×

เสียงระเบิด-ปืนดังในเมืองหลวงซูดาน เกิดการเผชิญหน้าระหว่างกองทัพและกองกำลังกึ่งทหาร

โดย THE STANDARD TEAM
15.04.2023
  • LOADING...
การสู้รบ ในซูดาน

เกิดเสียงระเบิดและเสียงปืนดังขึ้นในกรุงคาร์ทูม เมืองหลวงของซูดาน ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างกองทัพและกองกำลังกึ่งทหารที่ดำเนินมานานหลายวัน 

 

มีรายงานเหตุการณ์สู้รบเกิดขึ้นในวันนี้ (15 เมษายน) ใกล้กับกองบัญชาการกองทัพซูดานและกระทรวงกลาโหม กลางกรุงคาร์ทูม ตลอดจนใกล้กับทำเนียบประธานาธิบดีและสนามบิน

 

ผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวกับสำนักข่าว Al Jazeera ว่า เกิดการเผชิญหน้า รวมทั้งได้ยินเสียงระเบิดและเสียงปืนดังขึ้นใกล้ฐานที่มั่นของกองกำลังกึ่งทหาร Rapid Support Forces (RSF) ทางตอนใต้ของกรุงคาร์ทูม และเห็นกลุ่มควันพวยพุ่งออกมาจากสถานที่ต่างๆ ในเมือง รวมถึงสนามบิน ขณะที่ทหารเคลื่อนกำลังพลไปตามท้องถนน ด้านพลเรือนวิ่งหาที่หลบภัยท่ามกลางเสียงปืนใหญ่ดังกึกก้อง

 

RSF ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหารที่ทรงอำนาจในซูดาน กล่าวว่า กองกำลังได้เข้าควบคุมสนามบินหลัก ทั้งยังยึดสนามบินอีก 2 แห่งในเมืองเมโรเว ทางตอนเหนือ และเมืองเอล-โอเบด ทางตอนใต้ ตลอดจนเข้าควบคุมทำเนียบประธานาธิบดีได้โดยสมบูรณ์

 

“ในวันเสาร์ กองกำลังขนาดใหญ่จากกองทัพบุกเข้ามาในค่ายของเราในเขตโซบาของกรุงคาร์ทูม และปิดล้อมกองกำลังกึ่งทหารเอาไว้” RSF ระบุในแถลงการณ์ พร้อมทั้งกล่าวด้วยว่า กองทัพเป็นฝ่ายเปิดฉากการโจมตีอย่างรุนแรงด้วยอาวุธหนักและเบาทุกประเภท

 

อย่างไรก็ตาม โฆษกกองทัพซูดานกล่าวว่า กองกำลังกึ่งทหารเป็นฝ่ายโจมตีค่ายทหาร

 

“นักรบจาก RSF โจมตีค่ายทหารหลายแห่งในคาร์ทูมและที่อื่นๆ รอบซูดาน” นายพลจัตวา นาบิล อับดุลเลาะห์ กล่าว พร้อมทั้งระบุว่า “การปะทะยังคงดำเนินต่อไป และกองทัพกำลังปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องประเทศ”

 

อย่างไรก็ดี สำนักข่าว Al Jazeera รายงานว่า ยังไม่สามารถยืนยันคำกล่าวอ้างของ RSF ได้ในขณะนี้ 

 

ขณะที่หน่วยข่าวกรอง General Intelligence Service ของซูดานปฏิเสธว่า ทำเนียบประธานาธิบดีไม่ได้ถูกยึด

 

ความแตกแยกระหว่างกองทัพซูดานและกองกำลัง RSF ปรากฏขึ้นในวันพฤหัสบดี เมื่อกองทัพกล่าวว่า การเคลื่อนไหวล่าสุดของ RSF นั้นผิดกฎหมายและไม่มีการประสานงานก่อน

 

ก่อนหน้านี้ผู้นำกองทัพและ RSF ต่างบอกว่า ทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะดำเนินการเพื่อลดระดับความรุนแรง

 

สถานการณ์ตึงเครียดที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้เกิดจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับวิธีการรวม RSF เข้ากับกองทัพ และหน่วยงานใดควรดูแลกระบวนการนี้ การควบรวมดังกล่าวเป็นเงื่อนไขสำคัญของข้อตกลงการเปลี่ยนผ่านที่ยังไม่มีการลงนามของซูดาน

 

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันระหว่างกองทัพกับ RSF ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยของประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาชีร์ ผู้นำเผด็จการที่ปกครองซูดานติดต่อกันนาน 3 ทศวรรษ จนประชาชนออกมาประท้วงขับไล่ และถูกกองทัพซูดานทำรัฐประหารยึดอำนาจในที่สุดเมื่อปี 2019

 

ภาพ: Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising