×

โลกร้อนถ้วนหน้า สเปน-โปรตุเกสจ่อโค่นสถิติร้อนสุดในยุโรปแทนกรีซ

03.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • สเปน-โปรตุเกส มีโอกาสทุบสถิติวัดอุณหภูมิได้สูงสุดในยุโรปแทนกรีซที่ครองแชมป์มานาน 41 ปี หากกระแสลมยังคงหอบความร้อนจากทะเลทรายในภาคพื้นทวีปแอฟริกาและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้าสู่ยุโรปตอนใต้อย่างต่อเนื่อง

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายประเทศต่างเผชิญกับวิกฤตคลื่นความร้อนที่ทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ นอกจากเอเชียที่ผู้คนรู้สึกร้อนกว่าที่เคยแล้ว ที่ยุโรปและอเมริกาเหนือก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน และมีแนวโน้มที่จะสร้างสถิติร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์แบบไม่ยอมน้อยหน้าเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่เพิ่งบันทึกสถิติอุณหภูมิสูงสุดตลอดกาลไปหมาดๆ

 

สำหรับสถิติอุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึกได้ในยุโรปคือ 48 องศาเซลเซียส (118.4 องศาฟาเรนไฮต์) ซึ่งวัดได้ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 1977 แต่สถิติที่ยืนยงมานาน 41 ปีนี้กำลังจะถูกทำลายลงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

 

นักพยากรณ์อากาศคาดการณ์ว่า หากกระแสลมยังคงหอบความร้อนจากทะเลทรายในภาคพื้นทวีปแอฟริกาและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้าสู่ยุโรปตอนใต้เช่นนี้ จะทำให้อากาศในสเปนและโปรตุเกสร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสทำลายสถิติของกรีซภายในไม่กี่วันข้างหน้า

 

ศูนย์พยากรณ์อากาศของ BBC คาดว่า อุณหภูมิในพื้นที่แถบตะวันตกเฉียงใต้ของสเปน และพื้นที่ตอนใต้และตะวันออกเฉียงใต้ของโปรตุเกสน่าจะสูงแตะ 47 องศาเซลเซียส (116.6 องศาฟาเรนไฮต์) ในวันนี้และพรุ่งนี้

 

ส่วนสถิติเดิมของสเปนเคยถูกบันทึกไว้ที่ 47.3 องศาเซลเซียส เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ขณะที่โปรตุเกส สถิติร้อนสุดคือ 47.4 องศาเซลเซียส เมื่อปี 2003

 

 

ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยาของสเปนได้ออกประกาศเตือนภัยคลื่นความร้อนไปจนถึงวันอาทิตย์นี้ (5 ส.ค.) เป็นอย่างน้อย ขณะที่ Meteoalarm เว็บไซต์เฝ้าระวังสภาพภูมิอากาศของยุโรปได้ออกประกาศเตือนภัยในระดับสีแดง ซึ่งหมายถึงมีอันตรายถึงชีวิต ในพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ของโปรตุเกสและเมืองบาดาโฆซของสเปน

 

นอกจากสเปนและโปรตุเกสแล้ว สหราชอาณาจักรก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังเผชิญกับปรากฏการณ์คลื่นความร้อนแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในหลายพื้นที่ และคาดว่าอุณหภูมิจะสูงแตะ 33 องศาเซลเซียสในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ

 

ข้ามมาที่อิตาลีก็มีการเตือนภัยโดย Meteoalarm เช่นกัน โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวทางภาคเหนือและภาคกลางอย่างกรุงโรม, เวนิส และฟลอเรนซ์ ขณะที่นักพยากรณ์อากาศคาดว่ามีโอกาส 40% ที่อุณหภูมิในบางพื้นที่ของอิตาลีอาจสูงทาบสถิติ 48 องศาฯ ของเอเธนส์ และมีโอกาส 25-30% ที่จะโค่นสถิติร้อนสุดตลอดกาลของยุโรปด้วย

 

แม้แต่ในโซนสแกนดิเนเวีย ซึ่งเป็นประเทศเขตหนาวก็ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนเช่นกัน โดยนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังจับตาการละลายของธารน้ำแข็งที่ปกคลุมภูเขา Kebnekaise ในสวีเดน ระบุว่าน้ำแข็งบนจุดสูงสุดของยอดเขาทิศเหนืออาจหักหลุดลงมา

 

ขณะที่องค์การบริหารถนนสาธารณะของนอร์เวย์เตือนให้ผู้ขับขี่คอยระวังฝูงกวางเรนเดียร์และแกะที่เข้ามาหลบร้อนในอุโมงค์ต่างๆ เพราะสัตว์เหล่านี้ต้องการสถานที่ที่เย็น แต่อุณหภูมิในฟินน์มาร์กภายในเขตวงกลมอาร์กติกเพิ่มไปถึงระดับ 31.2 องศาเซลเซียสเมื่อวันพุธ (1 ส.ค.) ที่ผ่านมา

 

ส่วนในเยอรมนี ช่วงซัมเมอร์ที่ร้อนนานผิดปกติทำให้น้ำในแม่น้ำหลายสายเหือดแห้งลง โดยระดับน้ำในแม่น้ำเอลเบอ รัฐซัคเซิน-อันฮัลต์ ลดต่ำลงจนพบระเบิด 2 ลูกและลูกกระสุนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความแตกตื่นและช่วยกันหาระเบิดในก้นแม่น้ำเพิ่มเติม ร้อนถึงตำรวจต้องออกมาห้ามปรามและเตือนว่าอันตราย

 

ขณะที่โปแลนด์ก็ร้อนผิดปกติโดยวัดอุณหภูมิได้สูงถึง 34 องศาเซลเซียสในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

คลื่นความร้อนยังทำให้วิกฤตไฟป่าลุกลามไปทั่วประเทศกรีซด้วย ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 90 ราย ขณะที่บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างถูกเผาทำลายเป็นจำนวนมาก

 

 

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลกเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้คลื่นความร้อนในยุโรปเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นสองเท่าจากที่ควรจะเป็น

 

ไม่ใช่แค่ยุโรปเท่านั้นที่เปรียบเหมือนอยู่ในเตาอบ แต่ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนจากภาวะ Climate Change นี้กำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลก แม้แต่ Death Valley หรือ ‘หุบเขามรณะ’ ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ ที่เคยวัดอุณหภูมิได้สูงสุดตลอดกาลที่ 56.7 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ปี 1913 ก็ยังมีโอกาสถูกลบสถิติในอนาคตอันใกล้ เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสถานที่แห่งนี้ยังคงสร้างสถิติร้อนขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว ไบรอัน เบรตชไนเดอร์ นักวิจัยด้านภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยอะแลสกาสามารถบันทึกอุณหภูมิเฉลี่ยต่อเดือนสูงที่สุดในโลกที่ระดับ 42.28 องศาเซลเซียส หรือ 108.1 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งถือเป็นสถิติเดือนที่ร้อนที่สุดในโลกเท่าที่เคยวัดมา

 

ขณะที่ญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนระลอกนี้แล้วไม่ต่ำกว่า 75 คน และมีผู้ป่วยโรคลมแดดหรือเพลียแดดที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมากกว่า 30,000 ราย โดยที่เมืองคุมากายะวัดอุณหภูมิได้สูงถึง 41.1 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดที่เคยวัดได้ในญี่ปุ่น ขณะที่กรุงโตเกียววัดได้ 40 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสถิติใหม่ของเมืองหลวงแดนปลาดิบเช่นกัน

 

ส่วนที่เกาหลีใต้ ฮีตเวฟทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 29 ราย ขณะที่กรุงโซลบันทึกอุณหภูมิได้สูงถึง 39.6 องศาเซลเซียสเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (1 ส.ค.) ซึ่งทุบสถิติวันที่ร้อนที่สุดในรอบ 111 ปีของเมืองหลวงแดนโสมขาวด้วย

 

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าโลกเราจะร้อนอีกแค่ไหน และเราจะมีมาตรการรับมือกับคลื่นความร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีได้อย่างไร

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X