×

ทำไมเอฟเวอร์ตันจึงอาจโดนพรีเมียร์ลีกตัดแต้มเป็นครั้งที่ 2?

16.01.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สร้างความสับสนได้มากที่สุด เพราะหากจะมีการลงโทษเกี่ยวกับกฎทางการเงินก็ควรจะมีขึ้นแค่เพียงฤดูกาลละครั้งเดียว แต่ทำไมสโมสรจากเมอร์ซีย์ไซด์ถึงถูกเล่นงานซ้ำอีก เหตุผลเป็นเพราะมันเป็นคนละรอบการตรวจสอบกัน
  • สำหรับน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ มีรายละเอียดที่แตกต่างจากกรณีของเอฟเวอร์ตันเล็กน้อย เพราะก้าวขึ้นมาพรีเมียร์ลีกได้อีกครั้งเมื่อฤดูกาลที่แล้ว
  • PSR ในปัจจุบันเป็นกฎที่ออกมานานหลายปี ตัวเลขการขาดทุนสะสม 105 ล้านปอนด์ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงนัก และตรงนี้ที่เป็นปัญหา เพราะพรีเมียร์ลีกกำลังยอมรับด้วยตัวเองว่ากฎ PSR ล้าสมัย แต่จะบังคับใช้ทั้งๆ ที่จะมีการออกกฎใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

คืนวันจันทร์ที่ผ่านมาพรีเมียร์ลีกได้ออกประกาศตั้งข้อหาน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ และเอฟเวอร์ตัน หลังกระทำผิดเกี่ยวกับกฎการใช้จ่ายทางการเงินที่เรียกว่า Profit and Sustainability Rules (PSR)

 

บทลงโทษสำหรับทั้งสองสโมสรคือการ ‘ตัดแต้ม’ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะถูกตัดเป็นจำนวนคะแนนเท่าไร แต่ก่อนหน้านี้เอฟเวอร์ตันเคยถูกลงโทษตัดแต้มไปแล้วถึง 10 แต้มด้วยกันเมื่อเดือนพฤศจิกายน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่สโมสรจากเมอร์ซีย์ไซด์และจากป่าเชอร์วูดจะถูกลงโทษในเกณฑ์ใกล้เคียงกับบทลงโทษเดิม

 

การดำเนินการของพรีเมียร์ลีกในครั้งนี้ถูกตั้งคำถามหลายอย่างที่ทำให้รู้สึกคลางแคลงใจ รวมถึงคำถามใหญ่ที่หากไม่ได้ติดตามเรื่องราวยากจะเข้าใจคือ เอฟเวอร์ตันไปทำอะไร ทำไมจึงโดนลงโทษอีกเป็นครั้งที่ 2 ในฤดูกาลเดียว?

 

เหยียบเท้าใครหรือเปล่า?

 

 

การออกประกาศยืนยันจากพรีเมียร์ลีกเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา สร้างแรงสั่นสะเทือนอยู่ไม่น้อย เพราะแม้ว่าจะมีการ ‘คาดโทษ’ เอาไว้แค่ 2 สโมสร โดยอีก 2 ทีมที่ถูกเพ่งเล็งอย่างเชลซีและนิวคาสเซิลไม่ได้ถูกตั้งข้อหาด้วย แต่หนึ่งในนั้นคือเอฟเวอร์ตันที่เคยถูกลงโทษในแบบเดียวกันไปแล้ว และกำลังจะโดนลงโทษซ้ำสอง

 

สำหรับที่มาที่ไปของเรื่องนี้มาจากการที่พรีเมียร์ลีกได้กำหนดให้ทุกสโมสรส่งการสรุปบัญชีประจำปีงบประมาณ 2022/23 ที่สิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิถุนายน มาให้ตรวจสอบภายในวันที่ 31 ธันวาคม หรือวันสุดท้ายของปีที่ผ่านมา

 

การตรวจสอบนี้เป็นการตรวจสอบข้อมูลทางการเงินตามกฎ PSR ซึ่งเป็นกฎที่ออกแบบมาเพื่อให้ทุกสโมสรสามารถดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืนและถูกต้อง

 

PSR มีหัวใจอยู่ 2 ข้อด้วยกัน

 

  1. สโมสรได้รับอนุญาตให้ขาดทุนสะสมได้ 105 ล้านปอนด์ ในระยะเวลา 3 ปีรอบงบประมาณ
  2. หรือขาดทุนได้ไม่เกินปีละ 35 ล้านปอนด์

 

 

เอฟเวอร์ตันโดนฟันซ้ำ

 

ทีนี้มาถึงคำถามสำคัญ ทำไมเอฟเวอร์ตันถึงโดนเล่นอีกรอบ?

 

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สร้างความสับสนได้มากที่สุด เพราะหากจะมีการลงโทษเกี่ยวกับกฎทางการเงินก็ควรจะมีขึ้นแค่เพียงฤดูกาลละครั้งเดียว แต่ทำไมสโมสรจากเมอร์ซีย์ไซด์ถึงถูกเล่นงานซ้ำอีก

 

เหตุผลเป็นเพราะมันเป็นคนละรอบการตรวจสอบกัน

 

บทลงโทษที่เอฟเวอร์ตันเผชิญเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาที่ถูกตัด 10 แต้ม มาจากการตรวจสอบของรอบงบประมาณที่สิ้นสุดในฤดูกาล 2021/22 โดยการตรวจสอบและชี้มูลความผิดมีขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2023

 

เพียงแต่ในครั้งนั้นการตรวจสอบเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อเรื่องของการคงอยู่ในพรีเมียร์ลีกสำหรับหลายสโมสร โดยย้อนกลับไปในช่วงเวลาดังกล่าวมีหลายสโมสรที่ยื่นคำร้องขอให้เร่งตรวจสอบให้เสร็จสิ้นก่อนจบฤดูกาล 2022/23 เนื่องจากเอฟเวอร์ตันเป็นหนึ่งในทีมที่ลุ้นหนีการตกชั้นเช่นกัน

 

แต่สุดท้ายเมื่อพรีเมียร์ลีกที่แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบยังจัดการไม่สำเร็จ เอฟเวอร์ตันรอดพ้นจากการตกชั้นได้สำเร็จ ขณะที่เซาแธมป์ตัน, เลสเตอร์ ซิตี้ และลีดส์​ ยูไนเต็ดต้องตกชั้นไป ซึ่งการตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกหมายถึงเงินรายได้มหาศาลสูญหายไปด้วยหลักร้อยล้านปอนด์

 

ทั้งๆ ที่หากมีการตัดสินก่อนสิ้นสุดฤดูกาลจะจบ เอฟเวอร์ตันจะเป็นหนึ่งในทีมที่ตกชั้นแทน

 

เพื่อไม่ให้เกิดกรณีนี้อีก พรีเมียร์ลีกจึงมีการปรับระเบียบใหม่ให้กระบวนการตรวจสอบรวดเร็วขึ้น โดยจะต้องเสร็จสิ้นภายในฤดูกาลเดียวกัน

 

ดังนั้นการที่เอฟเวอร์ตันจะถูกลงโทษซ้ำครั้งที่ 2 นี้ มาจากความผิดที่เกิดขึ้นในรอบการตรวจสอบของฤดูกาล 2022/23 ที่ยังคงพบว่าทำผิดกฎ PSR เหมือนเดิม แม้ว่าทางเอฟเวอร์ตันจะพยายามชี้แจงว่าตัวเลขการขาดทุนส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณในการสร้างสนามแห่งใหม่

 

สิ่งที่น่าสนใจคือเอฟเวอร์ตันยังอยู่ในกระบวนการอุทธรณ์โทษตัดแต้มครั้งแรก ที่คาดว่าจะทราบผลการอุทธรณ์ภายในเดือนนี้

 

 

ฟอเรสต์ผิดตรงไหน?

 

สำหรับน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ มีรายละเอียดที่แตกต่างจากกรณีของเอฟเวอร์ตันเล็กน้อย เพราะก้าวขึ้นมาพรีเมียร์ลีกได้อีกครั้งเมื่อฤดูกาลที่แล้ว

 

ฟอเรสต์อยู่ในลีกเดอะแชมเปียนชิป ซึ่งเป็นลีกในสังกัดของฟุตบอลลีก (EFL) ที่ได้รับอนุญาตให้ขาดทุนได้ไม่เกินปีละ 13 ล้านปอนด์ สำหรับฤดูกาล 2020/21 และ 2021/22 จะนำมาบวกกับตัวเลขการขาดทุนของพรีเมียร์ลีกที่ได้ไม่เกินปีละ 35 ล้านปอนด์ รวมแล้วฟอเรสต์ได้รับอนุญาตให้ขาดทุนไม่เกิน 61 ล้านปอนด์ด้วยกัน

 

แต่อดีตทีมดังในยุค 80 ขาดทุนในฤดูกาล 2020/21 ที่ 15.5 ล้านปอนด์ จากนั้นขาดทุนอีก 45.6 ล้านปอนด์ในฤดูกาลต่อมา

 

ส่วนในฤดูกาล 2022/23 พวกเขาอาจได้เงินค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจากพรีเมียร์ลีก 90 ล้านปอนด์ แต่ใช้จ่ายเงินไปมากมายมหาศาลในการซื้อผู้เล่นถึง 42 คน ใช้เงินไปกว่า 250 ล้านปอนด์ ไม่นับการจ่ายค่าเหนื่อยที่มากมายมหาศาล

 

อย่างไรก็ดี ทางด้านฟอเรสต์ได้พยายามโต้แย้งว่าสโมสรพยายามขาย เบรนแนน จอห์นสัน ปีกดาวรุ่งของสโมสรออกไปในช่วงปิดฤดูกาลที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นอยู่ที่ว่าหากรีบปล่อยตัวออกไปก่อนปิดปีงบประมาณ จะได้ราคา 30 ล้านปอนด์ ก็อาจทำให้สโมสรรอดพ้นจากการกระทำผิด แต่การปล่อยตัวหลังจากนั้นให้กับสเปอร์ส ได้เงินกลับมาถึง 47.5 ล้านปอนด์ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อสโมสรมากกว่าหากมองในแง่ของความยั่งยืน

 

 

กฎที่สั่นไหว

 

อย่างไรก็ดี ประเด็นใหญ่ที่พรีเมียร์ลีกถูกเพ่งเล็งก็คือเรื่องของตัวกฎ PSR เอง และการดำเนินการของพรีเมียร์ลีก

 

ในขณะที่ความพยายามจะตรวจสอบและจัดการให้เสร็จสิ้นภายในฤดูกาลเดียวเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีจุดที่ชวนตั้งคำถามอยู่เมื่อมองกระบวนการอย่างถี่ถ้วน

    

  • สโมสรที่ถูกตั้งข้อหามีเวลา 2 สัปดาห์ในการคัดค้าน
  • คณะกรรมการอิสระจะตรวจสอบและประกาศผลว่าผิดจริงหรือไม่ในเดือนเมษายน
  • สโมสรมีสิทธิ์อุทธรณ์หลังจากนั้น
  • กระบวนการอุทธรณ์จะถูกพิจารณาภายในวันที่ 24 พฤษภาคม

 

ประเด็นคือวันที่ 24 พฤษภาคมนั้นเป็นช่วงหลังจากที่ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกปิดฤดูกาลไปแล้ว นั่นหมายถึงเอฟเวอร์ตัน, ฟอเรสต์ รวมถึงสโมสรอื่นๆ ที่มีส่วนกับการลุ้นหนีตกชั้นจะไม่รู้ชะตากรรมของตัวเองแม้บอลจะจบฤดูกาลไปแล้วก็ตาม

 

ประเด็นต่อมาที่มีการตั้งข้อสงสัยคือ พรีเมียร์ลีกจะมีการ ‘อัปเดต’​ กฎ PSR ใหม่ในเดือนสิงหาคมนี้ (ที่ผ่านมาเป็นแค่การเร่งรัดกระบวนการให้เร็วขึ้น) ซึ่งมีการเปิดเผยกันว่าภายใต้เกณฑ์ที่จะมีการอัปเดตใหม่ให้สอดคล้องกับทางยูฟ่า สโมสรอย่างเอฟเวอร์ตันอาจรอดพ้นจากความผิดได้

 

เพราะ PSR ในปัจจุบันเป็นกฎที่ออกมานานหลายปี ตัวเลขการขาดทุนสะสม 105 ล้านปอนด์ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงนัก เรียกว่าจ่ายค่าตัว มอยเซส ไกเซโด ยังไม่ได้เลย

 

ตรงนี้ที่เป็นปัญหา เพราะพรีเมียร์ลีกกำลังยอมรับด้วยตัวเองว่ากฎ PSR ล้าสมัย แต่จะบังคับใช้ทั้งๆ ที่จะมีการออกกฎใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อีกทั้งพรีเมียร์ลีกก็ไม่ได้มีการแจงรายละเอียดอย่างชัดเจนและโปร่งใสว่าทำไมจึงตัดสินแบบนี้

 

สโมสรที่เสียผลประโยชน์อย่างเอฟเวอร์ตันและฟอเรสต์จึงต้องพยายามต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตัวเองเช่นกัน และการต่อสู้นั้นส่อเค้าจะรุนแรง เพราะขณะที่สโมสรออกแถลงการณ์ชี้แจงและแสดงความไม่เห็นด้วย พรีเมียร์ลีกกลับออกแถลงการณ์ว่าทั้งสองสโมสร “ยืนยัน” การกระทำผิดแล้ว

 

ไม่นับคำถามใหญ่สุดเกี่ยวกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ถูกดำเนินคดีถึง 115 ข้อหา โดยที่ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนใดๆ ออกมา

 

สถานการณ์ตอนนี้จึงไม่มีใครได้เลย มีแต่คนเสีย

 

โดยเฉพาะพรีเมียร์ลีกในยุคของซีอีโอ ริชาร์ด มาสเตอร์ส ที่ฉาวขึ้นทุกวัน

 

อ้างอิง:

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising