สำนักข่าวเอพีได้ประมวลความเห็นของนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำจากหลายสำนักเพื่อประเมินและคาดการณ์ท่าทีของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะขึ้นแถลงแสดงจุดยืนของ Fed หลังการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็กสันโฮล รัฐไวโอมิง ในคืนวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ซึ่งตรงกับเช้าวันเสาร์ที่ 28 สิงหาคมตามเวลาในไทย
โดยก่อนหน้านี้เพียงไม่นาน หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่าประธาน Fed น่าจะใช้โอกาสนี้ร่ายแผนการเริ่มลดปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รายเดือนตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เนื่องจากสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความชัดเจนและแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์แวดล้อมในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงจนวางใจไม่ลงบวกกับปัญหาไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาที่หวนกลับมาระบาดมากขึ้นอีกระลอก ก็ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องที่ยากและสุ่มเสี่ยงเกินไปหาก Fed จะแตะเรื่องผ่อน QE ในการประชุมครั้งนี้
กระนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่พาวเวลล์อาจให้คำใบ้ช่วงเวลาที่ Fed จะปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาอย่างยาวนาน
ทั้งนี้ ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าการประชุมประจำปีของ Fed ในครั้งนี้ บรรดาสมาชิก Fed ต่างออกมาแสดงความเห็นเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยอ้างถึงตลาดงานและอัตราเงินเฟ้อที่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ซึ่งสมาชิกบางรายถึงขนาดแสดงความเห็นเชื่อมั่นว่า Fed น่าจะประกาศลดการซื้อคืนพันธบัตรในการประชุมในเดือนกันยายน
ทว่าสถานการณ์ที่พลิกผันทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าพาวเวลล์และ Fed จะยังคงความเชื่อมั่นดังกล่าวไว้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะพาวเวลล์ ในฐานะประธาน Fed เองก็เพิ่งจะออกมายอมรับเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าการระบาดของไวรัสโควิดยังอยู่ห่างไกลจากคำว่า ‘สิ้นสุด’ และยังคงเป็น ‘เงาร้าย’ คุกคามกิจกรรมเศรษฐกิจสหรัฐฯ
สอดคล้องกับการคาดการณ์การเติบโตในไตรมาส 3 ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน ที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งได้ออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตลงเพราะโควิดสายพันธุ์เดลตา
ทั้งนี้ สิ่งที่นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์เฝ้ารอจากสุนทรพจน์ของพาวเวลล์ก็คือเจตจำนงหรือความตั้งใจของ Fed เป็นหลัก ซึ่งหมายความถึงมุมมองที่ Fed มีต่อบริบทเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดย เอเลน แกสกี นักเศรษฐศาสตร์จาก PGIM Fixed Income ระบุว่า วิธีการที่ Fed มองและให้นิยามจะเป็นคำบอกใบ้ได้ว่า Fed จะลด QE เมื่อไร
เมื่อประเมินจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดที่ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ในขณะนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์ก็ลงความเห็นตรงกันว่า หาก Fed จะส่งสัญญาณผ่อน QE จริง ก็น่าจะเลื่อนเป็นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะเป็นการต่อเวลาให้ตนเองได้พิจารณาสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานของสหรัฐฯ ออกไปอีก 2 เดือน น่าจะเพียงพอให้ Fed และพาวเวลล์ได้เห็นความชัดเจนบางอย่างมากขึ้น
ในมุมมองของนักวิเคราะห์ ตัวเลขเงินเฟ้อที่ขยับปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกในรอบ 30 ปี ณ เวลานี้ เกิดขึ้นภายใต้บริบทเงื่อนไขที่ค่อนข้างซับซ้อน ทำให้เป็นโจทย์ยากที่ Fed จะควบคุมนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะต่อให้ Fed ย้ำว่าปัจจัยเงินเฟ้อสูงดังกล่าวเป็นปัจจัยชั่วคราว แต่คำว่า ‘ชั่วคราว’ นี้ หลายฝ่ายเกรงว่าจะกินระยะเวลานานยืดเยื้อหลายเดือน ซึ่งหากถอนนโยบายกระตุ้น อาทิ การผ่อน QE เร็วเกินไป ก็อาจจะเป็นปัญหาต่อการฟื้นตัวได้
ในส่วนของตลาดงาน แม้ตัวเลขการว่างงานจะลดลง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 5.4% แต่ประเด็นที่น่าห่วงก็คือแรงงานสหรัฐฯ หลายล้านคนยังคงทำงานพิเศษ ที่เรียกว่า งานไซด์ไลน์ (Sideline) มากกว่างานประจำ และยังคงมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างชาวอเมริกันผิวสีและชาวอเมริกันเชื้อสายลาตินกับชาวอเมริกันผิวขาว บวกกับการที่เดลตาทำให้การระบาดของไวรัสโควิดน่าวิตกมากขึ้น ส่งผลให้ Fed ต้องการเวลามากกว่านี้ก่อนที่จะส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงใดๆ
ทั้งนี้ วิลเลียม อิงลิช อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของ Fed และศาสตราจารย์ด้านการเงินของเยล สรุปปิดท้ายว่า เป็นเรื่องยากสำหรับพาวเวลล์ที่จะส่งสัญญาณชัดเจนใดๆ ในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากมีปัจจัยไม่แน่นอนมากเกินไป ดังนั้นอย่าคาดหวังกันให้มากนักจะดีกว่า
วันเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้มีการเปิดเผยตัวเลขประมาณการการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สหรัฐฯ ประจำไตรมาส 2 ปี 2021 ครั้งที่ 2 พบว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการขยายตัว 6.6% ในไตรมาส 2 โดยสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 6.5% หลังจากที่ขยายตัว 6.3% ในไตรมาส 1
กระนั้นตัวเลขประมาณการณ์ GDP ครั้งที่ 2 นี้ก็ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.7%
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีการขยายตัว 7.0% ในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1984 หลังจากหดตัว 3.4% ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1946
อ้างอิง:
- https://apnews.com/article/business-health-coronavirus-pandemic-inflation-0f98e625696bbf236280da835184d7ab
- https://edition.cnn.com/2021/08/26/economy/us-economy-second-quarter-gdp/index.html
เตรียมพบกับฟอรัมที่ผู้บริหาร ‘ต้องดู’ ก่อนวางแผนกลยุทธ์ปีหน้า! The Secret Sauce Strategy Forum คัมภีร์กลยุทธ์ฝ่าวิกฤตปี 2022
📌 เฟรมเวิร์กกลยุทธ์ใช้ได้จริง
📌 ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทย–โลก
📌 เทรนด์ผู้บริโภค–การตลาด
📌 เคสจริงจากผู้บริหาร
พิเศษ! บัตร Early Bird 999 บาท วันนี้ถึง 27 สิงหาคมนี้เท่านั้น
ซื้อบัตรได้แล้วที่ www.zipeventapp.com/e/the-secret-sauce