Everything Everywhere All At Once ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส คือภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจากค่าย A24 โดยได้สองผู้กำกับ Daniel Scheinert และ Dan Kwan เจ้าของผลงานไอเดียสุดเจ๋งอย่าง Swiss Army Man (2016) มารับหน้าที่พาผู้ชมเดินทางสู่ ‘มัลติเวิร์ส’ อันบ้าคลั่งไปกับ Michelle Yeoh
ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวของ Evelyn Wang (Michelle Yeoh) หญิงชาวจีนที่ตัดสินใจออกเดินทางมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอเมริการ่วมกับสามี Waymond Wang (Ke Huy Quan) กระทั่งวันเวลาผ่านไป ดูเหมือนว่าชีวิตที่วาดฝันไว้ของ Evelyn กลับเต็มไปด้วยมรสุมชีวิตที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุด ทั้งการรับมือกับลูกสาวอย่าง Joy (Stephanie Hsu) ที่ไม่ค่อยจะลงรอยกันเท่าไรนัก การต้องช่วยสามีดูแลร้านสะดวกซักที่เก่าคร่ำครึ ไปจนถึงต้องจัดการเรื่องการยื่นภาษีให้ทันก่อนที่ร้านจะถูกสั่งปิด
แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่ออยู่ๆ Evelyn ก็ได้มาเจอกับ Waymond ที่กระโดดข้ามมาจากจักรวาลคู่ขนานเพื่อขอความช่วยเหลือจาก Evelyn ในการปกป้องมัลติเวิร์สจาก Jobu Tupaki บุคคลอันตรายที่กำลังสร้างความวุ่นวายไปทั่วมัลติเวิร์ส เธอจึงต้องเรียนรู้วิธีดึงความทรงจำและทักษะการต่อสู้ของตัวเองในจักรวาลคู่ขนานกว่าพันรูปแบบมาใช้หยุดยั้งตัวร้ายสุดโหด ก่อนที่มัลติเวิร์สทั้งหมดจะถูกทำลาย
สำหรับใครที่เคยชม Swiss Army Man ของ Daniel Scheinert และ Dan Kwan มาก่อน คงจะคุ้นเคยกับกลวิธีนำเสนอที่อัดแน่นไปด้วยลูกบ้าอันแพรวพราวจนทำให้เราต้องเหวอกับเรื่องราว มุกตลกขบขัน และการแสดงที่ไปสุดในทางของ Paul Dano และ Daniel Radcliffe ซึ่ง Everything Everywhere All At Once ก็ยังคงเอกลักษณ์ของ Daniel Scheinert และ Dan Kwan ไว้อย่างครบถ้วน
โดยจุดเด่นข้อแรกที่เราชื่นชอบมากๆ คือการสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับมัลติเวิร์สและเงื่อนไขในการกระโดดจากจักรวาลหนึ่งไปอีกจักรวาลหนึ่งออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ แม้ว่าอาจจะมีบางช่วงบางตอนที่เรารู้สึกว่าภาพยนตร์อธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีมัลติเวิร์สผ่านบทสนทนาของตัวละครค่อนข้างเร็วไปเสียหน่อย แต่ในระหว่างทาง ภาพยนตร์ก็สร้างสถานการณ์และการกระทำของตัวละครขึ้นมาเพื่ออธิบายทฤษฎีดังกล่าวให้เราทำความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น แถมผู้กำกับยังหยิบเงื่อนไขเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับมุกตลกและฉากแอ็กชันภายในเรื่องได้อย่างลงตัวอีกด้วย
นอกจากการสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับมัลติเวิร์สและการออกแบบฉากแอ็กชันที่สร้างสรรค์ อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ส่งให้ Everything Everywhere All At Once อัดแน่นไปลูกบ้าขั้นสุด คือฝีมือการตัดต่อของ Paul Rogers ที่หยิบวัตถุดิบต่างๆ ทั้งงานภาพสุดเวอร์วัง ดนตรีประกอบที่ลุ้นระทึก และเรื่องราวอันยุ่งเหยิง มาร้อยเรียงเข้าด้วยกันในจังหวะจะโคนที่กระชับฉับไว สลับไปมาระหว่างจักรวาลคู่ขนานที่มีหลายร้อยรูปแบบ (ดังที่เราได้เห็นกันไปแล้วในตัวอย่าง) เพื่อพาเราไปสัมผัสกับความยิ่งใหญ่และยุ่งเหยิงของมัลติเวิรส์ที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอ
ขณะเดียวกัน เมื่อภาพยนตร์ดำเนินไปถึงช่วงที่ต้องการพาผู้ชมดำดิ่งไปกับเรื่องราวของตัวละคร ผู้กำกับและทีมสร้างก็ยังคงใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบสลับจักรวาลมาขยายความให้เราเห็นถึงมิติของตัวละครมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
นอกจากกลวิธีนำเสนอและฉากแอ็กชันที่ตื่นตาตื่นใจแล้ว Everything Everywhere All At Once ยังมีเรื่องราวของตัวละครที่น่าสนใจและสามารถเชื่อมโยงกับผู้ชมได้ไม่ยากเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างวัยที่เกิดขึ้นในครอบครัว จนเกิดความขัดแย้งและไม่เข้าใจกันภายในครอบครัว ไปจนถึง ‘การส่งต่อ’ ความเจ็บปวดที่ตนเองเคยถูกกระทำจากคนรุ่นก่อนไปสู่คนรุ่นถัดไปโดยไม่ตั้งใจ
ซึ่งแม้ว่าประเด็นที่ภาพยนตร์กำลังพยายามนำเสนอถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมากล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในภาพยนตร์และซีรีส์หลายเรื่อง แต่ด้วยกลวิธีนำเสนอที่มีเอกลักษณ์ของผู้กำกับ และการผูกโยงประเด็นดังกล่าวเข้ากับมัลติเวิร์สอย่างแนบเนียน มันจึงส่งผลให้ปมปัญหาที่ภาพยนตร์นำเสนอมีความน่าสนใจและชวนติดตามในรูปแบบของตัวเอง
ในภาพรวมแล้ว Everything Everywhere All At Once เป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอความยิ่งใหญ่และซับซ้อนของมัลติเวิร์สออกมาได้อย่างตื่นตาตื่นใจ จนทำให้เราคาดเดาไม่ได้จริงๆ ว่าเรื่องราวของ Evelyn และครอบครัวจะไปสิ้นสุดลงตรงไหน พร้อมด้วยมุกตลกขบขันและฉากแอ็กชันที่เข้ามาเสริมให้ภาพยนตร์บ้าคลั่งยิ่งไปกว่าเดิม
Everything Everywhere All At Once มีกำหนดเข้าฉายวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่างได้ที่นี่