BloombergNEF คาดยอดขายรถไฟฟ้านั่งส่วนบุคคล (passenger EV) ทั่วโลกปีนี้ 21.9 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 25% จากปี 2024 และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็นกว่า 39 ล้านคัน ในปี 2030 ขณะที่อัตราการยอมรับ (Adoption Rates) ในไทยล่าสุด เพิ่มขึ้นแซงหน้าสหรัฐฯ
จากรายงาน Electric Vehicle Outlook 2024 ของ BloombergNEF ระบุว่า จากคาดการณ์ยอดขายรถ EV นั่งส่วนบุคคลใหม่ปีนี้ จะเกิดขึ้นในจีนราว 2 ใน 3 ตามมาด้วยยุโรป 17% และสหรัฐฯ 7% โดยยอดขายในยุโรปคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20% แต่ทรงตัวในสหรัฐฯ
สำหรับประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้คนให้การยอมรับ EV มากขึ้นเรื่อยๆ และเติบโตเร็ว ล่าสุด BloombergNEF ระบุว่า อัตราการยอมรับในไทยเพิ่มขึ้นแซงหน้าสหรัฐฯ ไปแล้ว อย่างไรก็ตามรายงานของ BloombergNEF ไม่ได้ระบุตัวเลขดังกล่าว
แต่จากการตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งอื่น อาทิ เว็บไซต์ Utilitydive ระบุว่า สัดส่วนยอดขาย EV ในสหรัฐฯ ปี 2024 คิดเป็นประมาณ 6.8% ลดลงจาก 7.5% ในปี 2023 ขณะที่ในไทยมีการประเมินว่าสัดส่วนยอดขาย EV ใหม่น่าจะเพิ่มเป็น 15-20% ของยอดขายรถใหม่
หนึ่งในปัจจัยผลักดันการใช้งาน EV ที่เพิ่มขึ้นมาจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ดีขึ้น รวมทั้งประสบการณ์การชาร์จดีขึ้น เครือข่ายการชาร์จเร็วระดับประเทศหลายแห่งมีขนาดเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา และเริ่มมี EV ที่สามารถชาร์จไฟได้เร็วเทียบเท่ากับการเติมน้ำมันออกมาวางจำหน่ายแล้ว
อย่างไรก็ตาม รายงานในปีนี้เป็นปีแรกที่ BloombergNEF ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการใช้งาน EV ในระยะใกล้และระยะยาวลง ปัจจัยหลักคือ การเปลี่ยนแปลงนโยบายในสหรัฐฯ รวมถึงการผ่อนปรนเป้าหมายการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง การยกเลิกหรือการคุกคามองค์ประกอบที่สนับสนุนของ Inflation Reduction Act และความเป็นไปได้ในการยกเลิกอำนาจของรัฐแคลิฟอร์เนียในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศของตนเอง ยุโรปก็เลื่อนเป้าหมายการลด CO2 ของยานพาหนะในระยะใกล้เช่นกัน
แต่ขณะเดียวกันยอดขายรถยนต์สันดาปภายในได้ถึงจุดสูงสุดแล้วในปี 2017 และภายในปี 2030 ยอดขายรถยนต์สันดาปภายในคาดว่าจะลดลง 34% จากจุดสูงสุดในปี 2017
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมในด้านอื่นๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ยังคงประสบปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน ซึ่งทำให้ราคาแบตเตอรี่ลดลงและเพิ่มการแข่งขัน อัตราการใช้งานเฉลี่ยของโรงงานแบตเตอรี่ในจีนขณะนี้ต่ำกว่า 50%
ขณะที่ต้นทุนการชาร์จเร็วสาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2022 ในหลายตลาดในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้ต้นทุนต่อกิโลเมตรสูงกว่าน้ำมันเบนซิน ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคบางรายไม่ต้องการเปลี่ยนมาใช้ EV
ส่วนเทคโนโลยียานพาหนะไร้คนขับเริ่มมีบทบาทสำคัญในการขนส่ง โดยหุ่นยนต์แท็กซี่กำลังถูกนำไปใช้งานในสภาพแวดล้อมในเมืองที่มีขอบเขตกั้นอย่างเข้มงวด ภายในปี 2035 ฝูงรถโรโบแท็กซี่ทั่วโลกจะสูงถึงเกือบ 6 ล้านคัน
นอกจากนี้ EV กำลังกลายเป็นแหล่งความต้องการไฟฟ้าที่มีนัยสำคัญ ความต้องการจาก EV คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.4 เท่าระหว่างปี 2025 ถึง 2030 และ 8 เท่าจากปี 2025 ถึง 2040 EV จะคิดเป็น 11% ของความต้องการไฟฟ้าทั่วโลกภายในปี 2050 สิ่งที่ตามมาคือโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จ EV จะต้องมีการลงทุนเกือบ 9 แสนล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 30 ล้านล้านบาท ภายในปี 2040
ขณะที่การใช้งาน EV เพิ่มขึ้น อีกด้านหนึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมัน โดยเฉพาะในตลาดอย่างจีนและยุโรป ภายในสิ้นปี 2026 น้ำมันจะถูกใช้น้อยลงอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันทั่วโลก เมื่อเทียบกับปี 2024
อ้างอิง:
- https://assets.bbhub.io/professional/sites/24/202506-EVO2025-Executive-Summary.pdf
- https://www.woodmac.com/press-releases/2024-press-releases/electric-vehicle-adoption-to-slow-in-us-with-recent-executive-orders/
- https://www.utilitydive.com/news/US-electric-vehicle-EV-adoption-slowdown-BOA-Bloomberg/719826/