข้อแรก คือ สรท. ไม่เห็นด้วยกับมาตรการ Fully Lockdown โดยขอยกเว้นให้ภาคการผลิตและกิจกรรมโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและนำเข้า เช่น การปฏิบัติงานของท่าเรือ การขนส่งสินค้าเข้าสู่ท่าเรือ ยังสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง เพราะมีผลต่อสัญญาการค้าระหว่างประเทศ และหลายธุรกิจมีสัดส่วนการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศ หากมีการหยุดประกอบการ จะส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศตามมาในที่สุด 

 

ข้อสอง เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งบริหารจัดการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะแรงงานภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกให้เร็วที่สุด ข้อสาม เรียกร้องให้มีการปรับใช้มาตรการทางสาธารณสุขที่เป็นมาตรฐานเดียวจากส่วนกลาง เพื่อให้สามารถดำเนินการเหมือนกันในแต่ละพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะกรณีโรงงานที่มีพนักงานอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และข้อสุดท้าย สรท. เรียกร้องให้หน่วยงานราชการเร่งปรับปรุงการทำงานในการจัดการด้านเอกสารออนไลน์ และการขออนุญาตใบรับรองเพื่อการส่งออกนำเข้าผ่านระบบ National Single Window เพื่อลดการสัมผัสจากการเข้าไปติดต่อราชการ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising