×

สรุปคำชี้แจง ‘หุ้น STARK’ และจุดจบที่เหลืออยู่เพียง ‘ยื่นล้มละลาย?’

17.06.2023
  • LOADING...

หุ้น STARK ตกเป็นเป้าสนใจจากผู้คนในแวดวงการลงทุนอย่างมากตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่บริษัทไม่สามารถนำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ได้ตามกำหนด และขอขยายเวลาออกไปอีกหลายครั้ง ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เกิดอะไรขึ้นกับบริษัทกันแน่?

 

บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ในฐานะผู้สอบบัญชีของบริษัท และผู้จัดทำรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) เห็นว่า STARK มีความจำเป็นที่ต้องใช้เวลาเพิ่มเติมในการจัดทำงบการเงินประจำปี 2565 รวมถึงบริษัทมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทีมผู้บริหารและแก้ไขระบบการทำงานในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำงบการเงินดังกล่าว

 

ปมปัญหาที่สำคัญคือ การดำเนินธุรกิจภายในของ STARK อาจมีเรื่องของการทุจริตเกิดขึ้น ซึ่งในภายหลังบริษัทก็ได้ยอมรับว่าอาจจะเป็นเช่นนั้นจริง ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่าผลประกอบการอันสวยหรูในช่วงที่ผ่านมาแท้จริงแล้วอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น

 

ปัญหาดังกล่าวยังได้ลุกลามไปจนถึงเรื่องของหุ้นกู้ คิดเป็นมูลค่าราว 9.2 พันล้านบาท ซึ่ง STARK มีภาระที่จะต้องชำระคืน แต่การที่บริษัทไม่สามารถส่งงบการเงินได้ตามกำหนด และยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนถึงขณะนี้ ทำให้บริษัทอาจจะต้องเข้าข่ายผิดนัดชำระหนี้ตามมาด้วย

 

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในวงการตลาดหุ้นได้ประเมินกรณีเลวร้ายสุดของหุ้น STARK ก็คือการเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย หากท้ายที่สุดแล้วปรากฏว่าผลประกอบการของปี 2565 ออกมาย่ำแย่ โดยเฉพาะในส่วนของสินทรัพย์ที่ก่อนหน้านี้อยู่ในรูปของสินค้าคงเหลือและลูกหนี้การค้า คิดเป็นมูลค่าราว 3.4 หมื่นล้านบาท หากภายหลังการทำ Special Audit ทำให้สินทรัพย์ในส่วนนี้ลดลงไปมากกว่า 25% ก็มีความเสี่ยงที่ส่วนทุนของบริษัทจะติดลบ เพราะจากงบการเงินล่าสุด บริษัทมีส่วนทุนอยู่ 8.6 พันล้านบาท

 

และระหว่างที่บริษัทยังมีปมที่ต้องติดตามอยู่นั้น ตลาดหลักทรัพย์ได้เปิดให้นักลงทุนสามารถซื้อขายหุ้น STARK ได้เป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายน 2566 ซึ่งตั้งแต่ต้นเดือนจนปัจจุบัน ราคาหุ้น STARK ก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ท่ามกลางความคืบหน้าในการรายงานเกี่ยวกับการจัดทำงบการเงิน การเจรจากับเจ้าหนี้หุ้นกู้ ตลอดจนการเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อดีเอสไอ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้สืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายจนถึงที่สุด

 

16 มิถุนายน แจ้งงบปี 2565 ขาดทุน 6.6 พันล้านบาท

 

จนล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ กรรมการบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ปี 2565 มีรายได้รวม 25,725 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.57% เปรียบเทียบกับปี 2564

 

อย่างไรก็ตาม ปี 2565 มีผลขาดทุน 6,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.04% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 3,473 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากการขาดทุนจากการดำเนินงาน การตั้งสำรองการด้อยค่าของทรัพย์สินและเงินลงทุน ผลขาดทุนด้านเครดิตทั้งจากลูกค้าและเงินให้กู้ยืมระหว่างกัน รวมถึงการขาดทุนจากสินค้าสูญหาย

 

อนึ่งผลขาดทุนสุทธิประจำปี 2564 ของกลุ่มบริษัท จะแตกต่างจากผลกำไรสุทธิจากงบการเงินประจำปี 2564 ฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากทางกลุ่มบริษัทต้องดำเนินการปรับปรุงรายการทางบัญชีเพื่อแก้ไขความผิดพลาดของการบันทึกบัญชีที่เกิดขึ้นในปี 2564 ที่ผ่านมา

 

ณ วันที่ 31ธันวาคม 2565 บริษัทและบริษัทย่อยมีหนี้สินรวม 38,566 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 17.8% จากจำนวน 32,722 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเจ้าหนี้การค้าที่เป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น เจ้าหนี้ Trust Receipt และหุ้นกู้ที่ออกในปี 2565 ขณะที่เงินกู้ยืมธนาคารระยะยาวบางส่วนมียอดลดลงเนื่องจากมีการชำระคืนเมื่อถึงกำหนด

 

พบความผิดปกติในงบการเงินปี 2564

 

จากเอกสารที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ วนรัชต์ระบุว่า ในการจัดทำงบการเงินประจำปี 2565 ผู้บริหารชุดใหม่ของบริษัทตรวจพบข้อผิดพลาดหลายประการในงบการเงินปี 2564 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายบัญชีในงบการเงินและเป็นจำนวนเงินที่เป็นสาระสำคัญ

 

รวมถึงรายได้จากการขายและต้นทุนขาย รายได้จากการให้บริการและต้นทุนให้บริการ สินค้าคงเหลือ ลูกหนี้และค่าเผื่อขาดทุนด้านเครดิต และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

รายการดังกล่าวข้างต้นถือเป็นรายการที่ผิดปกติ และทำให้ผู้บริหารของบริษัททำการปรับตัวเลขเปรียบเทียบย้อนหลังสำหรับปี 2564 สำหรับงบการเงินรวมที่จะออกสำหรับปี 2565ให้ถูกต้องตามข้อมูลที่มี ณ ปัจจุบัน

 

ผลตรวจสอบกรณีพิเศษ พบ ‘4 ข้อผิดปกติ’

 

ตามที่บริษัทได้ดำเนินการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) หลังจากที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจพบพฤติการณ์อันควรสงสัย ผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) ระยะแรก สามารถสรุปผลการตรวจสอบได้ดังต่อไปนี้

 

1. มียอดขายที่ผิดปกติ

 

ผู้ตรวจสอบพิเศษตรวจพบรายการขายผิดปกติจำนวน 202 รายการ คิดเป็นมูลค่าขาย 8,063 ล้านบาท และ 3,593 ล้านบาท ในปี 2565 และ 2564 ตามลำดับ โดยรายการขายผิดปกติตรวจพบจากการสอบยืนยันยอดที่ถูกต้องกับลูกค้า การตรวจสอบการรับชำระเงิน ลักษณะการจ่ายเงินที่ไม่ปกติ การปลอมแปลงชื่อผู้จ่ายเงิน และการจ่ายเงินจากบัญชีของอดีตเจ้าหน้าที่ของบริษัทแทนลูกค้า

 

2. มียอดสินค้าคงเหลือที่ผิดปกติ

 

ผู้ตรวจสอบพิเศษพบว่า ณ วันสิ้นงวด มีรายการสินค้า (Stock Items) ประกอบด้วย รายการสินค้าระหว่างทำ (WIP) วัตถุดิบ (RM) และสินค้าสำเร็จ (FG) มียอดติดลบในระบบสารสนเทศ (ERP) ของบริษัทจำนวน 3,140 รายการ

 

บริษัทแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดใหม่ พร้อมกับคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2566

 

3. รายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ถูกจัดทำอย่างไม่ถูกต้อง

 

ผู้ตรวจสอบพิเศษได้จัดทำรายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้จากข้อมูลในระบบ SAP เปรียบเทียบกับรายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ที่ทางฝ่ายจัดการ (เดิม) ส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชี พบว่ามีการคำนวณระยะเวลาคงค้าง (Outstanding Days) ที่แตกต่างกัน ส่งผลทำให้อายุของลูกหนี้ในทุกระยะเวลา (Aging Range) ในรายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ฉบับที่ฝ่ายจัดการ (เดิม) ส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชี ต่ำกว่าหรือระยะคงค้างน้อยกว่าความเป็นจริง และเมื่อสอบทานย้อนกลับพบว่าความผิดปกติดังกล่าวได้เกิดขึ้นในทุกไตรมาสของปี 2565 ที่ผ่านมา

 

4. เงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า (Advance Payments) ผิดปกติ

 

ผู้ตรวจสอบบัญชีเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า ณ วันที่ 31ธันวาคม 2565 พบว่าบริษัทได้ทำการจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าล่วงหน้าโดยการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารกสิกรไทย ผู้ขายวัตถุดิบในต่างประเทศ (Key RM Vendor/Supplier) ในสกุลเงินบาท เป็นเงินถึง 7,976 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดที่ผิดปกติเป็นอย่างมาก เนื่องจากในอดีตย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทไม่เคยจ่ายเงินค่าสินค้าล่วงหน้าเป็นจำนวนมากเช่นนี้มาก่อน

 

ทั้งนี้ หลังจากที่ประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบได้รับทราบร่างรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวแล้ว ฝ่ายจัดการ (ใหม่) จึงได้แจ้งต่อผู้ตรวจสอบบัญชีเพื่อนำผลจากการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) ระยะแรกไปแก้ไขปรับปรุงรายการบัญชีที่เกี่ยวข้องประกอบการจัดทำงบการเงินประจำปี 2565 โดยฝ่ายจัดการ (ใหม่) ได้ให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจสอบบัญชีในการปรับปรุงรายการผิดปกติดังกล่าวทั้งหมด และแก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อให้งบการเงินประจำปีของบริษัท ทั้งปี 2564 และ 2565 แสดงข้อมูลที่ถูกต้องและสะท้อนฐานะการเงินและผลประกอบการที่แท้จริง

 


 

‘ตรวจสอบกรณีพิเศษขยายผล’ เสร็จไม่ทันกำหนด แต่อาจพบความผิดปกติ

 

STARK ชี้แจงผ่านเอกสารอีกฉบับว่า ตามที่บริษัทได้รับคำสั่งจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ดำเนินการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ขยายผลเพิ่มเติม (Extended-Scope Special Audit) นั้น บริษัทได้ให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชีบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PwC) ในการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ขยายผลเพิ่มเติม (Extended-Scope Special Audit) อย่างเต็มที่

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปริมาณข้อมูลในขอบเขตที่ต้องตรวจสอบมีจำนวนมาก และมีรูปแบบของปัญหาที่เกี่ยวข้องที่แตกต่างกัน การตรวจสอบพิเศษจึงยังไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งผู้สอบบัญชีได้ตรวจพบธุรกรรมที่อาจผิดปกติ จึงอาจจะต้องขยายขอบเขตในการตรวจสอบเพิ่มเติม

 

ก.ล.ต. แนะพิจารณาข้อมูลของ STARK ด้วยความระมัดระวัง

 

ทางด้านสำนักงาน ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารเตือนนักลงทุน โดยระบุว่า จากรายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชี ซึ่งผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินรวมของ STARK ในประเด็นต่างๆ หลายประเด็น และผลการตรวจสอบ Special Audit ระยะแรก ซึ่งได้แสดงข้อมูลยอดขายที่ผิดปกติ ยอดสินค้าคงเหลือที่ผิดปกติ รายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ถูกจัดทำอย่างไม่ถูกต้อง และเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าผิดปกติ ทำให้มีรายการปรับปรุงที่สำคัญที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2565 และการปรับปรุงรายการย้อนหลังไปยังงบการเงินของปีก่อนหน้าปี 2565

 

ก.ล.ต. จึงขอให้ผู้ลงทุนพิจารณาศึกษาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีการเปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์ของ STARK จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566

 

ในกรณีนี้ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการในกระบวนการตรวจสอบการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และหากพบว่าบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ก.ล.ต. จะดำเนินการตามกฎหมายตามกระบวนการต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้มีการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการประสานความร่วมมือระหว่างกันด้วยแล้ว

 

นอกจากนี้ เนื่องจากผลการตรวจสอบ Special Audit ที่กล่าวข้างต้น ยังไม่ครอบคลุมขอบเขตการตรวจสอบตามที่ ก.ล.ต. สั่งการไว้ทั้งหมด ซึ่ง STARK ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการตรวจสอบ Special Audit เป็นวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 เนื่องจากยังมีข้อมูลที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม โดย ก.ล.ต. จะได้พิจารณาคำขอดังกล่าวต่อไป

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X