×

เกิด แก่ ไม่อยากเจ็บ แล้วตายเลยดีไหม? มอง ‘การุณยฆาต’ แบบรอบด้าน

07.03.2019
  • LOADING...
Euthanasia

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ในอีกมุมหนึ่ง การกระทำการุณยฆาตในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ก็ยังไม่ได้เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย และยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ มีหลากหลายเหตุผลสำคัญที่สนับสนุนว่า การุณยฆาตนั้นไม่ควรทำให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย
  • ในบางมุมมอง การุณยฆาตอาจจะเปลี่ยนความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของคนในสังคม เมื่อสังคมเริ่มที่จะมองเห็นว่า การฆ่าคนเป็นสิ่งที่รับได้ จึงอาจมีความเป็นไปได้ที่คนในสังคมจะทำตาม โดยปราศจากความรู้สึกสำนึกผิดอีกต่อไป
  • จากการที่เรื่องตายเป็นสิ่งที่ต้องห้ามไม่ให้พูดถึงในอดีต แต่ปัจจุบันการตายได้กลายมาเป็นปัญหาของสังคม แม้ว่าประเทศไทยมีการเปิดรับเรื่องแนวคิดสิทธิการตายมากขึ้น แต่จะให้สังคมไทยยอมรับในเรื่องการทำการุณยฆาตอาจจะเป็นเรื่องยาก

หลายคนคงเกิดความรู้สึกทั้งสะเทือนใจ โศกเศร้า และชื่นชม ในเวลาเดียวกันกับความเข้มแข็งในการตัดสินใจทำการุณยฆาต (Euthanasia) ของชายคนหนึ่งที่โพสต์เรื่องราวของตัวเองในเฟซบุ๊ก บอกเล่าถึงความต้องการจากโลกนี้ไป เพื่อหนีความทุกข์ทรมานจากโรคร้ายและไม่อยากให้เป็นภาระให้กับครอบครัว จนอาจเกิดความคิดขึ้นว่า ต่อไปนี้ถ้ามนุษย์เราสามารถเลือกจะกำหนดการเดินทางตามวัฏจักรของชีวิต อันได้แก่ การเกิด แก่ แต่ไม่ต้องทนเจ็บอีกต่อไป แล้วตัดสินใจเดินทางไปสู่ความตายเลย คงจะดีไม่น้อย…

 

แม้ว่าการทำการุณยฆาตนั้นจะเป็นการพยายามนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการตายใหม่ โดยพยายามหาทางช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับความทุกข์จากโรคต่างๆ ให้หายเจ็บปวดโดยการตายด้วยความปรารถนาดีของแพทย์ ญาติ หรือการที่ผู้ป่วยมีสิทธิ์ที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน โดยเลือกที่จะตายได้อย่างมีศักดิ์ศรี ความตายดูเหมือนจะถูกสร้างให้ดูสวยงามขึ้น ต่างจากเดิมที่มนุษย์จินตนาการว่า ความตายเป็นเรื่องน่ากลัว โดดเดี่ยว การเดินทางไปสู่ความตายไม่ต่างจากการที่เรากำลังจะเดินเข้าไปสู่ห้องๆ หนึ่ง และรู้ตัวว่าหลังจากประตูปิดลง เราจะไม่ได้กลับออกมาอีก

 

Euthanasia

 

ข้อถกเถียงเรื่องการุณยฆาตที่มีมากกว่าเรื่องศีลธรรม

ในอีกมุมหนึ่ง การกระทำการุณยฆาตในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ก็ยังไม่ได้เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย และยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ มีหลากหลายเหตุผลสำคัญที่สนับสนุนว่าการุณยฆาตนั้นไม่ควรทำให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย เช่น

 

  • การุณยฆาตเป็นการฆาตกรรมอย่างหนึ่ง และผิดศีลธรรม

 

  • การุณยฆาตเป็นการให้อำนาจกับแพทย์มากจนเกินไปที่จะดำเนินการให้ผู้ป่วยจบชีวิตลง

 

  • การุณยฆาตเป็นการทำลายความไว้วางใจของคนไข้ที่มีต่อแพทย์ เพราะโดยทั่วไป ยามที่เราป่วย เราจะไปหาแพทย์ เพราะมั่นใจว่าแพทย์คือบุคคลที่จะให้การรักษาเราได้ แพทย์คือผู้ที่จะช่วยชีวิต ไม่ใช่คนที่จะมาทำร้ายเรา แต่หากมีกฎหมายอนุญาตให้มีการทำการุณยฆาต คนไข้อาจจะเกิดความไม่ไว้วางใจต่อแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ว่า จะยังมีเจตนาช่วยรักษาให้มีชีวิตอยู่ต่อไปหรือไม่

 

  • การุณยฆาตทำให้ไม่เกิดการพัฒนางานวิจัยทางการแพทย์ เพราะจากความเชื่อที่ว่า การตายนั้นเป็นหนทางที่จะช่วยผู้ป่วยให้พ้นจากความเจ็บปวด ไม่ทุกข์ทรมานได้เร็วที่สุด จึงอาจจะละเลยการคิดค้น วิจัย หายาที่มีประสิทธิภาพ หรือวิธีการรักษาใหม่ๆ สำหรับโรคร้ายแรง รักษายาก ที่ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน เช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น

 

  • ผู้ที่สนับสนุนว่าการุณยฆาตเป็นการตายอย่างสมศักดิ์ศรีนั้น อาจจะเป็นความเข้าใจผิด เพราะในความเป็นจริง การุณยฆาตคือ การฆ่าและทำลายชีวิต การุณยฆาตเป็นสิ่งที่ชักนำให้คนหันมาตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ทรมานเหมือนกับต้องการจะบอกว่า ชีวิตไม่คุ้มค่าต่อการที่จะรักษาไว้ ดังนั้นตายไปดีกว่าอยู่นั่นเอง แต่ในความเห็นอีกมุมหนึ่งมองว่า เราควรที่จะยอมรับชีวิตของเราที่ได้มา และต่อสู้ให้ถึงที่สุด ไม่ว่าจะยากลำบากหรือเจ็บปวดแค่ไหน และควรนั่งรอความตายที่จะมาถึงอย่างเป็นธรรมชาติ และนี่ถึงจะเรียกว่า เป็นการตายที่สมศักดิ์ศรีอย่างแท้จริง ทุกชีวิตบนโลกนี้ไม่ว่าจะเจ็บป่วย พิการ หรืออยู่ในภาวะที่ใกล้เสียชีวิต ล้วนแล้วแต่มีคุณค่า เราควรให้กำลังใจกับผู้ป่วยที่สิ้นหวังถึงเหตุผลหลายอย่างที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป มากกว่าการจะทำการุณยฆาต

 

Euthanasia

 

  • การุณยฆาตจะเปลี่ยนความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของคนในสังคม เมื่อสังคมเริ่มที่จะมองเห็นว่า การฆ่าคนเป็นสิ่งที่รับได้ จึงอาจมีความเป็นไปได้ที่คนในสังคมจะทำตามโดยปราศจากความรู้สึกสำนึกผิดอีกต่อไป

 

  • การุณยฆาตจะเป็นการส่งเสริมให้บุคคลเปราะบาง (Vulnerable People) จบชีวิตตัวเองได้ง่ายขึ้น ดังนั้นผู้ป่วย บุคคลที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นอาจถูกกดดันให้ต้องเลือกจบชีวิตตัวเองลง เพราะไม่ต้องการทนทรมานและเป็นภาระให้ครอบครัว ร่างกายที่อ่อนแอลง ไม่สามารถทำงานได้ ไม่สามารถช่วยเหลือครอบครัวหรือสังคมได้ ทำให้บุคคลเปราะบางเหล่านั้นมักจะรู้สึกไร้ค่า ไร้ความหมายอยู่บ่อยครั้ง และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้คนที่ได้รับความทุกข์ทรมานประสงค์ที่จะตาย

 

  • ในบางครั้งคนที่ร้องขอให้มีการทำการุณยฆาตอาจจะไม่ได้ต้องการตายจริงๆ ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยเฉพาะต้องเผชิญหน้ากับความตาย ผู้ป่วยจะมีความอ่อนไหวมาก พวกเขาขาดความเข้าใจและความเข้มแข็งที่จะเข้าใจสถานการณ์ทั้งหมดที่ต้องเผชิญ ซึ่งตรงนี้จะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจ หลายคนอาจคิดว่า เหตุผลหลักของการร้องขอให้แพทย์ช่วยให้ตายคือ ความเจ็บปวดจากโรค แต่ความเป็นจริง สาเหตุคือ ความกลัวถึงสิ่งที่จะเกิดต่อเนื่องตามมาภายหลังป่วย รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อครอบครัว การถูกทอดทิ้ง และการเป็นภาระให้ครอบครัว หากคนป่วยเหล่านั้นได้รับการดูแลและทำให้เขารู้ถึงคุณค่าของการมีชีวิต พวกเขาก็อาจดำเนินชีวิตต่อไป ไม่ว่าจะได้รับความเจ็บปวดจากโรคมากแค่ไหนก็ตาม

 

  • การุณยฆาตนั้นไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องมี เพราะยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่าอีกมากมาย เมื่อผู้ป่วยถูกวินิจฉัยว่า อยู่ในระยะสุดท้ายทางเลือกที่เกิดขึ้นอาจถูกบังคับให้มีแค่สองทางให้เลือก ระหว่างการตายอย่างช้าๆ ด้วยความเจ็บปวด หรือการตายอย่างรวดเร็วด้วยวิธีการทำการุณยฆาต แต่ในความเป็นจริงยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยผู้ป่วยได้ นั่นคือการให้การดูแลด้วยความรักและความเอาใจใส่นั่นเอง

 

Euthanasia

 

การการุณยฆาตในประเทศไทย

สำหรับในประเทศไทย การกระทำการุณยฆาตยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย การให้การรักษาพยาบาลของแพทย์นั้นเป็นการกระทำโดยตรงต่อชีวิตและร่างกายของผู้ป่วย ถ้าหากเป็นการกระทำที่มีความผิดต่อชีวิต ก็จะเข้าข่ายมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ที่บัญญัติว่า ‘ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี’ และหากเป็นการกระทำที่มีการไตร่ตรองไว้ก่อน ก็จะได้รับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 289 ดังนั้น หากแพทย์ทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตโดยเจตนา เช่น การฉีดยา การให้ดื่มยา เพื่อต้องการให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ แม้ว่าจะทำลงไปเพราะความสงสารก็ตาม ก็ยังถือว่ามีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น

 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายฉบับหนึ่งคือ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายแม่บทด้านสุขภาพของประเทศไทย และใช้เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างให้ประเทศไทยมีระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีการกล่าวถึงการปฏิเสธการรับการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิตไว้ ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจ และคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับการุณยฆาต โดยในมาตรา 12 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 บัญญัติว่า

 

‘บุคคลมีสิทธิทําหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

 

‘การดําเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง

 

‘เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่า การกระทํานั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง’

 

ข้อน่าสังเกตในมาตรานี้ที่ได้พูดถึง ‘การแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า (Living Will)’ เป็นการให้สิทธิแก่บุคคลแสดงเจตนารมณ์ล่วงหน้าว่าจะไม่ขอรับการรักษาใด หรือต้องการให้รักษาพยาบาลอย่างไร เมื่อตนเองอยู่ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตที่ร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรักษาใดๆ แล้ว และไม่มีสติสัมปชัญญะ เช่น ไม่ต้องการให้กระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ การใช้เครื่องช่วยหายใจ การเจาะคอ การใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยให้ไต หัวใจ และอวัยวะอื่นๆ ทำงานต่อไปได้ เป็นต้น

 

สิทธิในการปฏิเสธการรักษาตามมาตรานี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการุณยฆาต ไม่ใช่เป็นการอนุญาตให้แพทย์ทำให้ตาย หรือเร่งให้มีการตายเกิดขึ้น แม้ว่าผู้ป่วยจะปฏิเสธการใช้เครื่องมือใดๆ มาเพื่อยืดความตายออกไปตามที่เขียนไว้ใน Living Will ก็ตาม

 

Euthanasia

 

จุดนี้ในด้านจริยธรรม แม้แพทย์จะไม่สามารถรักษาให้หายจากโรคได้ แต่ผู้ป่วยก็ยังคงได้รับ ‘การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care)’ ต่อไป เพื่อลดความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน แต่ก็ไม่ได้เป็นการไม่ได้ยื้อความตายออกไป และก็ไม่ได้ทอดทิ้งผู้ป่วยเช่นกัน โดยมีการตั้งเป้าหมายเพื่อการดูแลสุขภาพ เพื่อให้อยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในช่วงเวลาที่เหลืออยู่

 

จากการที่เรื่องตายเป็นสิ่งที่ต้องห้ามไม่ให้พูดถึงในอดีต แต่ปัจจุบันการตายได้กลายมาเป็นปัญหาของสังคม แม้ว่าประเทศไทยมีการเปิดรับเรื่องแนวคิดสิทธิการตายมากขึ้น แต่จะให้สังคมไทยยอมรับในเรื่องการทำการุณยฆาตอาจจะเป็นเรื่องยาก การุณยฆาตไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาความเจ็บป่วย หรือความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย แต่อาจจะกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องตามมาในเรื่องการทำลายพื้นฐานเดิมของสังคมที่เป็นอยู่ ศีลธรรม จริยธรรม และความมั่นคงของมนุษย์

 

ช่องว่างที่เป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานและมีแนวโน้มมากขึ้นในสังคมที่เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุคือ ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถูกทอดทิ้ง จะเริ่มมีมากขึ้น ปัญหาสวัสดิการการรักษาพยาบาล ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่มีราคาสูง ปัญหาโรงพยาบาลรัฐมีเตียงไม่เพียงพอ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยที่เป็นคนชราสูง เป็นต้น

 

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้เกิดความกดดันต่อลูกหลานหรือผู้ดูแลอย่างมาก ที่รู้สึกว่าต้องรับภาระหนัก ทั้งด้านการเงิน รวมทั้งด้านจิตใจ จึงมีคำถามที่เกิดขึ้นว่าในการยุติการรักษาในบางกรณีเกิดจากความต้องการของผู้ป่วยหรือญาติ มีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ หากเป็นเรื่องของความไม่พร้อมด้านการเงิน ไม่มีคนดูแล ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมมากนักกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่หากครอบครัวไหนมีเงินทองพร้อม ก็สามารถยืดชีวิตผู้ป่วยให้ยืนยาวต่อไปได้ สามารถเปลี่ยนห้องนอนที่บ้านให้กลายเป็นห้องไอซียู มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตครบครัน จ้างนางพยาบาลให้มาดูแลเหมือนในโรงพยาบาลได้  

 

ดังนั้นรัฐฯ จำเป็นจะต้องวางนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพให้มากขึ้น โดยคำนึงถึงในหลายๆ มิติ ทั้งด้านศีลธรรม จริยธรรม ศาสนา วัฒนธรรม กฎหมาย เศรษฐกิจ ฯลฯ นโยบายของรัฐควรมุ่งเน้นไปที่การดูแลการให้สวัสดิการ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ การมีกองทุน การดึงให้เอกชนเข้ามามีความช่วยเหลือด้วย รวมถึงการจัดให้มีโรงพยาบาล สถานที่พักฟื้น หรือดูแลผู้ป่วยระยะยาวเพิ่มมากขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุไม่ถูกทิ้ง หรือรู้สึกไร้ค่า แม้ว่าจะมีแนวคิดที่เสนอให้คนมีสิทธิที่จะตาย ในขณะเดียวกันการธำรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ก็ควรที่จะให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • องค์การอนามัยโลกได้ให้คําจํากัดความการดูแลรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) ไว้ว่า เป็น ‘วิธีการดูแลที่เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคที่คุกคามต่อชีวิต โดยให้การป้องกันและบรรเทาความทุกข์ทรมานต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยและครอบครัว ด้วยการเข้าไปดูแลปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในระยะแรกๆ ของโรค รวมทั้งทําการประเมินปัญหาสุขภาพ ทั้งทางด้านกาย ใจ ปัญญา และสังคมอย่างละเอียดครบถ้วน’
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X