จากกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพซากพะยูนเกยตื้นบริเวณปากคลองบ้านพร้าว ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและขนย้ายซากไปยังศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) เพื่อชันสูตรหาสาเหตุการตาย
วันนี้ (9 มีนาคม) กฤติเดช กรองทอง นักบินผู้ช่วย สมาคม Nok Flying Club และ The Flying Scouts ซึ่งในปีนี้ตัวเขาเป็นนักบินผู้ช่วยทำการบินสำรวจพะยูนในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดรอบข้าง เช่น ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง, สุราษฎร์ธานี และบริเวณทะเลสาบสงขลา เป็นปีที่ 3 แล้ว เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ในช่วงการบินสำรวจปีนี้ ปรากฏว่าพบสถานการณ์ความน่าเป็นห่วงของพะยูนรวมถึงแหล่งอาหาร
เบื้องต้นภาพที่ปรากฏทางโซเชียลมีเดีย พะยูนที่เกยตื้นตายนั้นเป็นพะยูนที่ยังเด็กอยู่ มีอาการป่วย น้ำหนักน้อยกว่าช่วงวัยปกติ เมื่อมีการผ่าชันสูตรภายในกระเพาะอาหารมีอาหารค่อนข้างน้อยกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ต้องรอผลการชันสูตรที่ละเอียดอีกครั้ง
โดยในปีนี้นอกจากการบินสำรวจเบื้องต้นพบว่าการพบเห็นตัวพะยูนค่อนข้างยากขึ้นกว่าปีก่อนหน้า ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาการสำรวจพะยูนจะพบค่อนข้างง่ายกว่าในปีนี้ เนื่องจากธรรมชาติได้ฟื้นตัวช่วงโควิด ทั้งนี้ ต้องรอการสรุปผลการสำรวจหลังเสร็จสิ้นช่วงการสำรวจอีกครั้ง
จังหวัดตรังถือเป็นพื้นที่ที่มีการพบพะยูนจำนวนมาก เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารนั่นคือหญ้าทะเล แต่ในขณะนี้ด้วยอุตสาหกรรมต่างๆ หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ทำให้ปริมาณแหล่งอาหารของพะยูนลดลง
“อยากให้ภาครัฐชัดเจนเรื่องการดูแลควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่ตรัง มันตอบไม่ได้โดยตรงว่าส่งผลมากน้อยแค่ไหน แต่อุตสาหกรรมมันก็สร้างมลพิษเข้ามาแน่นอน
“อย่างที่เราบินสำรวจช่วงปีนี้ ปกติภาคใต้ท้องฟ้าใส แต่ขณะนี้เริ่มมีมลภาวะสูง อยากให้ใส่ใจกับตรงนี้มากขึ้น มีนโยบายภาครัฐที่ทุ่มงบประมาณมาถึงการสำรวจบ้าง” กฤติเดชกล่าว พร้อมกล่าวส่งท้ายว่า “อยากให้รักษาทรัพยากรที่มีอยู่นี้ให้มีไปตลอด ไม่ใช่มาถึงวันที่ต้องพูดว่าเคยมี”
สำหรับการบินสำรวจนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจัดขึ้นมาเพื่อสำรวจทรัพยากรในทะเลว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร โดยมีจิตอาสาที่เข้ามาช่วยบินสำรวจมาแล้วนับ 10 ปี
ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวด้านนิเวศทางทะเล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุถึงแหล่งอาหารของพะยูนว่า หญ้าทะเลตรัง-กระบี่ตายเป็นจำนวนมากจากโลกร้อน ซึ่งหญ้าตายหนนี้เริ่มตายปี 2565-2567 ยังไม่มีท่าทีว่าจะฟื้น และอาจขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ เนื่องจากโลกร้อนไม่หยุด และมีรายงานหญ้าเสื่อมโทรมในลักษณะคล้ายกันในพื้นที่อื่นๆ เช่น เกาะพระทอง (จังหวัดพังงา) อีกหลายพื้นที่กำลังสำรวจเพิ่มเติม
“ภาพที่เห็นคือหญ้าทะเลไหม้เนื่องจากน้ำลงต่ำผิดปกติ น้ำร้อน แดดแรง ปัจจุบันในพื้นที่นั้นหญ้าตายหมดแล้ว และหญ้าทะเลยังตายจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนรุนแรง บางแห่งเน่าจากปลาย บางแห่งเน่าเฉพาะโคนก่อนใบขาด และยังมีความเป็นไปได้ในเรื่องของโรค (เชื้อรา)” ผศ.ดร.ธรณ์ระบุ
อ้างอิง: