×

EXCLUSIVE: คุยกับ Werner Vogels มันสมองด้านเทคโนโลยีของ Amazon ‘ทำไมบางธุรกิจถึงล้มเหลว แม้เข้าถึงเทคโนโลยีได้เหมือนกัน’

14.08.2023
  • LOADING...
Werner Vogels

วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีของโลก ทำให้ธุรกิจต่างๆ รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันบางบริษัทก็ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง จนไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ 

 

ทุกวันนี้เราคงได้ยินคำว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI), แมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning) หรือคำศัพท์อื่นๆ อีกมากมาย เทคโนโลยีเหล่านี้กำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และธุรกิจต่างๆ ก็คงต้องเรียนรู้ เพื่อนำมาต่อยอดความสามารถในการแข่งขันของตัวเอง 

 

ครั้งนี้ THE STANDARD WEALTH มีโอกาสได้พูดคุยกับ Werner Vogels, Chief Technology Officer (CTO) ผู้เป็นดั่งมันสมองในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีของ Amazon.com บริษัทมหาชนที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก จากข้อมูลของเว็บไซต์ companiesmarketcap.com ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2023  

 

เทรนด์เทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดในเวลานี้

 

“เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก หากย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 ปีก่อน คงเป็นเรื่องบล็อกเชน (Blockchain) และบิทคอยน์ (Bitcoin) แต่ตอนนี้ไม่มีใครพูดถึงอีกแล้ว ทุกวันนี้เป็นเรื่องของแมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning)” Werner Vogels เริ่มต้นเล่าถึงเทรนด์เทคโนโลยีในปัจจุบัน

 

โดยพื้นฐาน Machine Learning เป็นเรื่องของการมองหาลักษณะของการจัดเรียงตัวกัน (Pattern) ของข้อมูล อย่างธุรกิจอีคอมเมิร์ซของ Amazon ซึ่งมีข้อมูลคำสั่งซื้อนับพันล้านครั้ง ทำให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภค และสามารถทำนายได้ว่าคำสั่งซื้อใหม่ของลูกค้าคืออะไร 

 

ก่อนหน้านี้ Machine Learning เป็นเรื่องของการช่วยทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ไม่สามารถตัดสินใจแทนคุณได้ ก่อนที่เทคโนโลยีเกี่ยวกับ Machine Learning จะถูกพัฒนาขึ้นมาอีกขั้นเมื่อ 5-6 ปีก่อน ซึ่งเราสามารถฝึกฝน Machine ให้สามารถเรียนรู้ข้อมูลปริมาณมหาศาลได้ 

 

การผสมผสานข้อมูลเฉพาะของแต่ละธุรกิจเข้ากับเทคโนโลยี Machine Learning จะช่วยให้เราสามารถสร้างโมเดลเฉพาะตัวของบริษัทขึ้นมาได้ หนึ่งในตัวอย่างที่ดีคือ Bloomberg ในการพัฒนา BloombergGPT เพื่อให้บริการในด้านของข้อมูลทางการเงิน

 

ดังนั้นเทรนด์เทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดคงจะเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล บริษัทแต่ละแห่งต่างตระหนักได้ว่าข้อมูลของบริษัทเป็นเหมือนทองคำ และ Machine Learning จะช่วยให้เราสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด

 

แน่นอนว่า Machine Learning และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังคงมีความท้าทายในเรื่องของความถูกต้องของข้อมูล การอัปเดตข้อมูลให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน หรือแม้แต่เรื่องของความปลอดภัย แต่อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่หลายคนอาจยังไม่ได้พูดถึงมากนักสำหรับการพัฒนาคือ ค่าใช้จ่ายที่สูงมากสำหรับการฝึกฝนให้ Machine เรียนรู้ข้อมูลและระยะเวลาที่ต้องใช้ ซึ่งอาจจะกินเวลาหลายเดือน 

 

“ต้นทุนที่สูงสำหรับการพัฒนาไม่ใช่เพียงแค่มุมมองทางด้านการเงินเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องความยั่งยืนด้วย เพราะการฝึกฝนแมชชีนที่ว่านี้ต้องใช้พลังงานจำนวนมหาศาล นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม AWS ถึงต้องพัฒนาชิปประมวลผลของตัวเองที่สามารถลดการใช้พลังงานลง” 

 

เพื่อแก้ปัญหาด้านต้นทุนและการใช้พลังงาน ทำให้เรามองว่า การพัฒนาชิปประมวลผลที่ถูกออกแบบมาสำหรับเฉพาะแต่ละธุรกิจ จะกลายมาเป็นเทคโนโลยีกระแสหลัก

 

ทำไมบางบริษัทถึงล้มเหลว แม้จะเข้าถึงเทคโนโลยีได้เหมือนกัน

 

เมื่อปี 2003 Nicholas G. Carr เขียนบทความหนึ่งผ่าน Harvard Business Review ในหัวข้อ ‘IT Doesn’t Matter’ หรือไอทีไม่ใช่สิ่งสำคัญ ซึ่งเขาไม่ได้หมายความตรงตัวตามความหมายดังกล่าว แต่ต้องการจะสื่อว่า ธุรกิจต่างๆ ควรปรับมุมมองในเรื่องของการลงทุนด้านไอทีเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน มาเป็นการใช้ไอทีเพื่อรักษาประสิทธิภาพในการดำเนินงาน 

 

“ในที่สุดแต่ละธุรกิจจะสามารถเข้าถึงการใช้งาน Machine Learning ได้เหมือนกัน ความสำเร็จของธุรกิจจะมาจากการสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง ไม่ใช่แค่ว่าใครสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ดีที่สุดได้มากกว่ากัน” Werner Vogels กล่าว

 

อย่างกรณีของ Zalando ซึ่งเป็นคู่แข่งรายใหญ่ที่สุดของ Amazon สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซในยุโรป ก็เป็นหนึ่งในผู้ใช้บริการของ AWS เพราะ Zalando รู้ว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วยตัวเอง แต่ควรพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้มีความแตกต่าง

 

“เพราะฉะนั้นเป้าหมายสำหรับการพัฒนา Machine Learning คือ มันไม่ควรเป็นเทคโนโลยีที่บริษัทยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่รายสามารถเข้าถึงได้ แต่ทุกคนควรจะเข้าถึงได้เช่นกัน ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจในเวลานี้ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของการหาคนที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก” 

 

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยเอง Werner Vogels คาดว่าบุคลากรที่มีทักษะด้านไอทีคิดเป็นเพียงประมาณ 10 คน จาก 1,000 คน ทำให้ AWS พยายามพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้กับผู้คนให้มากที่สุด เพราะอุปสรรคในเรื่องของ Digital Transformation มักจะไม่ใช่เพราะเรื่องของการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี แต่เป็นเพราะว่าไม่มีบุคลากรที่มีทักษะเพียงพอ

 

Amazon เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีอย่างไร 

 

“ก่อนอื่นเลยต้องบอกว่าธุรกิจในเครือของ Amazon เป็นธุรกิจเทคโนโลยีมาโดยตลอด” Werner Vogels เล่าให้ฟังถึงความเป็น Amazon ในช่วงแรก 

 

“แม้แต่ในจุดเริ่มต้นที่ Jeff Bezos (ผู้ก่อตั้ง Amazon.com) ไม่ได้คาดหวังว่าจะสร้างร้านขายหนังสือ แต่เป็นร้านออนไลน์ที่รวมหนังสือทั้งหมดไว้ในที่เดียวกัน แต่การจะทำเช่นนั้นได้ คุณจำเป็นต้องสร้างเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน และตั้งแต่ก่อนที่คำว่าอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) จะถูกใช้กันในวงกว้าง” 

 

Werner Vogels เล่าต่อว่า เราจำเป็นต้องสร้างเทคโนโลยีมากมายสำหรับตัวเราเอง เทคโนโลยีที่มีความเฉพาะตัว และต้องทำให้มั่นใจว่าทีมงานของเราจะสามารถโฟกัสในการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับลูกค้า

 

ท่ามกลางบริษัทเทคโนโลยีมากมายที่ต้องล้มเหลวลงไป สิ่งหนึ่งที่ทำให้ Amazon สามารถอยู่รอดและเติบโตได้คือ การที่เราสร้างเทคโนโลยีสำหรับใช้ภายในเพื่อสนับสนุนการทำงานของทีมงาน ก่อนจะเริ่มพัฒนาบริการต่างๆ เพื่อให้บริษัทภายนอกได้ใช้งาน และก่อนที่บริษัทจะเปิดตัว Amazon Web Services (AWS) ในปี 2006  

 

จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดสำหรับ Amazon คือ การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการทำธุรกิจ ก่อนหน้านั้น “หากต้องการใช้ฐานข้อมูลของบริษัท แม้แต่ผมในฐานะ CTO ของ Amazon ก็จำเป็นจะต้องกรอกเอกสารจำนวนมาก แต่เมื่อย้อนกลับมาคิดถึงหลักการของบริษัทที่ว่า ‘Earth’s Most Customer Centric Company’ แท้จริงแล้วคุณจะต้องให้อำนาจกับลูกค้า ทำให้เราตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบของธุรกิจ แทนที่จะต้องกรอกเอกสารจำนวนมาก ก็เปลี่ยนมาเป็นการเปิดให้ลูกค้าใช้ฐานข้อมูลโดยจะต้องจ่ายเงินเฉพาะส่วนที่ใช้จริง” 

 

รูปแบบดังกล่าวแม้จะเป็นเรื่องปกติสำหรับการใช้บริการทั่วไป เช่น การจ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับที่คุณใช้ไป หรือจ่ายค่าน้ำมันเท่าที่ใช้งาน แต่แนวคิดดังกล่าวได้นำไปสู่การพัฒนาธุรกิจที่เรียกว่า Infrastructure As a Service (IaaS) ซึ่งเป็นการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที เช่น การประมวลผล การจัดเก็บ และทรัพยากรเครือข่าย โดยเก็บค่าบริการตามการใช้งานจริงผ่านอินเทอร์เน็ต 

 

หลังเปิดให้บริการ AWS ไปได้ 3-4 ปี ลูกค้าก็เริ่มถามถึงบริการอื่นๆ เช่น Internet of Things, Mobile Development, Data Storage รวมไปถึง Machine Learning ก่อนจะนำไปสู่การขยายธุรกิจคลาวด์ไปทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น โทรคมนาคม การเงิน การผลิต หรือแม้แต่การสำรวจอวกาศ

 

ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่ก็จำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้เร็วเท่ากับบริษัทขนาดเล็กเช่นกัน ทำให้เราจึงได้ยินถึงความสำคัญของ Digital Transformation มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น กรณีของอุตสาหกรรมธนาคาร ทุกวันนี้ไม่ได้แข่งขันกับแค่ธนาคารด้วยกันเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งขันกับผู้ให้บริการทางการเงินขนาดเล็กมากมายที่เกิดขึ้นมาในยุคอินเทอร์เน็ต 

 

ไม่เพียงแต่บริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่ใช้บริการ AWS บริษัทขนาดเล็ก หรือแม้แต่สตาร์ทอัพ ต่างก็ใช้บริการของ AWS เช่นกัน จากการศึกษาของ Harvard Business Review ที่เผยแพร่เมื่อปี 2018 พบว่า หลังการเปิดให้บริการคลาวด์ของ AWS เมื่อปี 2006 ช่วยให้รายจ่ายในการลงทุน (Capital Expenditures) ของสตาร์ทอัพที่มีฐานธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตลดลง โดยบริษัทเหล่านี้หันไปใช้การเช่าฮาร์ดแวร์และบริการอื่นๆ ให้เหมาะสมกับขนาดธุรกิจในแต่ละช่วง

 

การศึกษาดังกล่าวยังพบอีกว่า โดยเฉลี่ยแล้วการระดมทุนของสตาร์ทอัพในรอบแรกจาก Venture Capital (VC) ยังลดลงประมาณ 20% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ได้รับผลจากเทคโนโลยีคลาวด์ อย่างไรก็ตาม การระดมทุนของสตาร์ทอัพที่อยู่รอดมาได้เกินกว่า 3 ปี ไม่ได้ลดลง ซึ่งนั่นหมายความว่า ผลกระทบจากคลาวด์ทำให้ต้นทุนในการทดลองไอเดียลดลง แต่ไม่ได้ทำให้ต้นทุนในการขยายธุรกิจที่มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จลดลง 

 

“ในอดีตเงินลงทุนจำนวนมากของสตาร์ทอัพไม่ได้ถูกใช้ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ถูกใช้ไปกับการซื้อฮาร์ดแวร์” 

 

ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMBs) ที่อาจไม่ได้มีฐานธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต อาทิ ธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก ส่วนมากแล้วธุรกิจเหล่านี้จะไม่ได้มีทีมไอทีหรือทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ของตัวเอง 

 

บริษัทเหล่านี้หันมาใช้บริการที่เรียกว่า Software As a Service แทนที่การใช้งานซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งบนคอมพิวเตอร์แบบเก่า ทำให้บริษัทสามารถเข้าถึงซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยเทียบเท่ากับโรงแรมขนาดใหญ่ 

 

“การเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำธุรกิจสำหรับ AWS ที่เกิดขึ้นหมายความว่า ลูกค้าของเราจำเป็นจะต้องประสบความสำเร็จให้ได้ก่อนที่เราจะประสบความสำเร็จ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วลูกค้าก็จะไม่จ่ายเงินให้เราเช่นกัน และ 95% ของบริการที่ AWS พัฒนาขึ้นมา เกิดจากข้อเสนอแนะที่ได้รับมาจากลูกค้าโดยตรง” Werner Vogels กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X