×

EXIM BANK เตรียมส่งแผนช่วยฯ สายการบิน-คาดธุรกิจส่งออกไทยฟื้นปลายปีนี้

27.01.2021
  • LOADING...
EXIM BANK เตรียมส่งแผนช่วยฯ สายการบิน-คาดธุรกิจส่งออกไทยฟื้นปลายปีนี้

พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ทางกระทรวงการคลังมอบหมายให้ธนาคารดูแลแผนการช่วยเหลือทางการเงินสายการบินทุนต่ำ (Low Cost) ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับรูปแบบตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป (การระบาดระลอกใหม่)

 

ทั้งนี้ทาง EXIM BANK จะมีการทำแผนฯ เน้นไปที่การจ้างงานและค่าใช้จ่าย เพื่อให้คงการจ้างงานไว้ โดยจะเน้นบริษัทไทยเป็นหลัก ซึ่งทางธนาคารจะปรับแผนใหม่เสนอบอร์ดในวันพรุ่งนี้ (28 มกราคม) และจะเสนอต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อหารือรูปแบบการช่วยเหลือ ขณะเดียวกันยังมีการหารือกับฝั่งสายการบิน และกระทรวงการคลัง โดยคาดว่าจะทำแผนเสนอคลังได้ช่วงต้นเดือนหน้า (กุมภาพันธ์)

 

ขณะที่แหล่งที่มาของเงินทุนยังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับคลังว่าจะเป็นเงินที่รัฐให้มา หรือทางธนาคารระดมทุนเอง ซึ่งต้องดูว่ามีต้นทุนเท่าไร และจะดำเนินการต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารคาดว่าการส่งออกของไทยปี 2564 จะเติบโต 2.5-4% (ปรับลดลงจากรอบก่อนหน้าที่อยู่ราว 2.4-5%) ซึ่งเติบโตมาจากฐานต่ำในปี 2563 ที่ตัวเลขติดลบ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารโลกว่าการค้าโลกปี 2564 จะโต 5% จากปีที่ผ่านมาที่ติดลบเช่นกัน 

 

ทั้งนี้ความเสี่ยงที่อาจจะทำให้การส่งออกชะลอตัวยังมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ประสิทธิภาพวัคซีน และข้อจำกัดในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มสูงขึ้น รวมถึงสภาพคล่องภาคเอกชน มีแนวโน้มลดลงจากโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวมากขึ้น 

 

ในส่วนภาคธุรกิจส่งออกไทยคาดว่าจะเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4/64 นี้ ภาพรวมผู้ประกอบการส่งออกยังไม่สามารถฟื้นได้ทั้งหมด แต่คาดว่าจะฟื้นตัวได้เกิน 50% โดยกลุ่มที่ใช้มาตรการช่วยเหลือของธนาคารมีไม่ถึง 10% ของสินเชื่อรวม จึงคาดว่าระยะต่อไปจะปรับตัวดีขึ้นและกลับมาขยายธุรกิจได้

 

ทั้งตามแผนการเพิ่มทุนของธนาคารที่จะเพิ่มทุนราว 15,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลแล้ว แต่ยังมีการปรับรายละเอียดบางส่วน คาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนใน 1-2 เดือนนี้ และหากได้เพิ่มทุนตามแผน จะส่งผลต่อการเติบโตระยะยาว ขณะเดียวกันหากไม่ได้เพิ่มทุนก็ต้องปรับแผนกันเพิ่มเติม

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยอดสินเชื่อคงค้างธนาคาอยู่ที่ 135,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13% ต่อปี แบ่งเป็นยอดคงค้างสินเชื่อ SMEs ที่ 31,461 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13% ต่อปี 

 

ขณะที่ปี 2563 ที่ผ่านมา มีสินเชื่อคงค้าง 135,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากปี 2562 แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 36,093 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 99,135 ล้านบาท ซึ่งทำให้เกิดปริมาณธุรกิจรวม 168,035 ล้านบาท โดย 35% เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs โดยสินเชื่อระหว่างประเทศและบริการประกันการส่งออกและการลงทุนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X