×

สำรวจการใช้บัตรคนจน คนกรุงเทพฯ ยังสับสน เสียงวิจารณ์เอื้อรายใหญ่ทิ้งรายเล็ก

17.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • วันแรกของการใช้บัตรคนจนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 7 จังหวัด ประชาชนยังสับสน เข้าใจว่าบัตรใช้ซื้อของได้อย่างเดียว
  • มีข้อสังเกตจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐว่า เอื้อประโยน์ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ขายสินค้าเข้าโครงการ รวมถึงการคัดเลือกร้านธงฟ้าประชารัฐ

     17 ตุลาคม เป็นวันแรกของการทยอยแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่สื่อมวลชนตั้งชื่อเล่นให้ว่า ‘บัตรคนจน’ ให้กับประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, นครปฐม, สมุทรสาคร และสมุทรปราการ

     เหตุที่คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้บัตรช้ากว่า 70 จังหวัดที่เหลือ เนื่องจากทั้ง 7 จังหวัดที่ว่านี้จะได้รับบัตรแมงมุม ซึ่งสามารถนำไปใช้ขึ้นรถไฟฟ้าและรถเมล์ที่มีเครื่องอ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (e-Ticket) ซึ่งบัตรแมงมุมมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนกว่าจึงผลิตออกมาได้ล่าช้า

     แต่อย่าเพิ่งดีใจว่ารับบัตรแล้วจะนำไปใช้ขึ้นรถไฟฟ้าได้ทันที เพราะขณะนี้ระบบซื้อขายตั๋วรถไฟฟ้ายังไม่ได้รองรับบัตรแมงมุม กว่าจะวางระบบให้พร้อมใช้อย่างเร็วประมาณกลางปี 2561 ส่วนรถเมล์ที่มีเครื่องอ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของ ขสมก. ก็มีจำนวนเพียง 800 คัน

 

 

ใช้งานวันแรก คนเข้าใจผิดคิดว่าใช้ได้แค่ซื้อของ

     บรรยากาศวันแรกของการรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 7 จังหวัด THE STANDARD ลงพื้นที่ร้านธงฟ้าประชารัฐย่านบางบอน ซอยเอกชัย ทั้งร้านใหญ่อย่าง บางบอนซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านเซฟ-ดี มินิมาร์ท ซึ่งเป็นร้านขนาดเล็กในชุมชน พบว่า ประชาชนหลายคนไม่ทราบว่าบัตรของตัวเองมีวงเงินซื้อของธงฟ้าประชารัฐอยู่เท่าไร รวมถึงไม่ทราบสิทธิประโยชน์ของบัตรอย่างครบถ้วน

     จากการพูดคุยกับคนที่มาซื้อของร้านธงฟ้าประชารัฐนับ 10 คน ไม่มีใครทราบเลยว่าบัตรดังกล่าวสามารถใช้โดยสารระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถเมล์ รถไฟ รถบขส. และรถไฟฟ้า รวมถึงไม่ทราบด้วยว่าใช้เป็นส่วนลดในการซื้อก๊าซหุงต้มได้ ทุกคนพูดเหมือนกันว่า รู้แต่ว่าใช้ซื้อของได้ที่ร้านธงฟ้าตามวงเงิน 200-300 บาท

     เมื่อเราช่วยอธิบายสิทธิประโยชน์อื่นๆ นอกจากการใช้ซื้อของที่ร้านธงฟ้า ทุกคนถามเหมือนกันว่า ถ้าไม่ได้ขึ้นรถไฟฟ้าและรถอื่นๆ สามารถโยกมาใช้เป็นเงินซื้อของได้หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้รถไฟฟ้าในการเดินทาง ส่วนการขึ้นรถไฟและรถบขส. ก็นานทีปีหนจะได้ใช้สักครั้ง

     นอกจากนี้เครื่อง EDC ที่ใช้รับชำระเงินเมื่อมีการใช้งานติดต่อกันจะติดขัดหรือระบบล่ม ทางผู้ประกอบการแก้ไขด้วยการปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่ รวมถึงการพักเครื่องไม่ให้ใช้งานต่อเนื่องจนเกินไป

 

 

พาณิชย์ยืนยันไม่โยกเงินส่วนค่ารถไฟฟ้ามาเพิ่มวงเงินซื้อของในบัตรคนจน

     สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิเสธข่าวแนวคิดเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในส่วนการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ จาก 200-300 บาทต่อคนต่อเดือน เป็น 700-800 บาท โดยนำเอาส่วนของค่าโดยสารรถไฟฟ้า หรือรถ บขส. 500 บาท มาสมทบเพิ่มสำหรับคนที่ไม่จำเป็นต้องใช้

     รมช. พาณิชย์ ยืนยันว่า ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้ อาจเป็นเพียงแนวคิดของคนใดคนหนึ่ง แต่ ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีการหยิบนำเรื่องนี้มาหารือ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ปิดประตูตายสำหรับแนวคิดนี้ เพียงแต่ต้องทำการประเมินผลการใช้บัตร ทั้งประเมินรอบ 1 เดือนและ 3 เดือน เพื่อหาแนวทางพัฒนาต่อไป

 

 

เสียงวิจารณ์เงื่อนไขร้านธงฟ้าเอื้อรายใหญ่ ทิ้งโชว์ห่วย

     หนึ่งในเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคือเรื่องของ ‘ร้านธงฟ้าประชารัฐ’ ซึ่งเป็นร้านที่กระทรวงพาณิชย์คัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการและติดตั้งเครื่อง EDC เพื่อรองรับบัตรคนจน

     แต่มีข้อสังเกตว่า ร้านค้าที่ได้รับการคัดเลือกมักเป็นร้านขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม ส่วนร้านโชว์ห่วยเล็กๆ ตามตรอกซอกซอย รวมไปถึงร้านค้าหาบเร่แผงลอยจะไม่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้

 

 

     สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกร้านธงฟ้าประชารัฐที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด คือ พิจารณาร้านค้าตามพื้นที่ของจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ที่ขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อยไว้กับกรมบัญชีกลาง จำนวน 11.67 ล้านคนทั่วประเทศ ตั้งเป้าโดยเฉลี่ยประมาณ 600 คนต่อ 1 ร้าน เป้าหมายระยะแรกภายในปี 2560 จะมีร้านธงฟ้าจำนวน 20,000 แห่ง โดยให้มีทุกตำบล อย่างน้อยตำบลละ 1 แห่ง ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

     ส่วนกรณีที่มีร้านค้าสมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดในตำบล หรือชุมชน จะพิจารณาคัดเลือกร้านค้าที่มีทำเลใกล้แหล่งชุมชนมากที่สุดก่อน

 

 

มองบวก ส่งเสริมร้านโชว์ห่วยปรับตัวรองรับโครงการ

     วัชรนันท์ วิศิษฎ์วโรดม เจ้าของร้านเซฟ-ดี มินิมาร์ท ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในร้านธงฟ้าประชารัฐ เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า เข้าร่วมโครงการจากการร่วมสัมมนากับร้านยี่ปั๊วที่ร้านรับสินค้ามาขาย จากนั้นได้ดำเนินเรื่องประสานกับธนาคารกรุงไทย โดยจะมีเจ้าหน้าที่มาสำรวจและถ่ายรูปที่ร้านก่อนได้รับการพิจารณา

     ยอมรับตามตรงว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ ร้านที่ได้รับคัดเลือกส่วนมากจะเป็นร้านลักษณะมินิมาร์ท เนื่องจากมีความพร้อมกว่า แต่ตามต่างจังหวัดจะมีร้านเล็กๆ ที่ได้รับการคัดเลือกเยอะกว่า

     อย่างไรก็ตาม วัชรนันท์ มองว่า รัฐบาลอาจมีนัยยะให้ร้านโชว์ห่วยมีการปรับตัว ถึงร้านจะเล็กๆ แต่ต้องพัฒนาเพื่อต่อสู้กับร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมงได้ โดยพยายามทำให้ร้านมีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน มีสินค้าแบรนด์รองรับและหลากหลาย รับเติมเงินโทรศัพท์ รวมถึงการรับชำระค่าบริการที่มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่าหรือเท่ากัน ขณะที่โครงการนี้เข้ามาช่วยเสริมให้ร้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้านสะดวกซื้อเจ้าดังไม่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้

 

 

พาณิชย์ โวเตรียมแผนยกระดับโชว์ห่วย

     สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช. กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงเรื่องเดียวกันนี้ว่า รัฐบาลออกบัตรมาเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเน้นของที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เหตุที่ไม่ให้เป็นเงินสดเพราะการให้เงินสดมีโอกาสนำเงินไปใช้ผิดประเภท ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้สิทธิ์ผ่านบัตร และใช้สิทธิ์ได้ในร้านที่มีการติดตั้งเครื่อง EDC

     รมช. พาณิชย์ เห็นว่า โครงการนี้ไม่กระทบการค้าขายปกติทั่วไป แม้ในตลาดร้านค้าแผงลอยจะใช้บัตรไม่ได้ แต่รัฐบาลจะทำสองมาตรการควบคู่กัน อย่างแรกคือ เรื่องให้สวัสดิการ และอีกเรื่องคือการยกระดับร้านค้าปลีกเล็กๆ ขึ้นมา และในอนาคตอันใกล้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมนำสินค้าจากชุมชนมาขายในร้านธงฟ้าประชารัฐ

     “เรามีเป้าหมายเบื้องต้น 20,000 จุด แต่ไม่ได้ตั้งเป้าในเชิงตัวเลขอย่างเดียว หลักใหญ่คือจำนวนให้บริการแต่ละพื้นที่เป็นตัวตั้ง ยืนยันว่าทั้งพื้นที่ห่างไกลไม่ว่าจะเป็นบนยอดดอย และเกาะต่างๆ ครอบคลุมถึงแน่นอน” รมช. พาณิชย์ กล่าว

 

 

เช็กสินค้าโครงการธงฟ้าประชารัฐ เอื้อรายใหญ่?

     THE STANDARD สอบถาม วัชรนันท์ เจ้าของร้านเซฟ-ดี มินิมาร์ท ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในร้านธงฟ้าประชารัฐ ถึงสินค้าจากโครงการประชารัฐ โดยวัชรนันท์ เล่าว่า เมื่อเข้าร่วมเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐ ทางหน่วยงานจะส่งรายชื่อสินค้าธงฟ้ามาให้ทางร้านเลือกนำไปวางขายในร้าน โดยต้องจัดพื้นที่ตั้งสินค้าธงฟ้าในจุดที่มองเห็นได้ง่ายไว้โซนหนึ่งโดยเฉพาะ

     สินค้าธงฟ้าเป็นสินค้าที่ร้านค้ารับมาในต้นทุนต่ำกว่าปกติ เพื่อให้ร้านค้าสามารถนำมาขายได้ในราคาที่ถูกลงโดยไม่กระทบกำไรของร้านค้า

     รัฐจะมีรายการมาให้ เจ้าของร้านก็เลือกสินค้า แล้วไปดีลกับบริษัทเอาเอง ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะมีโควตาแบ่งไว้เฉพาะสำหรับสินค้าธงฟ้า

     วัชรนันท์บอกว่า เท่าที่เห็นจากลิสต์สินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนใหญ่เป็นสินค้าของบริษัทใหญ่ๆ เกือบหมด ส่วนสินค้าชุมชนเท่าที่ดูจากลิสต์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอมาก็ถือว่ายังมีให้เลือกน้อยมาก โอกาสที่ธุรกิจขนาดเล็กจะร่วมส่งสินค้าประเภทอุปโภค-บริโภคเข้าร่วมโครงการประชารัฐมองว่าทำได้ยาก เนื่องจากต้องขายสินค้าราคาส่งให้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐในราคาถูกลงกว่าเดิม

     ข้อมูลจากเอกสารรายละเอียดสินค้าที่จำหน่ายในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ สินค้าอุปโภค-บริโภค จำนวน 31 สินค้า 160 รายการ จาก 16 บริษัท ดังนี้

 

ปลากระป๋อง

  • บริษัท ไทยฟู้ดแคนนิ่ง จากัด
  • บริษัท ทวีชัย ฟู้ด แมนูแฟคเจอร่ิง จำกัด

 

น้ำปลา

  • บริษัท พูนสินทั่งง่วนฮะ จำกัด
  • บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
  • บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด (ไวไว)

 

ข้าวสาร

  • บริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด
  • สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด
  • องค์การคลังสินค้า (อคส.)

 

เครื่องดื่มพร้อมดื่ม

  • บริษัท ทิปโก้ เอฟแอนด์บี จำกัด
  • บริษัท กรีนสปอต จำกัด
  • บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ โฟร์โมสต์

 

สินค้าอุปโภค

  • บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด
  • บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด

 

     จากรายชื่อบริษัทจะเห็นว่า บริษัทที่จำหน่ายสินค้าให้กับร้านธงฟ้าประชารัฐ เกือบทั้งหมดเป็นบริษัทขนาดใหญ่

     ในเรื่องนี้ พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้เปิดรับสมัครผู้ผลิตสินค้าทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งผู้ประกอบการ SMEs ผู้ผลิตในชุมชน สหกรณ์วิสาหกิจชุมชน และบริษัทใหญ่ ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มใดเป็นพิเศษ และยังเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างทางเลือกให้กับผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้เลือกซื้อสินค้าที่หลากหลาย โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตสินค้าเข้าร่วมโครงการจำนวน 24 ราย 40 สินค้า 318 รายการ แยกเป็นสินค้าอุปโภค-บริโภค 31 สินค้า 160 รายการ อุปกรณ์การเรียน 8 สินค้า 72 รายการ และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร 1 สินค้า 86 รายการ ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีราคาถูกกว่าท้องตลาดร้อยละ 10-20

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X