×
SCB Omnibus Fund 2024

วิกฤตขาดแคลนพลังงานทำยุโรประอุ หวั่นยิ่งจุดชนวนแย่งชิงก๊าซ ดันราคาพุ่งกระทบชาติเอเชีย

31.05.2022
  • LOADING...
ขาดแคลนพลังงาน

สถานีโทรทัศน์ CNN เปิดเผยบทวิเคราะห์ของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานที่มองว่า การแข่งขันเพื่อแย่งชิงหาแหล่งก๊าซธรรมชาติทางเลือกแทนที่รัสเซียของยุโรปกำลังผลักดันให้โลกเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนพลังงานในฤดูหนาว และอาจจะส่งผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดต่อประเทศยากจนในภูมิภาคเอเชีย

 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่รัสเซียบุกยูเครน ทางชาติสมาชิกในสหภาพยุโรป (EU) ได้พยายามลดการพึ่งพาพลังงานของรัสเซีย ซึ่งนำไปสู่การที่นานาประเทศใน EU ต่างแข่งขันกันซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากแหล่งอื่นๆ มากขึ้น นอกเหนือจากรัสเซีย อีกทั้งยังเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดกว่าถ่านหินหรือน้ำมัน แถมยังสามารถจัดส่งผ่านเรือบรรทุกน้ำมัน ไม่ต้องอาศัยการส่งผ่านท่อเหมือนที่นำเข้าจากรัสเซีย

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญรวมถึงบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานอย่าง Rystad Energy ประเมินว่า หาก EU สามารถจัดการลดการพึ่งพาก๊าซของรัสเซียได้ตามแผนที่วางไว้คือราว 2 ใน 3 ภายในสิ้นปีนี้ ย่อมหมายความว่าความต้องการ LNG ทั่วโลกจะแซงหน้าอุปทาน 26 ล้านตัน ภายในสิ้นปี 2022 นี้ ซึ่งนั่นเท่ากับเกือบ 7% ของความต้องการ LNG ทั่วโลกในปีที่แล้ว

 

รายงานของ Rystad Energy ระบุว่า ด้วยการหลีกเลี่ยงการใช้ก๊าซจากรัสเซียของยุโรปได้ทำให้ตลาด LNG ทั่วโลกไม่มั่นคง ซึ่งเริ่มต้นปีด้วยความสมดุลที่ไม่แน่นอนหลังจากความวุ่นวายในปี 2021

 

นักวิเคราะห์ประเมินว่าทิศทางดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อชาติกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่นำเข้าก๊าซ LNG รายใหญ่ที่สุดของโลกนับตั้งแต่ปี 2010 ซึ่ง รูธ เหลียว บรรณาธิการของ LNG Americas ระบุว่า ผู้ซื้อบางรายในเอเชียจะพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะแข่งขันกับชาติร่ำรวยในยุโรปและอาจถูกกีดกันออกจากตลาดเพราะสู้ราคาไม่ไหว ไม่ว่ารัสเซียจะส่งออกก๊าซออกสู่ตลาดโลกได้หรือไม่ก็ตาม

 

ขณะที่ อีริก เฮแมนน์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Deutsche Bank ประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจาก LNG ถูกเปลี่ยนเส้นทางไปยังยุโรป พร้อมแนะให้ผู้ซื้อควรเริ่มลงนามในข้อตกลงการจัดหาซัพพลายก๊าซในระยะยาว

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์ Vortexa ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน อินเดียและปากีสถานได้ลดการนำเข้า LNG ไปแล้ว 15% ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากราคาที่สูงขึ้น เป็นผลให้ความต้องการในเอเชียอาจ ‘หายไปถาวร’ โดยที่บางประเทศอาจต้องใช้ถ่านหินและน้ำมันเพิ่มขึ้น

 

ขณะเดียวกัน ทางสถานีโทรทัศน์ Al Jazeera รายงานว่า GasTerra รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานที่ซื้อขายพลังงานในนามของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ออกแถลงการณ์ยุติการซื้อขายก๊าซกับทาง Gazprom รัฐวิสาหกิจพลังงานของรัสเซีย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคมเป็นต้นไป เนื่องจากทาง GasTerra ไม่อาจตกลงทำตามข้อเสนอของทางรัฐบาลรัสเซียที่ต้องการให้ GasTerra จ่ายค่าก๊าซเป็นเงินสกุลรูเบิลของรัสเซียได้

 

โดย GasTerra กล่าวว่า บริษัทได้จัดการทำสัญญากลับผู้ขายก๊าซรายอื่นสำหรับก๊าซปริมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ทาง GasTerra จะต้องได้รับจากทาง Gazprom จนถึงเดือนตุลาคม ซึ่ง GasTerra มีรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เป็นผู้ถือหุ้น ส่วนหุ้นที่เหลือถือครองโดย Shell และ Exxon บริษัทละ 25% เท่ากัน

 

ร็อบ เจทเทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเนเธอร์แลนด์แสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า รัฐบาลเข้าใจการตัดสินใจของ GasTerra ที่ไม่อาจยินยอมชำระค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิล พร้อมยืนยันว่าการตัดสินใจดังกล่าวไม่มีผลต่อการจัดส่งก๊าซไปยังครัวเรือนชาวดัตช์ทั่วประเทศ

 

ด้านแถลงการณ์ของ GasTerra อธิบายว่า สาเหตุที่ไม่อาจทำตามข้อเสนอของรัฐบาลรัสเซียได้ ซึ่งหมายรวมถึงการเปิดบัญชีเพื่อรับชำระด้วยเงินยูโรก่อนแลกเปลี่ยนเป็นเงินรูเบิลในภายหลัง เป็นระบบที่ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของทางสหภาพยุโรป และแนวทางการชำระเงินดังกล่าวมีความเสี่ยงด้านการเงินและการดำเนินการมากเกินไป โดย GasTerra ย้ำว่า บริษัทได้ขอให้ Gazprom ปฏิบัติตามวิธีการชำระเงินตามที่ระบุไว้ในสัญญาและรับผิดชอบต่อภาระผูกพันในการจัดส่งหลายครั้ง แต่ได้รับการยืนกรานปฏิเสธ

 

ขณะที่ทางแถลงการณ์ของ Gazprom ระบุว่า จะระงับการส่งก๊าซให้กับทาง GasTerra จนกว่า GasTerra จะดำเนินการทำตามข้อเสนอการชำระเงินของรัฐบาลรัสเซีย

 

ปีเตอร์ เทน บรูกเกนเคต โฆษกกระทรวงกิจการเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลจะยังไม่เริ่มแผนก๊าซฉุกเฉินเพื่อขอให้ผู้ใช้อุตสาหกรรมลดการบริโภค เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่กระทบต่อกระบบซัพพลายของประเทศ ขณะที่โฆษก Gasunie ผู้ผลิตไฟฟ้าเนเธอร์แลนด์ยืนยันว่า การระงับก๊าซดังกล่าวไม่ส่งผลต่อการหยุดชะงักของการผลิตไฟฟ้าของโรงงานแต่อย่างใด

  

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising