อีกไม่กี่วันก็จะถึงเทศกาลสำคัญของคนไทย นั่นก็คือ ‘วันแม่แห่งชาติ’ ซึ่งตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี หลายภาคส่วนมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้ลูกๆ ได้ตระหนักถึงบทบาทของ ‘แม่’ ในมิติต่างๆ โดยเฉพาะสังคมไทยที่ปลูกฝังเรื่อง ‘ความกตัญญูกตเวที’ ต่อบุพการี
วันแม่จึงเป็นอีกวันหนึ่งที่ลูกๆ จะได้ใช้โอกาสนี้ในการแสดงออกซึ่งความรัก และการทำมุทิตาคารวะต่อผู้มีพระคุณ แน่นอนว่าวันนี้อาจถูกกำหนดไว้ให้พิเศษมากขึ้น แต่เชื่อได้เลยว่าสำหรับลูกทุกคน ทุกๆ วันคือ ‘วันแม่’ ของพวกเขาอยู่แล้ว
วันนี้ THE STANDARD ได้ลงพื้นที่ ปากคลองตลาด ย่านขายดอกไม้ขึ้นชื่อของไทย เพื่อสำรวจราคา ‘ดอกมะลิ’ ดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ที่ได้รับความนิยมในการนำไปประดิษฐ์เป็นพวงมาลัยหรือตกแต่งในพิธีสำคัญนี้ และจะพาไปสำรวจด้วยว่าตลาดดอกไม้เวลานี้มีบรรยากาศเป็นอย่างไร
ทำไม ‘ดอกมะลิ’ จึงเป็นสัญลักษณ์วันแม่
ข้อมูลของ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า งานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป
เมื่อวิกฤตสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรองคือวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ. 2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน
ต่อมา สมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้งในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น
จนกระทั่ง พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ และกำหนดให้ดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่คือดอกมะลิ
และเนื่องจากดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย
ดอกมะลิราคาพุ่ง เหตุฝนตก พายุเข้า
จากการลงพื้นที่ปากคลองตลาด ได้พูดคุยกับตัวแทนผู้ประกอบการร้านขายดอกมะลิ คุณสุนิสา สัตยะยุกต์ ซึ่งขายดอกไม้มาเป็นเวลากว่า 20 ปี ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ดอกมะลิในปีนี้มีบางช่วงที่ขาดตลาด เนื่องจากที่ผ่านมามีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ดอกมะลิจากสวนหลุดขั้วร่วงโรยเกือบหมด ทำให้มีสภาพไม่สวยงาม เมื่อส่งมาขายราคาก็ตก ทำให้ชาวสวนเก็บดอกมะลิสภาพดีขายได้น้อย เฉลี่ยที่ชาวสวนบอกแม่ค้าก็คือ 4-5 กิโลกรัมต่อวัน และรู้สึกว่าปีนี้จะมีดอกมะลิออกน้อย ส่วนมากปลูกกันที่นครสวรรค์ นครปฐม นครราชสีมา และราชบุรีบางพื้นที่
ส่งผลให้ราคาในช่วงเทศกาลวันแม่ที่ใกล้จะมาถึงค่อยๆ ขยับตัวสูงขึ้นมากเป็นเท่าตัว ขณะที่ร้านพวงมาลัยบางร้านต้องหันมาใช้ดอกพุดร้อยเป็นพวงมาลัยแทนดอกมะลิ เพื่อทำให้ราคาถูกลง
วันที่ 11 สิงหาคมของทุกปี ก่อนหน้าวันแม่ 1 วัน จะเป็นวันตัดสินว่ารุ่งหรือร่วง พรุ่งนี้จะวัดเลยว่าจะขายดีหรือไม่ดี ราคาจะขยับขนาดไหน
“จากการเก็บข้อมูลของเรา เมื่อช่วงเวลาเดียวกันของปีนี้ ราคาดอกมะลิจะอยู่ที่ลิตรละ 400 บาท (1 ลิตร เทียบเท่าน้ำหนักประมาณ 7 ขีด) แต่ปีนี้ราคาดอกมะลิต่อลิตรพุ่งสูงสุดไปที่ 1,000 บาท ขณะที่หากขายเป็นกิโลกรัมจะตกอยู่ที่ราคาสูงสุดคือ 1,500 บาท”
สำหรับผู้ที่มาซื้อหาดอกมะลิที่ปากคลองตลาดนั้นมีทั้งลูกค้าประจำและลูกค้าขาจร ในส่วนของนักเรียนและโรงเรียนมักจะสั่งทำพวงมาลัยจำนวนหลายร้อยพวง เพื่อใช้ในกิจกรรมวันแม่ หรือซื้อไปไหว้แม่เป็นการส่วนตัว
จากการสอบถามพบว่าราคาพวงมาลัยจะแตกต่างไปตามวัตถุดิบ เกรดของมะลิที่นำมาร้อยจะต่างกัน หากเป็นมะลิบานจะราคาถูก คือตั้งแต่ 50 บาทเป็นต้นไป แต่หากเป็นมะลิสดที่สภาพดอกตูมสวยงาม ราคาจะเริ่มต้นที่ 100 ไปจนถึง 400 บาทต่อพวง แต่หากต้องการสั่งทำพวงมาลัยแบบพิเศษก็จะสนนราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,500 จนถึง 4,000 บาทก็มี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่นำมาประกอบเพิ่ม เช่น ตามาลัย ดอกกล้วยไม้ ดอกรัก และแบบที่มีความยาก
“วันที่ 11 สิงหาคมของทุกปี ก่อนหน้าวันแม่ 1 วัน จะเป็นวันตัดสินว่ารุ่งหรือร่วง พรุ่งนี้จะวัดเลยว่าจะขายดีหรือไม่ดี ราคาจะขยับขนาดไหน” คุณสุนิสากล่าว
ด้านผู้ประกอบการอีกรายให้ข้อมูลว่า ราคาดอกมะลิขยับสูงขึ้น ยิ่งใกล้ช่วงเทศกาลวันแม่ ความต้องการก็จะมาก ขณะที่ในปีนี้ของแพง เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ขายได้น้อยลง แต่ราคาก็ไม่ถูก กังวลว่าจะไม่มีผู้ซื้อเยอะ
“บางคนบอกว่าดอกมะลิแพง เราก็ยอมรับว่าแพง ไม่ได้อยากขายแพง แต่ราคาตลาดมันมาแบบนี้ก็ต้องขาย พยายามขายให้ได้กำไร และบางรายที่เป็นลูกค้าประจำเราก็ลดให้ เพราะซื้อขายกันมานาน”
ขณะเดียวกันได้สอบถามประชาชนที่มาหาซื้อดอกไม้ โดยเฉพาะดอกมะลิ ได้ข้อมูลว่าปีนี้ดอกมะลิราคาแพง แต่ก็จำเป็นต้องซื้อ เพราะเราทำอาชีพนี้
“พี่ร้อยพวงมาลัยขายอยู่หน้าวัดบวรฯ ก็ขายได้นะ แต่ก็แพงตามเทศกาล วันหนึ่งก็ใช้ดอกมะลิสดหลายสิบกิโลฯ ก็พอได้อยู่”
ขณะที่ผู้ซื้อรายนี้เปิดเผยข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันมีบริการให้ซื้อพวงมาลัยทางออนไลน์ ด้วยซึ่งก็ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่ง แต่ต้นทุนค่าจัดส่งจะราคาแพงกว่า
อีกรายบอกว่ามาหาซื้อดอกมะลิเพื่อนำไปประกอบในพิธีลอยอังคาร ปกติก็ราคาไม่แพง แต่พอช่วงใกล้เทศกาล ราคาก็จะพุ่งขึ้น ก็ยอมรับ แต่มันจำเป็นต้องใช้
บางคนบอกว่าดอกมะลิแพง เราก็ยอมรับว่าแพง ไม่ได้อยากขายแพง แต่ราคาตลาดมันมาแบบนี้
เปิดข้อมูลราคาดอกมะลิในท้องตลาดใกล้วันแม่
จากข้อมูลเว็บไซต์ ‘ตลาดสี่มุมเมือง’ ในส่วนของราคาสินค้าขายส่งประเภทดอกมะลิดิบ ประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2560 พบว่า ราคาราคาเฉลี่ยวันนี้ (ณ เวลา 13.30 น.) อยู่ที่ 700 บาทต่อลิตร โดยมีราคาสูงสุดอยู่ที่ 700 บาทต่อลิตร และราคาต่ำสุดอยู่ที่ 700 บาทต่อลิตร
ตารางแสดงราคาเฉลี่ยของดอกมะลิดิบในรอบ 10 วันของเดือนสิงหาคม 2560 จะเห็นว่า ราคาดอกมะลิดิบมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นในช่วงใกล้เทศกาลวันแม่
กราฟแสดงสถิติตัวเลขราคาดอกมะลิดิบในรอบ 1 เดือน ตั้งแต่ 10 กรกฎาคม 2560 ถึง 10 สิงหาคม 2560 มีแนวโน้มราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่เว็บไซต์ของ ‘ตลาดไท’ แสดงราคาดอกมะลิดิบไทยของวันที่ 10 สิงหาคม 2560 อยู่ที่ช่วงราคา 800-1,000 บาท
เมื่อลองสำรวจราคาจากตลาดออนไลน์บางเว็บไซต์พบว่า มีการจำหน่ายดอกมะลิดิบในอัตราลิตรละ 1,500 บาทไปแล้ว ขณะที่ราคาดอกมะลิอินโดนีเซีย ซึ่งจะมีราคาถูกกว่าดอกมะลิไทย ขายอยู่ที่ลิตรละ 850 บาท ซึ่งถือว่าแพงกว่าราคาตลาดดอกไม้ทั่วไป
สำหรับประชาชนหรือผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการซื้อหาดอกมะลิหรือพวงมาลัยไปไหว้แม่ นี่คือข้อมูลจากการสำรวจตลาดที่อาจช่วยให้ท่านวางแผนตัดสินใจ ในการจับจ่ายได้อีกช่องทางหนึ่ง
อ้างอิง: