×

EXCLUSIVE: ‘บ้านปู เพาเวอร์’ ลุยธุรกิจดักจับคาร์บอนในสหรัฐฯ พร้อมวางรายได้จากพลังงานสะอาด 25-30% ภายในปี 2568

28.08.2023
  • LOADING...

จากกลยุทธ์ของ บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ หรือ BPP ที่ว่า Greener & Smarter ด้วยแผนการขยายกำลังผลิตให้ได้มากกว่า 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 ในส่วนนี้จะช่วยให้สัดส่วนรายได้จากพลังงานสะอาดของบริษัทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 25-30% ของรายได้รวม 

 

ปัจจุบัน BPP เป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครอบคลุมประเทศไทย, สปป.ลาว, จีน, ญี่ปุ่น, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา โดยมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าหลากหลายประเภท ทั้งโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน และโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 

 

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายการลงทุนในส่วนของธุรกิจดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ซึ่งล่าสุดมีแผนที่จะร่วมทุนกับบริษัท BKV dCarbon Ventures ในสหรัฐฯ โดยใช้เงินลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทราว 10 ล้านดอลลาร์ หรือราว 350 ล้านบาท จากมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการประมาณ 14-24 ล้านดอลลาร์ โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ BKV-BPP Cotton Cove LLC ซึ่งมีบริษัทย่อยในสหรัฐฯ ถือหุ้น 49% และ BKV dCarbon ถือหุ้น 51% 

 

กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ BPP เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า โครงการ Cotton Cove เป็นโครงการที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2565 โดย BKV dCarbon ซึ่งโครงการนี้ใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์กลางน้ำของกลุ่มบริษัทบ้านปูในการแยก กำจัด และกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่ง Barnett ของกลุ่มบ้านปู 

 

BKV dCarbon คาดว่าโครงการ Cotton Cove จะมีอัตราการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยประมาณ 45,000 เมตริกตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และตลอดระยะเวลาของโครงการทั้งหมด 12 ปี จะช่วยให้โครงการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 500,000 เมตริกตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจะเริ่มดำเนินการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ภายในไตรมาส 4 ปี 2567

 

กิรณกล่าวต่อว่า ธุรกิจ CCUS ในแต่ละภูมิภาคของโลกจะมีการเติบโตที่แตกต่างกัน เนื่องจากต้นทุนที่ยังค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลจากกระบวนการในการดักจับคาร์บอนและนำไปกักเก็บต้องอาศัยความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงมาก 

 

“ในรัฐเท็กซัสที่บ้านปูลงทุนเรื่องของก๊าซธรรมชาติอยู่แล้วก่อนหน้านี้ ทำให้เรามีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอนอยู่แล้ว ขณะเดียวกันสหรัฐฯ มีนโยบายที่เรียกว่า Inflation Reduction Act (IRA) ที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านเครดิตภาษี ทำให้ BPP วางแผนที่จะขยายการลงทุนในเรื่อง CCUS ต่อเนื่องหลังจากนี้” 

 

สำหรับการร่วมทุนในโครงการ Cotton Cove เป็นการศึกษาเรื่องของเทคโนโลยีให้มากขึ้น และพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะทำให้โรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติของบริษัทกลายเป็นโรงไฟฟ้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้ทั้งหมดในระยะยาว และที่สำคัญคือหากบริษัทมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี CCUS ก็ต้องการที่จะพัฒนาธุรกิจนี้ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

 

“แต่ปัจจัยสำคัญคือการสนับสนุนจากนโยบายรัฐ เรื่องของ CCUS ก็เหมือนกับการพัฒนาพลังงานทดแทนในช่วงแรกที่ต้องอาศัยการอุดหนุนจากภาครัฐ

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่พลังงานสะอาดของ BPP ต้องยอมรับว่ายังมีธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ด้วย ซึ่งเป็นไปตามสัญญาระยะยาวที่ทำไว้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่ที่ผ่านมาบริษัทได้หยุดการลงทุนใหม่ในส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหิน และมุ่งลงทุนในโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทนเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยให้รายได้จากพลังงานสะอาดของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 25-30% ภายในปี 2568 

 

“โอกาสของ BPP ตอนนี้ไม่ได้อยู่แค่ CCUS และพลังงานสะอาด แต่ยังมีการศึกษาเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นในการนำแอมโมเนียมาใช้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และช่วยให้พลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดยิ่งขึ้น”  

 

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการวางเป้าหมายมุ่งสู่พลังงานสะอาดของปี 2573 และเป้าหมายที่ไกลกว่านั้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X