×

สหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงการค้ากับเวียดนาม เรียกเก็บภาษีนำเข้า 20% พร้อมเดินหน้ากดดันญี่ปุ่นด้วยกำแพงภาษี

03.07.2025
  • LOADING...
ข้อตกลงการค้า

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศบรรลุข้อตกลงการค้ากับเวียดนาม กำหนดภาษีนำเข้า 20% และ 40% สำหรับสินค้า ‘ส่งผ่าน’ ขณะที่เวียดนามตกลงยกเลิกภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ทั้งหมด พร้อมเดินหน้าขู่เก็บภาษีนำเข้าจากญี่ปุ่นสูงถึง 35% สร้างความกังวลในตลาด และกดดันรัฐบาลโตเกียวให้ปรับยุทธศาสตร์การเจรจา

 

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการค้าระหว่างประเทศต่างจับตาการเจรจาอันเข้มข้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและเวียดนาม ซึ่งดำเนินมาจนถึงเส้นตายที่ใกล้เข้ามา กระทั่งในที่สุด วันพุธที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียว่า ได้บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับเวียดนามแล้ว ถือเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความชัดเจนให้กับสถานการณ์การค้าของสองประเทศ

 

ข้อตกลงการค้า

Screenshot

 

ภายใต้ข้อตกลงนี้ สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้า 20% สำหรับสินค้าจากเวียดนาม และจะเพิ่มสูงถึง 40% สำหรับสินค้าที่ตรวจพบว่าเป็น ‘การส่งผ่าน’ จากประเทศอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง เวียดนามได้ตอบรับด้วยการตกลงยกเลิกภาษีนำเข้าทั้งหมดสำหรับสินค้าจากสหรัฐฯ นับเป็นการแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจในสมการการค้าระหว่างกัน

 

แถลงการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ยังระบุถึงการหารือระหว่างผู้นำทั้งสองเมื่อวันพุธ โดยทรัมป์ได้ให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกับเวียดนามเพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคี ในขณะเดียวกัน โต ลัม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ได้ใช้โอกาสนี้เสนอให้สหรัฐฯ ยอมรับเวียดนามในฐานะ ‘market economy’ ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดทางการค้า รวมถึงการขอให้ยกเลิกข้อจำกัดในการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูงบางรายการมายังเวียดนาม

 

แม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะเปิดเผยโครงร่างของข้อตกลงแล้ว แต่รายละเอียดที่เป็นทางการหรือเอกสารสำคัญ (Term Sheet) ยังไม่ได้ถูกเผยแพร่จากทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการ ซึ่งบ่งชี้ว่าบางส่วนของข้อตกลงอาจยังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำ หากข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนามมีผลในทางปฏิบัติ นี่จะเป็นข้อตกลงฉบับที่สามที่สหรัฐฯ ประกาศออกมาในรอบนี้ ถัดจากข้อตกลงกับสหราชอาณาจักรและจีน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบรรดาประเทศคู่ค้าต่างเร่งเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคมที่จะถึงนี้

 

ย้อนกลับไปในช่วงต้นเดือนเมษายน ประธานาธิบดีทรัมป์เคยกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามไว้ที่ 46% ภายใต้นโยบายภาษีแบบ ‘ต่างตอบแทน’ (reciprocal tariffs) ก่อนที่จะปรับลดลงเหลือ 10% เพื่อเปิดทางให้เกิดการเจรจา แม้เวียดนามจะเป็นความท้าทายพิเศษสำหรับรัฐบาลทรัมป์ เนื่องจากที่ปรึกษาหลายรายมองว่าเวียดนามเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการถ่วงดุลอิทธิพลของจีนในเอเชีย และสินค้าจากเวียดนามหลายชนิดก็เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกัน

 

ญี่ปุ่นเผชิญแรงกดดันภาษี 35%

 

ในขณะที่สหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงกับเวียดนาม แรงกดดันทางการค้ากลับพุ่งเป้าไปที่ญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยสหรัฐฯ ได้ขู่ที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากญี่ปุ่นสูงถึง 35% เป็นการเพิ่มความกดดันติดต่อกันเป็นวันที่สาม ซึ่งทำให้ตลาดเกิดความกังวลต่อสถานการณ์ที่อาจเลวร้ายที่สุด และตั้งคำถามถึงยุทธศาสตร์การเจรจาของรัฐบาลโตเกียว

 

บรรดานักวิเคราะห์ฝ่ายคาดการณ์ว่า ท้ายที่สุดแล้วข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นจะเกิดขึ้น แต่ก็เตือนว่า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ อาจจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ จากแนวทาง ‘มิตรภาพแน่วแน่’ มาสู่จุดยืนที่ยืดหยุ่นหรือแข็งกร้าวมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้การเจรจาเข้าสู่ภาวะเผชิญหน้าเต็มรูปแบบ

 

การขู่เก็บภาษีครั้งล่าสุดของทรัมป์สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเจรจาแบบกดดันสูงที่เขาเคยใช้ ซึ่งบางครั้งนำไปสู่การยอมอ่อนข้อครั้งใหญ่จากทั้งสองฝ่ายในนาทีสุดท้าย ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับจีน อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศคู่ค้ายังคงต้องประเมินล่วงหน้าว่าควรจะวางกลยุทธ์อย่างไร หากการเจรจาล้มเหลว

 

ญี่ปุ่นยังคงยืนกรานในท่าทีเจรจาเรื่องภาษีตอบโต้แบบครอบคลุม โดยยืนยันว่าภาษีเหล่านี้จะต้องถูกยกเลิกทั้งหมด ควบคู่ไปกับภาษีเฉพาะกลุ่ม เช่น รถยนต์ เหล็ก และอะลูมิเนียม โดยเฉพาะภาษีนำเข้ารถยนต์ถือเป็นประเด็นอ่อนไหวที่สุดสำหรับญี่ปุ่น เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์มีสัดส่วนเกือบ 10% ของ GDP และจ้างงานประมาณ 8% ของแรงงานทั้งประเทศ

 

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นยืนยันมาโดยตลอดว่า ข้อตกลงแบบ ‘วิน-วิน’ จะต้องครอบคลุมภาษีทั้งหมดในครั้งเดียว นายกรัฐมนตรีอิชิบะยังคงแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวว่าเขา ‘ขอไม่มีข้อตกลงดีกว่าต้องเซ็นข้อตกลงที่เสียเปรียบ’ ก่อนการเลือกตั้งวุฒิสภาในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้

 

อิชิบะย้ำว่า “ญี่ปุ่นคือผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และยังเป็นประเทศที่สร้างงานในอเมริกามากที่สุดในโลก ซึ่งนั่นหมายความว่าญี่ปุ่นไม่เหมือนประเทศอื่นๆ”

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคมใกล้เข้ามา นักวิเคราะห์บางรายมองว่า ญี่ปุ่นอาจจำเป็นต้องแสดงท่าทีที่ยืดหยุ่นมากกว่านี้ หากต้องการให้สหรัฐฯ ผ่อนปรนจากมาตรการภาษีที่เข้มงวด

 

ภาพ: Daniel Ceng/Anadolu via Getty Images 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising