วันนี้ (3 เมษายน) สมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เปิดเผยว่า อดีต สว. จำนวน 191 คน ร่วมกันลงชื่อในแถลงการณ์ เรื่อง คัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex และร่างกฎหมายการพนันออนไลน์ ส่งถึงประธานรัฐสภา หัวหน้าพรรคการเมือง และประชาชนไทย โดยเนื้อหาระบุว่า
ข้าพเจ้า อดีต สว. ตามรายชื่อที่ปรากฏข้างท้ายนี้ ขอแถลงว่าในฐานะประชาชนที่มีความห่วงใยประเทศชาติ ในฐานะผู้เคยทำหน้าที่นิติบัญญัติแห่งรัฐสภา มีความเห็นร่วมกันว่าร่างกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร และร่างกฎหมายการพนันออนไลน์ที่จะนำเข้าสู่การรับรองของสภาผู้แทนราษฎรในระยะใกล้นี้ จะเป็นหายนะภัยอย่างยิ่งต่อประเทศชาติ ประชาชน และต่ออนาคตของลูกหลานคนไทยทั้งปวง
เราขอแสดงทัศนะ ดังนี้
- คาสิโนและการพนัน ไม่ใช่นโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยประกาศรณรงค์ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่เป็นโครงการงอกขึ้นมาใหม่แบบผิดปกติ ซึ่งรัฐบาลกลับเห็นเป็นเรื่องด่วนและสำคัญ โดยจะเร่งนำเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันก่อนปิดสมัยการประชุมสภาในวันที่ 10 เมษายน 2568 ทั้งที่เป็นเรื่องรอได้ เมื่อเทียบกับปรากฏการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ 28 มีนาคม 2568 ที่ประชาชนทั้งประเทศตระหนกตกใจ และเรียกหามาตรการป้องกันภัยพิบัติในอนาคตอย่างเร่งด่วน แต่กลับไม่ได้รับความใส่ใจจากรัฐบาล
- ข้ออ้างจากรัฐบาลเรื่องจะใช้พื้นที่สำหรับคาสิโนเพียง 10% เท่านั้น ถือว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอ เพราะคาสิโนมีฤทธิ์ร้ายแรงที่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ไม้ขีดก้านเดียวทำให้ไฟไหม้บ้านพังพินาศทั้งหลังได้ การพนันออนไลน์ไม่ต้องมีพื้นที่ทางกายภาพแม้เพียงตารางนิ้วเดียว แต่ทำให้เหยื่อสิ้นเนื้อประดาตัวได้ เชื้อมะเร็งปอดขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว แต่ก็ลุกลามทำลายร่างกายให้เจ็บและเสียชีวิตได้ พื้นที่มากน้อยจึงไม่สำคัญเท่าพิษสงของการพนัน
- อำนาจการพิจารณาอนุญาตและการบริหารจัดการในรายละเอียด เช่น การกำหนดพื้นที่และสัดส่วน หลักเกณฑ์การควบคุมป้องกันอบายมุขอื่นๆ การเก็บภาษี การยกเลิกกฎหมายและกฎระเบียบ ค่าธรรมเนียมในอนาคต การตรวจสอบถ่วงดุล ฯลฯ เหมือนโอนลอยอำนาจไปอยู่ในมือของคณะกรรมการนโยบายที่เปิดทาง และเอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจทุจริตได้อย่างไร้ขอบเขตทำให้ไม่สามารถวางใจได้ว่าโครงการจะดำเนินไปอย่างโปร่งใสสุจริต มาตรฐานการป้องกันและตรวจสอบการทุจริตของไทยนั้น ไม่อาจเทียบได้เลยกับสิงคโปร์ ดังที่รับทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว
- โครงการการพนันครบวงจรตามกฎหมายสองฉบับนี้ ไม่สามารถสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้จริงตามที่กล่าวอ้าง สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) ชี้ไว้แล้วว่า การพนันไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของ GDP เพราะปราศจากการผลิตใดๆ เป็นเพียงการย้ายเงินจากมือคนหนึ่งไปสู่มืออีกคนหนึ่งเท่านั้น
การพนันจึงเป็นกิจกรรมเสี่ยง ที่สร้างนักพนันเสพติด ทำให้คนเล่นหรือเหยื่อหมดเนื้อหมดตัว มีแต่เจ้ามือที่ร่ำรวย ใครเล่นได้ก็เล่นซ้ำ เพราะอยากได้เพิ่ม คนเล่นเสียก็เล่นซ้ำเพราะต้องการ ทวงคืน ไม่มีนักพนันคนไหนมั่งคั่งขึ้นมาจากการพนัน ตรงกันข้ามกลับต้องเป็นหนี้ ต้องขายทรัพย์สิน แม้แต่ต้องฆ่าตัวตายเพื่อหนีหนี้
- แหล่งคาสิโนและการพนันออนไลน์ คือ ที่รวมของการฉ้อฉลคดโกงทั้งปวง เช่น คอลเซนเตอร์ นักหลอกลวงให้ลงทุน (Scammer) อาชญากรข้ามชาติ ยาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าประเวณี โจร นักตีชิงวิ่งราว และเป็นแหล่งเพาะอบายมุขทั้งปวง ที่ชุมนุมกันอยู่ตามบ่อนชายแดนให้รู้เห็น กันโดยทั่วไป แล้วถึงขั้น รัฐบาลต้องตัดไฟ ตัดการสื่อสาร ตัดการส่งพลังงาน แล้วเหตุใดรัฐบาลยังไม่ตระหนักถึงมหันตภัยเหล่านี้
- คาสิโนไม่ได้ทำให้ประเทศร่ำรวยจริงตามคำโฆษณาของรัฐบาล ฟิลิปปินส์มีคาสิโน 50 แห่ง นับตั้งแต่ 50 ปีก่อน อีก 3 ประเทศ เริ่มมีคาสิโนตั้งแต่ 30 ปีก่อน คือ เมียนมามี 230 แห่ง, สปป.ลาว มี 2 แห่ง และกัมพูชามี 150 แห่ง ถ้าคาสิโนทำให้ประเทศมั่งคั่งขึ้นมาจริง ผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านนับแสนนับล้านคน ทำไมต้องอพยพมาทำงานในประเทศไทย นักพนันมีแต่อนาคตที่จะวิบัติสถานเดียว ดังที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ 100 กว่าปีล่วงมาแล้วว่า
“ข้อที่เข้าใจกันว่าเล่นไม่สนุกนั้นไม่จริงเลย สนุกยิ่งกว่าอะไรๆ หมด ถ้าชาวบางกอกรู้ ได้ไปเล่นแล้ว ฉิบหายกันไม่เหลือ ถ้าหากไปถึงเมืองเราเข้าเมื่อไร จะรอช้าสักวันเดียวก็ไม่ควร ต้องห้ามทันที”
ถ้ารัฐบาลเห็นว่า คนไทยทั้งประเทศสมควรตกเป็นทาสการพนัน ที่จะเสียไร่ เสียนา เสียรถ เสียทรัพย์สิน ครอบครัวพินาศ สังคมเสื่อมทราม ก็จงเดินหน้าต่อไป แต่ถ้ารัฐบาลตระหนักถึงบาปบุญคุณโทษ ที่คนรุ่นหลังจะต้องเผชิญกับมรดกบาปของแผ่นดิน ก็จงน้อมรับพระราชปณิธานของพระพุทธเจ้าหลวงใส่เกล้าใส่กระหม่อมฯ ด้วยการถอนกฎหมายทั้ง 2 ฉบับออกไป โดยเร็วเถิด
ทั้งแถลงการณ์ของอดีต สว. ทั้ง 191 คน ดังกล่าว มีรายชื่ออดีตประธานวุฒิสภา 3 คน ร่วมลงชื่อ ได้แก่
- พล.ต. มนูญกฤต รูปขจร อดีตประธานวุฒิสภา ปี 2543
- พล.อ. ธีรเดช มีเพียร อดีตประธานวุฒิสภา ปี 2554
- ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประธานวุฒิสภา ปี 2562
อดีตรองประธานวุฒิสภา 3 คน ร่วมลงชื่อ
- สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ปี 2554
- รศ. ดร.ทัศนา บุญทอง อดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ปี 2551
- พล.อ. สิงห์ศึก สิงห์ไพร อดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ปี 2562
และยังมีอดีต สว. ปี 2539 ร่วมลงชื่อ เช่น วัลลภ ตังคณานุรักษ์, กีรณา สุมาวงศ์ รวมถึงอดีต สว. ปี 2543, 2549, 2551, 2554 และ 2562 ร่วมลงชื่ออีกจำนวนมาก