Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์สถานการณ์การส่งออกของไทย โดยมูลค่าการส่งออกเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา หดตัวลง 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ถือเป็นการขยายตัวติดลบเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) ภาพรวมการส่งออกหดตัวถึง 4.2% ปัจจัยที่ชัดเจนคือ สินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าส่งออกของจีน ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ เช่น คอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ ติดลบถึง 10.6% ยางพาราติดลบ 32% และแผงวงจรไฟฟ้า ติดลบ 4%
นอกจากนี้ยังมีสินค้าประเภทอื่นที่ส่งสัญญาณชะลอตัว เช่น รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 4.0% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ หดตัว 12.3% ขณะที่สินค้าสำคัญในหมวดเกษตรคือ ข้าว น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ก็หดตัวเช่นเดียวกัน ส่วนสินค้าที่ยังขยายตัวได้คือ ผลไม้สด-แช่เย็น-แช่แข็งและแห้ง เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และไก่ เป็นต้น
หากพิจารณาเป็นรายตลาดพบว่า การส่งออกในหลายตลาดสำคัญยังคงมีการหดตัว เช่น จีน อาเซียน สหภาพยุโรป และตะวันออกกลาง ขณะที่การส่งออกในบางตลาดสำคัญยังคงขยายตัวได้ เช่น CLMV สหรัฐฯ และอินเดีย มูลค่าการนำเข้าก็หดตัวเช่นกันที่ 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เกิดจากการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่ลดลงเป็นสำคัญ ซึ่งลดลงถึง 12.8% ขณะที่การนำเข้าสินค้าสำคัญประเภทอื่นยังคงขยายตัว ได้แก่ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น
EIC จึงปรับลดคาดการณ์มูลค่าส่งออกปี 2019 เหลือขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.6% จากเดิมคาดที่ 2.7% เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในช่วง 4 เดือนแรกหดตัวถึง 4.2% ซึ่งสูงกว่าคาด นอกจากนี้สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่กลับมาปะทุอีกครั้ง ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ยังกดดันภาพรวมเศรษฐกิจอยู่ คาดว่าการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของสินค้าส่งออกของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าส่งออกจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมของสหรัฐฯ และยังรวมถึงผลกระทบทางอ้อมผ่านแนวโน้มการค้าและการลงทุนของโลกที่มีทิศทางชะลอตัวเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับมูลค่านำเข้าปี 2562 EIC ปรับลดคาดการณ์เช่นเดียวกัน จาก 3.2% เป็น 0.8% โดยมีสาเหตุหลักจากคาดการณ์การส่งออกที่ลดลง ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลต่อเนื่องทำให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกชะลอลงตาม นอกจากนี้ราคาสินค้านำเข้าในช่วงไตรมาสแรกที่ออกมาต่ำกว่าที่คาด ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าจะขยายตัวชะลอลงมากกว่าที่ประมาณการเอาไว้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์