ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ทั่วโลกจับตามอง การประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) แบบฉุกเฉิน กลายเป็นเวทีสำคัญที่ทุกถ้อยแถลงมีความหมายอย่างยิ่งยวด เบื้องหลังคือการทำงานของ ‘ทีมประเทศไทย’ ที่นำโดย เชิดชาย ใช้ไววิทย์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก
THE STANDARD มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ เอกอัครราชทูต เชิดชาย ใช้ไววิทย์ โดย ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว THE STANDARD เพื่อเจาะลึกเบื้องหลังการทำงาน ตั้งแต่วินาทีแรกที่ทราบข่าว การวางยุทธศาสตร์ทางการทูต การเตรียมแถลงการณ์ที่สะท้อนทั้งข้อเท็จจริงและหัวใจของคนไทย ไปจนถึงบรรยากาศจริงในห้องประชุมที่ไม่มีใครเคยรู้มาก่อน
เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ (ถาม-ตอบ)
ณัฏฐา โกมลวาทิน (THE STANDARD): ย้อนกลับไปวินาทีแรกที่ทราบว่ากัมพูชายื่นขอให้เปิดประชุมฉุกเฉิน UNSC ทีมประเทศไทยมีปฏิกิริยาอย่างไร และเตรียมการรับมืออย่างไรบ้างคะ
เชิดชาย ใช้ไววิทย์: ผมเห็นหนังสือของฝ่ายกัมพูชาประมาณตี 3 ของนิวยอร์ก สิ่งที่ผมสังเกตคือ ทำไมฝ่ายกัมพูชาถึงสามารถออกหนังสือถึงประธาน UNSC ได้รวดเร็วมากภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังเหตุปะทะ (24 กรกฎาคม)
ในส่วนของเรา ผมได้หารือกับท่านปลัดกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ตีหนึ่งของคืนเดียวกัน ซึ่งผมได้รับแนวทางชัดเจนว่า ต้องเตรียมทำหนังสือชี้แจงทันที ทั้งนี้ข้อเท็จจริงคือเราไม่ได้เป็นฝ่ายโจมตีเขาก่อน และเราเป็นฝ่ายถูกกระทำ สิ่งสำคัญนั้นคือเราต้องรวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อน
เช้าวันนั้นผมรีบนัดหมายไปพบประธานคณะมนตรีความมั่นคงฯ เพื่อบรีฟสถานการณ์เบื้องต้นให้เขาทราบ ก่อนที่หนังสือทางการของไทยจะตามมาในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา สรุปก็คือหนังสือของเรากับของกัมพูชา ก็มีไปถึงคณะมนตรีความมั่นคงฯ ในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งสุดท้ายก็นำไปสู่การประชุมแบบปิด (Private Meeting) ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์แบบนี้เพื่อไม่ให้การชี้แจงข้อมูลกลายเป็นการโต้วาทีออกสื่อ
ณัฏฐา โกมลวาทิน: มีข้อสังเกตจากในไทยว่าเรา “ช้าไป” หรือ “ตามเกม” กัมพูชาหรือไม่ ในการยื่นหนังสือถึง UNSC
เชิดชาย ใช้ไววิทย์: ผมคิดว่าเรื่องช้าหรือไม่ช้าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ข้อเท็จจริงคือเราไม่สามารถเขียนหนังสือได้ใน 10 นาทีหลังเกิดเหตุ เพราะเราไม่มีข้อมูลในมือและต้องตรวจสอบข้อกฎหมาย เราไม่ทราบล่วงหน้าว่ากัมพูชาจะโจมตีเรา แต่ผมเชื่อว่าหนังสือที่เราเขียนออกไปนั้น ข้อมูลครอบคลุม ชัดเจน ตรงประเด็น และอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงทุกคำพูด ซึ่งเป็นปกติที่จะต้องใช้เวลา
ในวันนั้น (24 กรกฎาคม) เรามีหนังสือถึง 3 ฉบับ (กัมพูชามี 2 ฉบับ) จะเห็นได้ว่า ฉบับแรกของเราถึงประธาน UNSC, ฉบับที่สองเวียนคณะทูต และฉบับที่สามซึ่งกัมพูชาไม่ได้ทำ คือเราทำหนังสือตรงถึงเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อร้องเรียนเรื่องที่กัมพูชาใช้ทุ่นระเบิดสังหารส่วนบุคคล ซึ่งเราทำเร็วกว่าขั้นตอนปกติด้วยซ้ำ แต่หนังสือฉบับนี้ก็ช่วยเป็นใบเบิกทางให้ผมได้เข้าพบท่านเลขาฯ เพื่ออธิบายสถานการณ์ทั้งหมดและแสดงหลักฐานความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพลเรือนไทยในวันนั้นเลย ซึ่งนี่คือการทำงานเชิงรุกของเรา
ณัฏฐา โกมลวาทิน: ในการร่างแถลงการณ์ 6 ข้อที่ท่านทูตนำไปกล่าวในที่ประชุม มีการวางยุทธศาสตร์และตัดสินใจเลือกใช้คำอย่าง Inhuman หรือ Indiscriminate อย่างไรบ้าง และมีการล็อบบี้ชาติสมาชิกก่อนหรือไม่
เชิดชาย ใช้ไววิทย์: การร่าง Statement เป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีมของนิวยอร์กและกรุงเทพฯ เราต้องการให้รัดกุม แม่นยำ และอยู่บนข้อเท็จจริงที่สุด ผมแบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญ
- เปิดประเด็น: เราต้องพูดให้ชัดเจนว่า “ประชาชนกัมพูชาไม่ใช่ศัตรูของไทย” เราคือบ้านพี่เมืองน้อง เราช่วยเหลือเขามาตลอดตั้งแต่สงครามกลางเมืองจนเข้าอาเซียน เพื่อนบ้านอาจมีความขัดแย้งกันได้ แต่การใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ผิดและเรารับไม่ได้
- ข้อเท็จจริง (Fact): เราให้ข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น และต้องเคลียร์ 2 ประเด็นคือ หนึ่ง เราไม่ได้เริ่มก่อน และ สอง กัมพูชายิงจรวดเข้ามาโดยไม่เลือกเป้าหมาย (Indiscriminate) ผมย้ำคำนี้ 4 ครั้งเพื่อเน้นว่าการกระทำแบบนี้ผิดหลักการสากล ทำให้พลเรือนเราเสียชีวิต บาดเจ็บ และไร้บ้าน จนนำไปสู่การประณามอย่างรุนแรงที่สุดในการกระทำของกัมพูชา
- การปฏิบัติการของไทยและข้อเรียกร้อง: เราชี้แจงว่าการตอบโต้ของเราเป็นไปตามหลักการ ไม่ได้กระทบเขาพระวิหาร และเราเรียกร้องให้กัมพูชาหยุดการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์และกลับสู่โต๊ะเจรจาด้วยความจริงใจ
คุณจะเห็นว่าข้อเรียกร้องเราต่างจากกัมพูชาที่ขอให้ UNSC เข้ามาจัดการ ออกข้อมติหยุดยิง และส่งเรื่องไปศาลโลก ซึ่งไม่มีชาติสมาชิกใดตอบรับข้อเสนอของกัมพูชาเลย แต่ทุกคนสนับสนุนให้ใช้กลไกทวิภาคีและอาเซียน
ณัฏฐา โกมลวาทิน: บรรยากาศในห้องประชุมเป็นอย่างไรบ้าง และการที่เราได้พูดเป็นลำดับที่สองส่งผลอย่างไร
เชิดชาย ใช้ไววิทย์: การประชุมเริ่มจากทีมของท่านเลขาฯ บรีฟข้อมูลภาพรวมก่อน ซึ่ง 60-70% เป็นข้อมูลที่เราให้ท่านเลขาฯ ไปก่อนหน้านี้ จากนั้นกัมพูชาในฐานะผู้ร้องขอได้พูดก่อน ซึ่งผมก็คิดว่าดีที่เขาพูดก่อน เพราะทำให้ผมรู้ว่าเขาจะพูดอะไร และผมสามารถปรับแก้ เพิ่มเติมเนื้อหาในแถลงการณ์ของเราเพื่อตอบโต้ประเด็นของเขาได้ทันที
หลังจากผมพูดจบ ประธานก็เปิดให้สมาชิกทั้ง 15 ประเทศแสดงความเห็น ซึ่งทุกประเทศมีแถลงการณ์ย้ำให้แก้ปัญหาผ่านกลไกทวิภาคีและอาเซียน การที่เราได้พูดเป็นคนที่สอง ทำให้ข้อมูลของเรายังสดใหม่ในใจของผู้ฟัง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราตัดสินใจแสดงภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพลเรือนไทยในที่ประชุม
ณัฏฐา โกมลวาทิน: การแสดงภาพในที่ประชุมเป็นส่วนหนึ่งของแผนหรือไม่ และมีช่วงไหนที่สะเทือนใจเป็นพิเศษบ้าง
เชิดชาย ใช้ไววิทย์: ผมขยายภาพความเสียหายและชูให้ทุกคนเห็น ทั้งนี้ตอนที่ผมกำลังจะพูดถึงผลกระทบต่อพลเรือน ผมได้ repeat คำพูดของทูตกัมพูชาที่พูดก่อนหน้าว่า “Don’t look away” ผมจึงบอกที่ประชุมเหมือนกันว่า “Don’t look away” จากภาพที่ผมกำลังจะแสดง เพราะมันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงจากการกระทำของกัมพูชา โดยวินาทีนั้นทั้งห้องเงียบสนิท ทุกคนโฟกัสมาที่เรา
มีประเด็นหนึ่งที่ผมตัดสินใจพูดโดยไม่ได้เตรียมไว้ล่วงหน้าใน Statement คือ เรื่องราวของครอบครัว แม่และลูก 2 คน ที่เสียชีวิตในร้านสะดวกซื้อ ณ วินาทีนั้นผมสะเทือนใจมากจนพูดแทบไม่ออก มันเป็นช่วงเวลาที่นานมากในห้องประชุม และผมเชื่อว่าความรู้สึกนั้นได้ส่งไปถึงทุกคนในห้อง เพราะหลังจากนั้นสมาชิกมากกว่าครึ่งได้เพิ่มประเด็นเรื่องผลกระทบต่อพลเรือนเข้าไปในแถลงการณ์ของพวกเขาหลังจากที่ได้รับฟัง Statement ของเรา
ณัฏฐา โกมลวาทิน: ในเวทีการทูตที่กัมพูชามักใช้ Narrative ว่าเป็น “ประเทศเล็กถูกรังแก” เราจะสื่อสาร Narrative ของไทยอย่างไร และการประชุมครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะของไทยหรือไม่
เชิดชาย ใช้ไววิทย์: ผมไม่คิดว่าเราผูกตัวเองกับ Narrative เล็กหรือใหญ่ ประเทศไทยอาจไม่เพอร์เฟกต์ แต่สิ่งที่ผมเชื่อมาตลอดคือ “ประเทศไทยไม่เคยคิดร้ายกับใคร” และ “ใจกว้างที่สุดในโลก” เราช่วยเหลือทุกคนเพราะอยากเห็นโลกดีขึ้น วันที่ผมพูดในที่ประชุม ผมไม่ต้องฝืนตัวเองเลยเพราะทุกคำพูดคือความจริง คือคาแรกเตอร์ของไทย และผมพูดในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่สะท้อนความรู้สึกของคนทั้งชาติ
ส่วนเรื่องแพ้ชนะ ผมคิดว่าสงครามและความรุนแรงมีแต่ผู้แพ้ ไม่มีผู้ชนะ ตั้งแต่เสียงปืนนัดแรกไทยและกัมพูชาก็สูญเสีย ผมไม่ได้มองว่าความสำเร็จของไทยในการประชุมขึ้นอยู่กับว่าที่ประชุมจะต้องมีมติออกมาหรือไม่ และเป็นคุณกับใคร ถึงจะเรียกว่าสำเร็จ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผมคือ ไทยได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว และเราสำเร็จในการทำให้ทุกคนในที่ประชุมตั้งใจฟังทุกคำพูดของเรา และเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำคือการทำงานเป็นทีมเพื่อปกป้องประเทศไทย
ณัฏฐา โกมลวาทิน: ก้าวต่อไป (What’s next) หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร
เชิดชาย ใช้ไววิทย์: ขณะที่เราคุยกันอยู่ ท่านเลขาธิการ UN ได้ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยและประณามความรุนแรงที่เกิดกับประชาชน ซึ่งสะท้อนข้อมูลที่เราได้นำเสนอไป แสดงว่าเขาเข้าใจสถานการณ์จากสิ่งที่เราชี้แจง ส่วนเรื่องแนวทางต่อไปยังต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ
แฟ้มภาพ: ให้สัมภาษณ์ THE STANDARD 11 มิ.ย. 2568 ที่กรุงเทพฯ