×

ยุโรปเจอฤดูร้อนที่ระอุสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 คร่าชีวิตผู้คนกว่า 61,000 ราย

11.07.2023
  • LOADING...

ผลการศึกษาล่าสุดเปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า เมื่อปี 2022 ยุโรปเผชิญกับฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ เป็นเหตุให้ประชาชนกว่า 61,000 คนเสียชีวิต โดยคณะนักวิจัยได้เรียกร้องให้มีการยกระดับมาตรการป้องกันเพื่อปกป้องผู้คนจากคลื่นความร้อนที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าเดิมในช่วงปีต่อๆ ไป

 

เมื่อปีที่ผ่านมาทวีปยุโรปเผชิญกับฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยประเทศต่างๆ ในภูมิภาคดังกล่าวได้รับผลกระทบจากความร้อนรุนแรง ขณะที่ภัยแล้งได้ทำให้พืชผลเสียหาย และเกิดไฟป่าในหลายพื้นที่ด้วยกัน

 

ทีมนักวิจัยจาก Eurostat ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสถิติของสหภาพยุโรป ศึกษาข้อมูลของอุณหภูมิและอัตราการเสียชีวิตตั้งแต่ปี 2015-2022 จาก 832 ภูมิภาคใน 35 ประเทศของยุโรป ครอบคลุมประชากรกว่า 543 ล้านคน ซึ่งผลออกมาระบุว่า ฤดูร้อนของปี 2022 มีค่าการตายส่วนเกิน (Excess Death) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

นอกจากนี้ นักวิจัยจากสถาบัน Barcelona Institute for Global Health หรือ ISGlobal ของสเปน และสถาบันด้านการวิจัยสุขภาพ Inserm ของฝรั่งเศส ได้สร้างแบบจำลองเพื่อประเมินอัตราการเสียชีวิตของประชากรยุโรปจากภัยความร้อนในแต่ละภูมิภาคในทุกๆ สัปดาห์ของฤดูร้อนปีที่แล้ว ซึ่งผลออกมาว่า มีผู้เสียชีวิตที่เชื่อมโยงกับคลื่นความร้อนจำนวน 61,672 คนระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 4 กันยายน 2022 และคลื่นความร้อนยังรุนแรงเป็นพิเศษในช่วงวันที่ 18-24 กรกฎาคม ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในช่วงสัปดาห์ดังกล่าวสูงถึง 11,600 คน

 

ฮิชาม อาเชบัค (Hicham Achebak) นักวิจัยจาก Inserm กล่าวกับสำนักข่าว AFP ว่า “นี่เป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจ…ถึงแม้เราจะทราบดีถึงผลกระทบของคลื่นความร้อนกับอัตราการเสียชีวิตตั้งแต่ปี 2003 แต่ตัวเลขนี้ก็ทำให้เราเห็นว่ามีสิ่งที่ต้องทำอีกมากมายเพื่อช่วยเหลือประชาชน” 

 

เมื่อปีที่ผ่านมาฝรั่งเศสเผชิญกับอุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยของฤดูร้อนในปีก่อนๆ โดยเพิ่มขึ้นถึง 2.43 องศาเซลเซียส ส่วนในสวิตเซอร์แลนด์ค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นตามมาติดๆ ที่ 2.3 องศาเซลเซียส ต่อด้วยอิตาลีที่เพิ่มขึ้น 2.28 องศาเซลเซียส และฮังการีเพิ่มขึ้น 2.13 องศาเซลเซียส ตามลำดับ

 

ในปีที่แล้วอิตาลีมียอดผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนสูงสุดที่ 18,010 คน ตามมาด้วยสเปนที่ 11,324 คน และเยอรมนีที่ 8,173 คน ซึ่งการศึกษาระบุว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี และประมาณ 63% ของผู้เสียชีวิตเนื่องจากคลื่นความร้อนเป็นผู้หญิง 

 

งานวิจัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าทวีปยุโรปร้อนขึ้นเป็น 2 เท่าจากค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยในขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกือบ 1.2 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม แต่เมื่อปีที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยของยุโรปสูงขึ้นราว 2.3 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 

 

งานวิจัยยังประเมินด้วยว่า ถ้าไม่มีการดำเนินการเพื่อปกป้องผู้คนจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นในแต่ละปี ภายในปี 2030 ประชากรยุโรปจะเผชิญกับการเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนสูงถึง 68,000 คนต่อปี ยิ่งไปกว่านั้นอาจสูงถึง 94,000 คนในปี 2040 และ 120,000 คนในปี 2050 ตามลำดับ

 

“การคาดการณ์นี้ เราประเมินจากความเปราะบางในปัจจุบันและความเป็นไปได้ในอนาคต” อาเชบัคให้สัมภาษณ์ “หากเราใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพมากพอ สิ่งที่คาดการณ์ไว้อาจจะลดระดับความรุนแรงลง” 

 

อานา ราเคล นูเนส (Ana Raquel Nunes) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยวอร์วิกของอังกฤษ กล่าวว่า “การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการเพื่อปกป้องประชาชนที่เปราะบางจากผลกระทบของคลื่นความร้อน”

 

โคลอี บริมิคอมบ์ (Chloe Brimicombe) นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยกราซ ออสเตรีย กล่าวเสริมว่า การศึกษานี้ “แสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์ของการป้องกันคลื่นความร้อนจำเป็นต้องได้รับการประเมินใหม่ โดยคำนึงถึงอายุและเพศเป็นสำคัญ”

 

แฟ้มภาพ: I Wei Huang via Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X