×

สำรวจบทเรียนเรื่องรักๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

14.02.2020
  • LOADING...

เมื่อวันวาเลนไทน์มาถึง เราคงนึกถึงวันที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งความรัก ดอกกุหลาบ ช็อกโกแลต และอื่นๆ ที่คู่รักต่างสรรหามามอบให้เพื่อเติมเต็มความรักให้แก่กันและกัน 

 

นอกเหนือจากความรักโรแมนติกอย่างสุดซึ้งระหว่างความสัมพันธ์ (Relationship) ของคนสองคน ในโลกอีกใบคือโลกของการเมืองระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations[ship]) ก็ไม่แตกต่างกันสักเท่าไร นอกจากความสัมพันธ์ที่มีทั้งร่วมมือและขัดแย้งแล้ว ถ้ากล่าวเทียบรัฐต่างๆ คือคน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่างๆ ก็มีทั้งรัก เกลียด กลัว ไว้วางใจ ไม่ไว้ใจ สงสาร อิจฉา หรือตีตัวออกห่างเหมือนกับความความสัมพันธ์ของคู่รักเช่นกัน

 

Photo: Rawpixel.com / Shutterstock

 

หากพูดถึงความสัมพันธ์ในเชิงรักโรแมนติก ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทฤษฎีสัจนิยม (Realism) ให้ความสําคัญกับ ‘พันธมิตร’ (Alliance) เป็นสิ่งสําคัญที่รัฐต้องแสวงหา รักใคร่ และกลมเกลียว เพราะพันธมิตรจะนํามาซึ่งผลประโยชน์เพื่อถ่วงดุลทางอํานาจกับรัฐที่เข้มแข็งกว่า และความสัมพันธ์จะแนบแน่นลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าร่วมมือกับพันธมิตรอย่างจริงจังโดยการจัดตั้งเป็นองค์กรหรือสถาบันขึ้นมา 

 

แต่การมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งใกล้ชิดสนิทสนมมาก ก็ต้องพึงระมัดระวังเช่นกัน นักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเตือนว่า เราก็อาจเผชิญกับการถูกทอดทิ้งหรือตกอยู่บนหลุมพรางได้ เพราะถ้าเรายิ่งกลัวว่าจะถูกพันธมิตรทิ้งมากเท่าไร เราก็จะยินยอมถูกลากเข้าไปสู่ข้อผูกมัดที่เราไม่ได้คาดคิดมาก่อนได้ เปรียบได้กับความสัมพันธ์ของคู่รักที่ฝ่ายหนึ่งยอมทำทุกอย่างเพื่อให้เรายังมีเขาอยู่ และสุดท้ายก็อาจถูกหลอกได้ ดังนั้นจึงต้อง ‘รักอย่างมีสติ’

 

นักทฤษฎีสัจนิยม เช่น เคนเน็ธ วอลซ์ และ จอห์น มีร์ไชเมอร์ มีความเชื่อว่า ระบบสองขั้วอํานาจ (Bipolar) จะมีเสถียรภาพและความมั่นคงกว่าระบบหลายขั้วอํานาจ (Multipolar) โดยระบบสองขั้วอํานาจจะมีสันติภาพที่ยาวนานกว่า อย่างเช่นในยุคของสงครามเย็น มีร์ไชเมอร์มองว่าการที่โลกตกอยู่ในสภาวะสงครามเย็นจะเป็นการประกันสันติภาพให้กับโลก เพราะสามารถที่จะคาดเดาสถานการณ์ต่างๆ ได้ง่ายกว่าการอยู่ภายใต้หลายขั้วอํานาจ 

 

Photo: Bogdan Khmelnytskyi / Shutterstock

 

ดังนั้นหากมีการเพิ่มตัวแสดงหลักเข้ามาใหม่ในระบบ เมื่อขั้วอํานาจเปลี่ยนจากสอง เป็นหลายขั้วอํานาจ หรือดุลอํานาจเปลี่ยน ต้องระวัง เพราะอาจจะนําไปสู่จุดวิกฤต เกิดความขัดแย้งและสงครามได้ รวมถึงไม่มีเสถียรภาพของพันธมิตรเดิมด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์ของคู่รัก ถ้าวันดีคืนดีฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนจากความสัมพันธ์แบบ ‘เรามีเรา เป็นเราสามคน’ ชีวิตรักและความสัมพันธ์อันดีเสมอมาอาจพังทลายลงไปได้ นอกเสียจากว่าจะใช้ความรักและความอดทน จนสามารถทําให้การเปลี่ยนแปลงนี้ผ่านไปได้ด้วยดี

 

เป็นที่ยอมรับว่าแม้ในความสัมพันธ์ที่ดี รักกันมากที่สุดก็ยังมีช่วงเวลาที่ระหองระแหงกันบ้าง เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น มนุษย์เราถ้ารักกันและกันอย่างลึกซึ้ง บางครั้งเราก็พยายามอย่างมากที่จะทําความเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งว่าเขาต้องการอะไร และทําไมถึงแสดงการกระทําแบบนั้นออกมา 

 

ในการพยายามเข้าใจหรือตีความการกระทําของอีกฝ่ายหนึ่งในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โรเบิร์ต เจอร์วิส ได้กล่าวถึงเรื่อง ‘การรับรู้ที่ผิดพลาด’ (Misperception) โดยได้อธิบายว่า การรับรู้ท่ีผิดพลาดเป็นการสร้างความเข้าใจท่ีผิดต่อพฤติกรรมของรัฐอื่น ด้วยการสร้างภาพจากความรู้สึกหวาดระแวง เนื่องจากสภาพการเมืองระหว่างประเทศมีรากฐานอยู่บนความเป็นอนาธิปไตย (Anarchy) การรับรู้ท่ีผิดพลาดนั้นอันตรายมาก เพราะอาจนํามาซึ่งทัศนะในการมองว่าอีกฝ่ายเป็น ‘ภัยคุกคาม’ (Threat) ซึ่งทําให้เกิดความขัดแย้งและสามารถลุกลามกลายเป็นสงครามได้ในที่สุด แม้ว่ารัฐฝ่ายตรงข้ามจะมิได้มีเจตนาเช่นน้ันก็ตาม 

 

Photo: Dragon Images / Shutterstock

 

เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของคู่รัก หากมีความหวาดระแวงเกิดขึ้น เมื่อมีอีกฝ่ายกังวลใจ คิดมาก จนควบคุมตนเองไม่ได้ อาจจะนําไปสู่การทะเลาะและการเลิกรากันในที่สุด ดังนั้นถ้าต้องการจะสานสัมพันธ์ให้ยาวนานต่อไป ควรคิดใหม่ว่า ‘ถ้าคิดจะรัก โปรดอย่าระแวง’

 

อีกหนึ่งแนวคิดทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่นํามาใช้เพื่อรักษาความสัมพันธ์รักโรแมนติกระหว่างรัฐคือ การใช้นโยบายแบบยอมอ่อนข้อ หรือที่เรียกว่า ‘นโยบายแห่งการเอาใจ’ (Appeasement) เป็นกลยุทธ์ในการดําเนินนโยบายต่างประเทศในลักษณะที่รัฐหนึ่งยินยอมเสียสละผลประโยชน์เล็กน้อย เพื่อเอาใจรัฐอื่นด้วยความหวังว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่อันสําคัญของตนจะไม่ได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยยุติธรรมนัก 

 

Photo: Fizkes / Shutterstock

 

ตัวอย่างของการดําเนินนโยบายนี้คือ ข้อตกลงมิวนิก (Munich Agreement 1938) ในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง อังกฤษยังไม่พร้อมจะประกาศสงครามกับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จึงได้พยายามเจรจาสันติภาพกับฮิตเลอร์ โดยยินยอมให้ฮิตเลอร์ผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี เมื่อกลับมาดูความสัมพันธ์ของคนรักกัน เมื่อคนสองคนต้องมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน การเสียสละเพื่อคนที่เรารักอย่างมีขอบเขต จึงเป็นสิ่งสําคัญที่ทําให้ความสัมพันธ์กับคนรักยืนยาว “เล็กๆ น้อยๆ ก็ควรยอมกันไป”

 

สรุปแล้วในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ‘รักแท้’ มีอยู่จริงหรือไม่ คําตอบที่ได้อาจจะเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง เพราะถ้าพิจารณาจากโลกของสัจนิยม โลกที่ยึดมั่นอยู่แต่ตนเอง เห็นแก่ผลประโยชน์ตัวเอง คงไม่มีใครสนใจอํานาจของความรักมากสักเท่าไร อํานาจทางการเมืองต่างหากที่สําคัญ ซึ่งจะสามารถนํารัฐไปสู่ผลประโยชน์ของ

ชาติตามที่ต้องการได้ 

 

สําหรับรักแท้ในความสัมพันธ์ของคนสองคน ในวันวาเลนไทน์นี้คงเป็นโอกาสที่ดีที่จะแสวงหารักแท้ ไม่ว่ารักแท้จะมีจริงหรือไม่ อย่างน้อยการเรียนรู้ทฤษฎีในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่กล่าวมาก็ยังพอมีหวังว่าจะนํามาใช้เป็นเทคนิคเพื่อพัฒนาชีวิตรักในความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนได้บ้างไม่มากก็น้อย

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising