×

มาตรการกีดกันสินค้า ‘ไม่’ เขียวทั่วโลกเพิ่มเฉลี่ย 16% ต่อปี! EXIM BANK เผย ไทยส่งออกสินค้าสีเขียวคิดเป็น 7.6% เท่านั้น ต่ำกว่าคู่แข่ง

02.05.2024
  • LOADING...
EXIM BANK

ผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวอย่างไร? หลังรัฐบาลทั่วโลกแห่ออกมาตรการกีดกันสินค้า ‘ไม่เขียว’ หรือ ‘ตั้งกำแพงสีเขียว’ เพิ่มเฉลี่ย 16% ต่อปี! ด้าน EXIM BANK เผย ไทยส่งออกสินค้าสีเขียวคิดเป็น  7.6% เท่านั้น ต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง

 

วันนี้ (2 พฤษภาคม) ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า มาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก หรือ ‘กำแพงสีเขียว’ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 16% (ระหว่างปี 2556-2565) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ส่งออกไทยต้องเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Go Green)

 

“ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในตลาดโลก ขณะเดียวกันต้องติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมในการส่งออกไปตลาดสำคัญของโลก เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งคิดเป็น 51% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทยในปี 2566” 

 

โดยเฉพาะกำแพงสีเขียวจาก 5 ประเทศตลาดสำคัญของไทย ได้แก่

  • สหรัฐฯ (17% ของมูลค่าส่งออกไทย) ที่มีร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) ซึ่งตั้งเป้าเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่กระบวนการผลิต มีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง โดยคาดว่าจะบังคับใช้ในปีหน้า
  • จีน (12% ของมูลค่าส่งออกไทย) มีคำสั่งห้ามการนำเข้าพลาสติกที่ย่อยสลายเองไม่ได้
  • สหภาพยุโรป (9% ของมูลค่าส่งออกไทย) มีมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment) หรือ CBAM สินค้านำร่อง ได้แก่ เหล็ก/เหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน 
  • ญี่ปุ่น (9% ของมูลค่าส่งออกไทย) มีมาตรการสั่งให้ธุรกิจที่มีบรรจุภัณฑ์ต้องจ่ายค่ารีไซเคิล
  • อินเดีย (3% ของมูลค่าส่งออกไทย) มีมาตรการห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เป็นต้น

 

ไทยส่งออกสินค้าสีเขียว ‘ยังไม่มาก’ เทียบกับคู่แข่ง

 

ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงให้เห็นว่า ไทยส่งออกสินค้าสีเขียว ‘ยังไม่มาก’ เมื่อเทียบกับคู่แข่งบนเวทีโลก โดยอยู่ที่ 7.6% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดเท่านั้น

 

ขณะที่การส่งออกสินค้าสีเขียวของญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้สูงถึง 15%, 10.4% และ 10.2% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ตามลำดับ

 

คาดส่งออกไทย ‘พลิกบวก’ ครั้งแรกรอบ 2 ปี โตถึง 3% ในปีนี้

 

ดร.รักษ์ คาดอีกว่า ส่งออกไทยปีนี้มีโอกาสพลิกกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี ถึง 3% เนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • การอ่อนค่าของเงินบาทจากการเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
  • เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัว 3.2% และ 2.8% ตามลำดับ ราคาน้ำมันโลกและราคาโภคภัณฑ์ต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าส่งออกปรับตัวสูงขึ้นตาม
  • การส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าและอาหารแปรรูป
  • สถานะของสินค้าไทยที่เป็นเสมือนเป็น Safe Haven ท่ามกลางความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ 

 

อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนก็ยังมีสูงท่ามกลางความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวช้าของภาคการผลิต และหนี้ครัวเรือนในระดับสูง

 

 

EXIM BANK ช่วยติดเครื่องผู้ส่งออกไทย Go Green

 

EXIM BANK ในฐานะ Green Development Bank เสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการเงิน (Greenovation) โดยออกสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษให้แก่ Green Export Supply Chain เริ่มต้นที่ 3.85% ต่อปี ให้แก่ซัพพลายเออร์และผู้ซื้อปลายทางของผู้ประกอบการตลอดซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก เพื่อสร้างระบบนิเวศและสังคมคาร์บอนต่ำ

 

หวังช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำได้ โดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ (Sponsors) ได้รับ

 

EXIM BANK มุ่งปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้า ESG-SMEs

 

สำหรับผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 EXIM BANK มีวงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่ 5,853 ล้านบาท มีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพัน 174,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,474 ล้านบาท หรือ 7.05%YoY

 

โดยมีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันที่เป็น ESG อยู่ที่ 67,310 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 38.64% ของยอดทั้งหมด และเพิ่มขึ้นถึง 55.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้เป็น SMEs จำนวน 12,475 ล้านบาท

 

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 EXIM BANK มีจำนวนลูกค้า 5,607 ราย ในจำนวนนี้เป็นลูกค้า SMEs มากถึง 81.15%

 

ขณะเดียวกัน EXIM BANK ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทางการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) จำนวน 8,600 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 เท่ากับ 4.99% และมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 15,972 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 185.72%

 

ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 EXIM BANK มีกำไรจากการดำเนินงาน 805 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 132 ล้านบาท

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X