ความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรกส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก ตลาดหุ้นทั่วโลกประสบกับภาวะตกต่ำสุดในประวัติศาสตร์ แม้ว่าตอนนี้จะเริ่มเห็นภาพตลาดฟื้นตัวอยู่บ้าง หรือมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เนื่องจากประเมินว่ามาตรการทั้งการเงินและการคลังทั่วโลกจะช่วยพยุงและผลักดันเศรษฐกิจให้เข้าสู่ภาวะปกติได้ในที่สุด แต่ก็ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยง ทั้งการแพร่ระบาดระลอก 2 ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ หรือสถานการณ์ลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็ยังมีความผันผวน บางธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักและดูจะเรื้อรังไปอีกระยะอย่างธุรกิจท่องเที่ยวหรือธุรกิจส่งออกที่เจ็บหนัก หากไม่มีการปรับเชิงโครงสร้าง ในอนาคตตลาดหุ้นไทยอาจจะไม่เติบโตสร้างผลตอบแทนได้ดีเท่า 10 ปีที่ผ่านมาอีกแล้ว
แม้ตลาดหุ้นอาจจะยังไม่คึกคัก แต่นักลงทุนก็มองหาความเป็นไปในสถานการณ์เช่นนี้อยู่เสมอ เนื่องจากโอกาสการลงทุนยังมี แต่อาจต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรสินทรัพย์ในพอร์ตเป็นพิเศษ เน้นกระจายพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย และกระจายความเสี่ยงการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งนักลงทุนมือใหม่ที่อยากเริ่มต้นลงทุน การออมเงินในธนาคารในระยะยาวอาจไม่ตอบโจทย์ น่าจะเริ่มศึกษาการลงทุนในหลายรูปแบบเพิ่มขึ้น
แต่การกระจายความเสี่ยงลงทุนในต่างประเทศนั้นค่อนข้างยุ่งยาก มักต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นสูง และมีค่าธรรมเนียมแพง ตัวเลขกลมๆ ในการลงทุนหุ้นต่างประเทศอาจต้องใช้เงินลงทุนกว่า 3 ล้านบาท หรือถ้ากระจายความเสี่ยงตามคำแนะนำของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งแนะนำการลงทุนที่สร้างรายได้แบบ Passive Income ในกองทุนดัชนีค่าธรรมเนียมต่ำ ได้ค่าตอบแทนระยะยาวตามเศรษฐกิจของประเทศ ทางเลือกในประเทศไทยก็มีไม่มากนัก แต่ใช่ว่าจะไร้ทางเลือกเลย
“คุณต้องการความอดทน วินัย รวมทั้งความสามารถในการรับมือกับการขาดทุนและอุปสรรคทั้งหลายโดยไม่เป็นบ้าไปเสียก่อน” ตอบตัวเองให้ชัดว่าคุณมีสิ่งเหล่านี้เหมือนที่ ชาร์ลี มังเกอร์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลกได้กล่าวไว้ในเว็บไซต์แนะนำการลงทุน Kiplinger (ปี 2005) หรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ คุณต้องมองหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนและลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนในยุค New Normal ได้
กองทุนมาแรงอย่าง ETF หรือ Exchange Traded Fund ดูจะเป็นทางเลือกในการลงทุนที่ไม่ควรมองข้ามในสถานการณ์เช่นนี้ ในต่างประเทศสัดส่วนการลงทุนใน ETF เริ่มมากขึ้น ขนาด วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังสนใจและลงทุนใน ETF ถ้าเช่นนั้นแล้ว ETF คืออะไร ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าขนาดไหน และหากนักลงทุนทั่วไปสนใจ จะเริ่มต้นลงทุน ETF อย่างไร
ETF กองทุนที่เปิดโอกาสให้คุณเป็นเจ้าของหุ้นกว่า 100 หุ้น ด้วยการซื้อเพียงครั้งเดียว
Exchange Traded Fund (ETF) คือกองทุนที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หรือจะมองเป็นลูกผสมระหว่างหุ้นกับกองทุนรวมดัชนี เป็นเหมือนกองทุนดัชนีที่ซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้เลย เป็นเครื่องมือลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำ และกระจายการลงทุนต่างประเทศที่สะดวก รวดเร็ว และยืดหยุ่นที่สุดในยุคนี้
จุดเด่นของ ETF คือ รวมข้อดีของกองทุนรวมและหุ้นเอาไว้ในกองเดียว จึงกระจายความเสี่ยงที่พอร์ตจะเสียหาย เพิ่มโอกาสทำกำไรได้มากกว่าซื้อหุ้นแค่ตัวเดียว ยิ่งเป็นการซื้อหุ้นต่างประเทศ ต่อให้ประเทศใดเกิดวิกฤตก็ยังกระจายความเสี่ยงหลายประเทศ และยังกระจายความเสี่ยงไปหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ ETF ตลาดต่างประเทศ มีให้เลือกลงทุนในหลากหลายกลุ่ม มีทุกเทรนด์ให้คุณเลือก เช่น Vanguard Total Stock Market ETF (VTI) ที่อ้างอิงดัชนี CRSP US Total Market Index รวมหุ้นทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ หรือ Energy Sector SPDR Fund ETF รวมเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงาน เป็นต้น
สิ่งที่ทำให้ ETF น่าสนใจสำหรับนักลงทุนก็คือ สามารถซื้อขายได้แบบเรียลไทม์ ซื้อขายผ่านตลาดหุ้นได้ทันที จึงมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ถูกจังหวะระหว่างวัน ไม่ต้องรอปิดตลาด รวมไปถึงค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าซื้อกองทุนรวม เพราะเป็นการซื้อขายผ่านตลาดหุ้น ซื้อขายได้โดยตรงไม่ต้องผ่าน บลจ. เหมือนกองทุนรวม จึงลดค่าใช้จ่ายระหว่างทาง อย่าง VTI มีค่าธรรมเนียมเพียงแค่ 0.03% เท่านั้น
การลงทุนผ่าน Global ETF ก็สามารถใช้บริการบริษัทจัดการหลักทรัพย์ที่เชี่ยวชาญได้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนที่ทุกคนเข้าถึงได้ คล้ายกับการซื้อกองดัชนีที่มีคนบริหารจัดการพอร์ตให้ เราก็แค่เข้าไปซื้อหน่วยลงทุนมา ก็ได้ร่วมเป็นเจ้าของหลักทรัพย์ต่างๆ ที่อยู่ในพอร์ตไปโดยปริยาย และยังได้รับผลตอบแทนดี เหมาะกับเศรษฐกิจยุคนี้ ลดความผันผวนของพอร์ตลงทุน
จุดเด่นอีกข้อของ ETF คือการลงทุนสามารถเริ่มต้นได้ที่หลักแสนบาท ทำให้นักลงทุนหน้าใหม่สามารถเข้าถึงการลงทุนในกองทุนต่างประเทศได้ง่ายมากขึ้น
สำหรับ ‘กองทุนส่วนบุคคล Global ETF’ เป็นกองทุนที่ลงทุนใน ETF ตามทฤษฎี Modern Portfolio Theory (MPT) ที่คอยซื้อดัชนีหุ้นทั่วโลก บริการจัดการ ทั้งการเลือกหุ้น โอนเงินไปต่างประเทศ ซื้อขาย และปรับพอร์ต
MPT สร้างผลตอบแทนสูง ลดความเสี่ยงให้น้อยได้อย่างไร
ทฤษฎี Modern Portfolio Theory (MPT) เป็นแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ แฮร์รี มาร์โควิตซ์ (Harry Markowitz) ที่ได้รับรางวัลโนเบล หัวใจสำคัญของทฤษฎี MPT คือเน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยการ กระจายความเสี่ยงในการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทและเลือกวิเคราะห์ความเสี่ยงของพอร์ตแต่ละตัวก่อนจะนำมาวิเคราะห์กำไรต่อความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวม เช่นนั้นแล้วต่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น จะมีสินทรัพย์ที่ช่วยถ่วงดุล ประคองพอร์ตไม่ให้ขาดทุนหนัก ลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวม นำไปสู่พอร์ตในอุดมคติของนักลงทุนคือ ‘ขยายผลกำไรได้มากที่สุด ในความเสี่ยงที่น้อยที่สุด’
ประเด็นคือ น้อยคนนักที่จะจับทิศทางตลาดได้ถูกต้องหรือเลือกสินทรัพย์แบบไม่พลาดเป้า ซึ่งมาร์โควิตซ์มองว่า ถ้าอยากจำกัดความเสี่ยงและมุ่งหวังให้พอร์ตลงทุนทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ทำผลตอบแทนให้ได้มากที่สุด ต้องให้ความสำคัญกับการ จัดสรรสินทรัพย์ หรือ Asset Allocation และการกระจายความเสี่ยง หรือ Diversification นี่คือแกนของทฤษฎี Modern Portfolio Theory
จุดเด่นการลงทุนใน ‘กองทุนส่วนบุคคล Global ETF’
ซึ่งหากมอง Asset Class ที่ ‘กองทุนส่วนบุคคล Global ETF’ เลือกลงทุน ได้แก่ หุ้นสหรัฐอเมริกา หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว หุ้นตลาดเกิดใหม่ พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชนชั้นดีในสหรัฐอเมริกา ก็เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุน ช่วยให้คุณลงทุนได้แบบไม่ต้องเครียด และสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจในระยะยาว ยึดตามหัวใจของการบริหารจัดการแบบ Global ETF ทั้ง 4 ข้อ นั่นคือ
- เลือก Asset Class หรือลงทุนในสินทรัพย์ที่ดี ได้แก่ หุ้นและตราสารหนี้
- เลือก ETF เป็นตัวแทนสินทรัพย์ทั้งสอง
- จัดสัดส่วนสินทรัพย์ทั้งสองให้สร้างผลตอบแทนสูงที่สุดในความเสี่ยงต่ำที่สุด
- ดูแลปรับพอร์ตแบบอัตโนมัติ
นักลงทุนยังสามารถเลือกแผนการลงทุน Global ETF จาก 3 แผนใหญ่ๆ ได้แก่
แผนเติบโต เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง ผลตอบแทนคาดหวัง 8% ต่อปี แบ่งสัดส่วนลงทุนในหุ้น 80% ลงทุนตราสารหนี้ 20%
แผนสมดุล เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง ผลตอบแทนคาดหวัง 6% ต่อปี แบ่งสัดส่วนลงทุนในหุ้น 50% ลงทุนตราสารหนี้ 50%
แผนพอเพียง เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างต่ำ ผลตอบแทนคาดหวัง 4% ต่อปี แบ่งสัดส่วนลงทุนในหุ้น 20% ลงทุนตราสารหนี้ 80%
แต่ละแผนจะให้ผลตอบแทนและระดับความเสี่ยงต่างกัน นักลงทุนสามารถเลือกแผนที่เหมาะกับตนเองได้
แต่ยังมีทางเลือกให้กับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและต้องการผลตอบแทนสูงกว่า 8% ต่อปี สามารถเลือกลงทุนในหุ้นอย่างเดียวโดยไม่ต้องลงทุนในตราสารหนี้เลยก็ได้ โดยเลือกลงทุนเฉพาะหมวดธุรกิจที่น่าสนใจเป็นธีมๆ ไป ผ่าน ‘กองทุนส่วนบุคคล Thematic’ การลงทุนในลักษณะนี้นอกจากจะได้โฟกัสสร้างผลตอบแทนจากธีมอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงอย่างเช่น การลงทุนในธุรกิจจีน ธุรกิจสหรัฐฯ ธุรกิจอินเดีย ธุรกิจเทคโนโลยี ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจสุขภาพและการแพทย์ ธุรกิจเกมและอีสปอร์ต ธุรกิจหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ธุรกิจฟินเทค และธุรกิจคลาวด์แล้ว นักลงทุนยังสามารถบริหารความเสี่ยงด้วยการจับคู่ลงทุนได้ถึง 5 ธีมในพอร์ตเดียว โดยลงทุนผ่าน ETF อาทิ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ลงทุนผ่านกองทุน ProShares Online Retail ETF, ธุรกิจเกมและอีสปอร์ต ลงทุนผ่านกองทุน Global X Video Games & E-sports ETF, ธุรกิจหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ลงทุนผ่านกองทุน iShares Robotics and Artificial Intelligence Multisector ETF, ธุรกิจจีน ลงทุนผ่านกองทุน iShares MSCI China ETF หรือธุรกิจสหรัฐฯ ลงทุนผ่านกองทุน Schwab U.S. Large-Cap ETF เป็นต้น ซึ่งการเลือกลงทุน ETF หลายๆ ธีมพร้อมกันในพอร์ตเดียว จะช่วยลดความเสี่ยงให้พอร์ตผันผวนน้อยลง ลดภาระค่าธรรมเนียม ในขณะเดียวกันก็ลดความยุ่งยากของการบริหารจัดการหลายๆ กองทุนพร้อมๆ กัน เวลาปรับพอร์ต เพิ่มทุนหรือถอนเงินก็ไม่ต้องมาคิดคำนวณให้สับสนวุ่นวาย
ดังนั้นแม้ว่าความเสี่ยงของกองทุนส่วนบุคคล Thematic จะสูงกว่า Global ETF เนื่องจากหุ้นที่ลงทุนมีการลงทุนกระจุกตัวสูงกว่า แต่ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ในระดับ 12-18% ต่อปี จากการทดสอบผลตอบแทนของพอร์ตที่ลงทุน 4 ธีมในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดย 4 ธีมที่นำมาจัดพอร์ตแล้วสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงสุด 18% ต่อปีคือ ธุรกิจจีน ธุรกิจสหรัฐฯ ธุรกิจเทคโนโลยี และธุรกิจสุขภาพและการแพทย์
ที่สำคัญทั้ง ‘กองทุนส่วนบุคคล Thematic’ และ ‘กองทุนส่วนบุคคล Global ETF’ ล้วนบริหารจัดการกองทุนด้วยระบบอัตโนมัติ (Automated Investing) ตอบโจทย์นักลงทุนมือใหม่ หรือนักลงทุนที่เริ่มเห็นอนาคตที่สดใสในตลาดต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุนที่ไม่ค่อยมีเวลา แทบจะไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของตลาด เพราะทั้งสองรูปแบบจะปรับพอร์ตอัตโนมัติเมื่อสัดส่วนของสินทรัพย์ในพอร์ตหรือธีมธุรกิจแต่ละธีมขยับจากมูลค่าที่ควรจะเป็นเกิน 5% หรือทุกๆ 1 ปีเพื่อรักษาระดับความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนของพอร์ตให้เหมาะสมกับนักลงทุน
ขณะเดียวกันค่าธรรมเนียมจัดเก็บมีเพียงค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ 0.5% ต่อปี และค่าใช้จ่ายตามจริงที่เรียกเก็บโดยผู้ให้บริการ เช่น โบรกเกอร์ ผู้รักษาสินทรัพย์ จะไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามกำไร (Performance Fee) บวก ลบ คูณ หารแล้วถือยาวๆ หลายปี คุณเซฟเงินได้หลักแสนเลยล่ะ
- การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการลงทุน และผู้ที่สนใจ ‘กองทุนส่วนบุคคล Thematic’ และ ‘กองทุนส่วนบุคคล Global ETF’ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก https://jittawealth.com บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด หรือ Jitta Wealth สตาร์ทอัพ WealthTech แรกของไทยที่ได้รับอนุญาตบริหารจัดการกองทุนส่วนบุคคลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Jitta Wealth เพื่อเปิดบัญชีลงทุนได้ทั้งระบบ iOS และ Android