หลายประเทศในยุโรป อย่าง สเปน เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ระงับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca ให้กับประชาชนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ก่อให้เกิดคำถามถึงความจำเป็นในการตัดสินใจดังกล่าว ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังรุนแรง
สาเหตุหลักของการตัดสินใจมาจากความกังวลหลังพบผู้รับวัคซีนบางรายในบางประเทศ เช่น เดนมาร์ก และนอร์เวย์ เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ในขณะที่องค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ยืนยันว่ายังไม่พบข้อมูลบ่งชี้ว่าวัคซีนของ AstraZeneca เป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
ท่าทีของชาติยุโรปเหล่านี้สร้างความประหลาดใจแก่ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งบางคนไม่เข้าใจเหตุผลในการตัดสินใจระงับการฉีดวัคซีน และมองว่าอาจเป็นความผิดพลาด
ไมเคิล เฮด นักวิจัยอาวุโสด้านสุขภาพโลกของมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน ในสหราชอาณาจักร เปิดเผยต่อสำนักข่าว CNN ว่า เขามองไม่เห็นเหตุผลในการตัดสินใจระงับการฉีดวัคซีน AstraZeneca เนื่องจากกรณีผู้ฉีดวัคซีนที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันนั้นมีเพียงไม่กี่ราย ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ขณะที่วัคซีนนั้นผ่านการพิสูจน์แล้วว่าช่วยลดกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ได้
“ในตอนนี้ผมยังไม่เห็นเหตุผลเลยว่าทำไมประเทศต่างๆ ถึงหยุดให้วัคซีน AstraZeneca ชั่วคราว มันไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไร วัคซีนเหล่านี้มีไว้เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 และมีความเร่งด่วนที่ต้องฉีดวัคซีน ดังนั้นการหยุดฉีดวัคซีนชั่วคราวโดยไม่มีเหตุผลที่ดีมากๆ ในตอนนี้ ดูเหมือนจะเป็นการตัดสินใจที่ไม่ดี” เขากล่าว
ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศ รวมถึงไทยและสหราชอาณาจักร ที่ยังคงสนับสนุนการฉีดวัคซีน AstraZeneca โดยสหราชอาณาจักรนั้น ดำเนินการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้วมากกว่า 11 ล้านโดส ซึ่งข้อมูลจริงที่ได้พบว่า วัคซีนช่วยลดการติดเชื้อและลดจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้จริง
-
จุดเริ่มต้นก่อนระงับฉีดวัคซีน
ท่าทีในทางลบของชาติยุโรปต่อวัคซีน AstraZeneca นั้นเกิดขึ้นนับตั้งแต่ที่สหภาพยุโรปอนุมัติการใช้งานวัคซีนในช่วงปลายเดือนมกราคม
ซึ่งในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น หลายชาติยุโรปออกมาแสดงความไม่พอใจ ที่บริษัท AstraZeneca ไม่สามารถส่งวัคซีนให้เต็มจำนวนตามที่ตกลงกันได้ ขณะเดียวกัน เกิดการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ และมีการห้ามขนส่งวัคซีนออกนอก EU ก่อนจะมาถึงข้อกังวลเรื่องภาวะอุดตันในลิ่มเลือดที่เริ่มพบในเดนมาร์ก และนำไปสู่การตัดสินใจระงับการฉีดวัคซีนดังกล่าว
“วัคซีนของ AstraZeneca ดูเหมือนจะเป็นเรื่องการเมืองเล็กน้อย” เฮดกล่าว พร้อมระบุว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจอธิบายได้จากมุมมองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งในแง่ของวิทยาศาสตร์นั้น วัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และเป็นวัคซีนที่ดีมาก
-
มีผู้รับวัคซีนเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันมากแค่ไหน และอาการร้ายแรงไหม
จากการวิเคราะห์ของ WHO และ EMA ยังไม่พบกรณีผู้ที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีน AstraZeneca โดย EMA เตรียมประกาศข้อแนะนำเพิ่มเติมหลังการสืบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้
ขณะที่จำนวนผู้ที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีน AstraZeneca มีจำนวนน้อยมาก โดยในเดนมาร์กพบเพียง 2 ราย หลังจากฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั้งหมด 1.7 ล้านคน ซึ่ง 1 รายมีอาการรุนแรง ส่วนนอร์เวย์พบ 3 ราย และ 1 รายเสียชีวิตเมื่อวันจันทร์ (15 มีนาคม) ที่ผ่านมา ขณะที่เยอรมนีพบ 7 ราย และบางรายเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำภายในสมอง ซึ่งเกิดขึ้นได้ยาก
แต่สำหรับผู้เชี่ยวชาญ มองว่ากรณีที่พบเหล่านี้ ยังไม่มากพอที่จะก่อให้เกิดความกังวลจนถึงขั้นต้องระงับการฉีดวัคซีน
ภาพ: Igor Petyx / KONTROLAB / LightRocket via Getty Images
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: