วันนี้ (18 กันยายน) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 24 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1) เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ที่มี เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร และคณะ เป็นผู้เสนอ และขอให้ที่ประชุมเห็นชอบให้พิจารณาร่วมกับร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการทำนองเดียวกันอีก 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู และคณะ เป็นผู้เสนอ และร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่มี ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ และคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งนับเป็นการเสนอเข้าสู่สภาเป็นครั้งที่ 2 หลังจากการเสนอครั้งแรกในสภาสมัยก่อนหน้านี้มีการลงมติไม่รับหลักการในวาระที่ 3
ทั้งนี้ เท่าพิภพกล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ครั้งนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 153 เพื่อกำหนดให้ผู้ประสงค์ผลิตสุราเฉพาะเพื่อการค้าเท่านั้นที่ต้องขออนุญาตผลิต และกำหนดกรอบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขออนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้าอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
ร่างฯ นี้มีรายละเอียดเหมือนร่างฯ เดิมจากครั้งก่อนที่มีการลงมติรับหลักการไปแล้วรอบหนึ่ง แต่แพ้ไป 2 คะแนนในวาระที่ 3 และตนต้องขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกฝ่ายรัฐบาลที่ยื่นร่างฯ มาประกบพิจารณาพร้อมกัน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เป็นนโยบายที่ตนขับเคลื่อนมาตั้งแต่ก่อนเป็น สส. ก่อนหน้านี้ตนเคยโดนจับเพราะทำเบียร์ขายจนเป็นแรงบันดาลใจให้มายืนอยู่ที่นี่
“วันนี้จะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่าสภาและระบอบประชาธิปไตยจะสามารถทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยสู้กับทุนใหญ่ สู้กับระบบ และเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศและของตัวเองได้หรือไม่” เท่าพิภพกล่าว
เท่าพิภพอภิปรายถึงรายละเอียดประการต่อมาในการแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ว่าคือการปรับแก้เงื่อนไขในกฎกระทรวงที่กำหนดปริมาณขั้นต่ำจำกัดรายย่อย อาทิ กรณีผู้ผลิตเบียร์ที่ไม่สามารถบรรจุกระป๋องได้นอกจากจะผลิตปีละขั้นต่ำ 7.2 ล้านลิตร ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมาก ทั้งที่ธุรกิจการบรรจุกระป๋องไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเป็นโรงงานใหญ่ และไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะต้องจำกัดรายย่อยไม่ให้เข้าสู่ตลาด
นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขในส่วนของการผลิตสุราชนิดพิเศษ ซึ่งทั้งภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และใต้ ของประเทศไทย มีวัฒนธรรมการทำสุรากลั่นหรือเหล้าขาวมายาวนาน หลายคนมีการทำให้เป็นสินค้าพรีเมียมที่มีราคามากขึ้น แต่ถ้าจะทำให้พรีเมียมกว่านี้ สามารถทำเป็นไทยวิสกี้ได้โดยการบ่ม แต่ตามกฎกระทรวงขณะนี้ถูกจำกัดอยู่ เพราะทำได้เพียง 30,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งร่างฯ นี้ต้องการที่จะแก้ไขไม่ให้มีการตั้งข้อจำกัดเหล่านี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่ตลาดและสามารถมีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้
เท่าพิภพอภิปรายต่อไปถึงข้อกังวลที่อาจถูกยกขึ้นมา โดยระบุว่า สำหรับสมาชิกที่กังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์เหมือนกรณียาดองมรณะหรือไม่ ตนยืนยันได้ว่าการผลิตสุราและกรณียาดองมรณะเป็นคนละเรื่อง เพราะกรณียาดองมรณะเกิดจากการซื้อเอทานอลบริสุทธิ์ 99% ที่ไม่มีการควบคุมมาผสมแล้วไปทำเมทานอล ซึ่งไม่สามารถกลั่นจากพืชที่ใช้ทำสุราได้นำมาใส่
ดังนั้นตนกล้ารับรองว่าการทำสุรา แม้จะทำกินเองที่บ้านโดยไม่มีความรู้ ถ้าไม่นำเมทานอลที่เกิดจากการกลั่นของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมมาใส่อย่างไรก็ปลอดภัย กรณีที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการอุตริเท่านั้น นี่คือสิ่งที่ยืนยันได้ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพราะขั้นตอนการเกิดเมทานอลในการผลิตสุราเป็นไปได้ยากมาก เมทานอลจะเกิดจากการกลั่นได้ต้องมีเอนไซม์ PME ไปย่อยเพกติน จะพบมากในผลไม้ประเภทเปลือก เช่น องุ่นและพีช ซึ่งประเทศไทยไม่ได้ใช้ทำสุรา ดังนั้นการผลิตสุราเองที่บ้านจึงไม่เป็นอันตราย และเป็นการส่งเสริมสิทธิของประชาชนในบ้านของตัวเองด้วยซ้ำ
“ผมไม่ได้แคร์ตั้งแต่แรกอยู่แล้วครับว่าเรือลำนี้จะชื่อสุราก้าวหน้า จะชื่อสุราชุมชน หรือสุรารวมไทย ผมขอแค่ให้เรือลำนี้ถึงฝั่งก็พอ ผมขอฝากคนที่มาเป็นกัปตันเรือคนใหม่ พาความฝันเพื่อนของผม ของคนในวงการสุราไทย กับการที่ผมถูกลอยคออยู่นอกฝั่งและเห็นเรือลำนี้เข้าฝั่ง” เท่าพิภพกล่าว
ทั้งนี้ ก่อนลงมติ ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส. เลย พรรคเพื่อไทย ขอให้มีการลงมติแยกแต่ละร่าง เนื่องจากยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในแต่ละร่าง ส่วนเท่าพิภพ ในฐานะผู้เสนอร่าง ขอให้ที่ประชุมลงมติรวมไปเลย พร้อมให้เหตุผลว่า เนื่องจากสมาชิกสามารถแปรญัตติให้แตกต่างกับร่างของตนเองหรือกรรมาธิการที่ต้องแก้ไขได้ และทั้ง 3 ร่างนั้นแม้จะมีหลักการที่แตกต่างกัน แต่ถือว่ายังไปในทิศทางเดียวกัน และรัฐสภามีการพิจารณาหลายครั้งและโหวตรวมกันไป เหตุผลข้อที่ 2 คือ ร่างที่ตนเองเสนอนั้นไม่ใช่ร่างหลักอยู่แล้ว ดังนั้นขอให้ขึ้นเรือลำนี้ไปด้วย ขอให้มีการโหวตรวมไปด้วยกัน
ทั้งนี้ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 1 ในฐานะประธานการประชุม จึงถามมติของที่ประชุมว่าควรลงมติทีละฉบับหรือไม่หรือให้ลงมติรวมทั้งฉบับ ซึ่งระหว่างที่ให้สมาชิกแสดงตนเพื่อนับองค์ประชุมจำนวน 356 เสียง ถือว่าครบองค์ประชุม จากนั้นเข้าสู่การลงมติว่าจะลงมติทีละฉบับหรือไม่หรือให้ลงมติรวมทั้งฉบับ ที่ประชุมจำนวน 225 ต่อ 137 เสียง เห็นด้วยให้ลงมติวาระที่ 1 ทีละฉบับ
จากนั้น อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า เนื่องจากในวันนี้มีเพื่อนสมาชิกจำนวนมากร่วมกันแสดงความคิดเห็น แต่สิ่งที่เห็นไม่ตรงกันนั้นมีเพียงเรื่องหลักการ จึงขอเวลาให้สมาชิกทำความเข้าใจกับทั้ง 3 ร่างว่าจะส่งผลกระทบอย่างไร จึงขอให้มีการโหวตสัปดาห์หน้า
พิเชษฐ์จึงขอให้เท่าพิภพ ในฐานะผู้เสนอร่างฯ ไปร่วมพูดคุยกับสมาชิกเพิ่มเติม และปิดการประชุมในเวลา 19.39 น.