×

คาด ‘ตั๋วร่วม’ จะใช้ได้สิ้นปีนี้กับ MRT – สายสีแดง และแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ วางอนาคตจะจ่ายด้วยบัตรเครดิตได้

โดย THE STANDARD TEAM
13.02.2021
  • LOADING...
ตั๋วร่วม

พิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมและโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีสภาองค์กรของผู้บริโภคได้แถลงข่าวปัญหาราคาค่าโดยสารรถรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ซึ่งถูกวิจารณ์ว่ามีราคาสูงเกินไป โดยเรียกร้องภาครัฐบริหารจัดการค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งระบบ และมีข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม คือการเร่งรัดการใช้ระบบตั๋วร่วมของบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท และการกำหนดค่าโดยสารสูงสุดต่อวันของขนส่งมวลชนทั้งระบบนั้น 

 

กระทรวงคมนาคมขอชี้แจงว่า แนวทางที่สามารถคุมราคาค่าโดยสารได้ คือการนำระบบตั๋วร่วมมาใช้กับการบริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทตามนโยบายของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เนื่องจากการนำระบบตั๋วร่วมมาใช้ในการเชื่อมต่อระหว่างระบบจะไม่คิดค่าแรกเข้า จะทำให้ค่าโดยสารระบบรางถูกลงกว่า 30% ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการเร่งรัดการดำเนินงานระบบตั๋วร่วม โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

 

1. การดำเนินงานระยะสั้น ได้แก่ การเร่งพัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (Automatic Fare Collection: AFC) ของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อทำให้บัตรโดยสารที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ บัตรแมงมุม บัตร MRT Plus บัตร MRT และบัตร Rabbit สามารถใช้เดินทางข้ามระบบ (Interoperable Ticketing System) กับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) และรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา (สายสีเขียว) และส่วนต่อขยายได้ 

 

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรุงเทพมหานคร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะพัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (AFC) ให้สามารถใช้บัตรแมงมุม บัตร MRT Plus บัตร MRT และบัตร Rabbit เดินทางข้ามระบบกันได้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และสายสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2563 ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการใช้บริการระบบขนส่งมวลชน และส่งผลให้มีปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางข้ามระบบสูงขึ้น 

 

ปัจจุบันมีจำนวนผู้ถือบัตรโดยสารรถไฟฟ้าในแต่ละประเภท ที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานดังกล่าว ดังนี้ บัตรแมงมุม จำนวน 0.2 ล้านใบ บัตร MRT Plus และบัตร MRT รวมจำนวน 2 ล้านใบ และบัตร Rabbit จำนวน 14.2 ล้านใบ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยระยะแรกจะใช้ได้กับระบบรถไฟฟ้าที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ภายใต้การกำกับของ รฟม. รฟท. และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ก่อน (รถไฟฟ้า MRT รถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์) และในอนาคตจะดำเนินการขยายการให้บริการเพื่อให้ครอบคลุมทุกระบบขนส่ง ทั้งรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง ระบบทางพิเศษ และเรือโดยสารต่อไป

 

2. การดำเนินงานระยะยาว ได้แก่ การเร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วมในรูปแบบ Account Based Ticketing (ABT) ซึ่งเป็นการใช้บัตรผ่านระบบบัญชี โดยจะขยายการให้บริการให้ครอบคลุมทุกระบบขนส่ง ทั้งรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง ระบบทางพิเศษ และเรือโดยสาร สำหรับความคืบหน้า รฟม. และธนาคารกรุงไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบตั๋วร่วม ด้วยการนำบัตรเครดิตชนิด EMV (Europay Mastercard and Visa) มาใช้เป็นตั๋วร่วมสำหรับระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น เพราะสามารถเดินทางก่อน แล้วชำระเงินภายหลังพร้อมรอบการชำระบัตรเครดิต โดยมีแผนงานดังนี้

 

1. เริ่มทดลองนำมาใช้กับทางด่วนหรือทางพิเศษในบางเส้นทาง เช่น ทางด่วนกาญจนาภิเษก ทางด่วนอุดรรัถยา ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก เป็นต้น และจะขยายให้ครอบคลุมทางด่วนหรือทางพิเศษอื่นๆ ภายในเดือนกรกฎาคม 2564

 

2. เริ่มโครงการนำร่องเพื่อนำมาใช้กับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยจะเริ่มจากรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ก่อนเป็นลำดับแรก คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือนมกราคม 2565

 

3. ปัจจุบันได้มีการใช้งานบนรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และมีแผนจะขยายให้ครอบคลุมรถโดยสารของเอกชนร่วมบริการต่อไป

 

4. เริ่มโครงการนำร่องเพื่อนำมาใช้กับเรือไฟฟ้าโดยสาร (MINE Smart Ferry)

 

ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายสูงสุดในการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising